เอกชนไทยประเมิน 'ไบเดน' สร้างบรรยากาศการค้า-ฟื้นเศรษฐกิจโลก

เอกชนไทยประเมิน 'ไบเดน' สร้างบรรยากาศการค้า-ฟื้นเศรษฐกิจโลก

เอกชนไทยประเมิน “ไบเดน” ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ หนุนเศรษฐกิจภายใน แก้โควิดระบาด สร้างบรรยากาศการค้าโลก ช่วยฟื้นเศรษฐกิจโลก ส.อ.ท.หวังส่งออกไทยไปสหรัฐปีหน้าขยาย 12% ซัพพลายเชนจีนได้รับอานิสงค์

ผลการนับคะแนนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐสิ้นสุดลงเมื่อนายโจ ไบเดน จากพรรคเดโมแครต ได้คะแนนคณะผู้เลือกตั้งเกิน 270 เสียง ทำให้กลายเป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนที่ 46 ของสหรัฐ และจะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.2564 โดยที่ผ่านมาหลายฝ่ายจับตาดูทิศทางนโยบายต่างๆ เช่น เศรษฐกิจ การต่างประเทศ ที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจสหรัฐและเศรษฐกิจโลก

นายมนตรี มหาพฤกษ์พงศ์ เลขาธิการ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า การที่ไบเดนชนะการเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ จะมีหลายนโยบายที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะนโยบายการค้าและต่างประเทศที่จะส่งเสริมความร่วมมือด้านการค้ากับประเทศคู่ค้าและช่วยเหลือประเทศคู่ค้าขนาดเล็ก 

รวมถึงเน้นรวมกลุ่มกับพันธมิตรเพื่อคานอำนาจจีน แต่คาดว่าจะไม่แข็งกร้าวเท่ากับนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีที่กำลังจะครบวาระ โดยจะมีโอกาสผลักดันเจรจาการค้าระหว่างไทย-สหรัฐ มากขึ้นตลอดจนการดึงดูดการลงทุนมาไทยมากขึ้น

นอกจากนี้ หากสหรัฐผ่อนปรนนโยบายการค้าและลดกำแพงภาษีกับจีน จะส่งเสริมการส่งออกสินค้าไทยไปจีนทางอ้อม และสหรัฐอาจเข้าร่วมความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิกความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (ซีพีทีพีพี) อีก และให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบพหุภาคีมากขึ้น

ด้านนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและภาษี มีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำและสนับสนุนการเก็บภาษีตามระดับรายได้และเพิ่มภาษีนิติบุคคล ซึ่งส่งผลให้มีเงินทุนไหลออกไปตลาดเกิดใหม่รวมถึงไทย ซึ่งอาจทำให้เงินบาทแข็งค่ามากขึ้น แต่อาจทำให้บริษัทไทยในสหรัฐมีต้นทุนภาษีและค่าแรงสูงขึ้น

รวมทั้งการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจจะเป็นปัจจัยบวกต่อการค้าโลก รวมถึงการส่งออกไทย และจากการที่ไม่เห็นด้วยกับการกีดกันการค้าผ่านภาษีนำเข้า และความต้องการปรับปรุงความสัมพันธ์กับยุโรปจะลดความเสี่ยงสงครามการค้า

“หากนโยบายการใช้จ่ายภาครัฐกระตุ้นเศรษฐกิจสหรัฐให้ฟื้นตัวได้จะส่งผลดีต่อการค้าระหว่างประเทศ รวมถึงการส่งออกของไทย ซึ่งกลุ่มที่ได้ประโยชน์มากที่สุดจากนโยบายต่างประเทศที่เปลี่ยนไป คือ อุตสาหกรรมไทยที่มีห่วงโซ่อุปทานเชื่อมสินค้าจีนที่ส่งออกไปสหรัฐ ได้แก่ คอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา ไม้และผลิตภัณฑ์ไม้และเคมีภัณฑ์"นายมนตรี กล่าว

ห่วงส่งออกสินค้ายานยนต์

ส่วนนโยบายสิ่งแวดล้อมและพลังงานจะสนับสนุนการแก้ปัญหาโลกร้อน ตลอดจนการลงทุนในพลังงานสะอาดและเทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สหรัฐอาจเพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยต่อสิ่งแวดล้อมในสินค้ามากขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มอุตสาหกรรมที่ไทยส่งออกไปสหรัฐ โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มรถยนต์ไทยที่ยังเน้นการผลิตประเภทสันดาปภายใน และอาจผลักดันให้สหรัฐ พัฒนาความสามารถในการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าภายในประเทศมากขึ้น

ทั้งนี้ จากมาตรการดังกล่าว คาดว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะฟื้นตัวเร็วขึ้น ขณะที่สงครามการค้าคงจะสงบลงแต่ยังไม่จบ ซึ่งอาจทำให้ไทยได้อานิสงส์ทำให้ในปี 2564 ยอดการส่งออกไปยังสหรัฐ อาจจะขยายตัวได้ 12% แต่ทั้ง 2 พรรคมีท่าทีต่อประเด็นสิทธิมนุษยชน และการค้ามนุษย์ในระดับใกล้เคียงกัน และใช้เป็นเครื่องมือต่อรองทางการค้ากับไทย จึงเป็นไปได้ที่สหรัฐยังใช้ประเด็นนี้ต่อรองทางการค้ากับไทยในอนาคต

นายมนตรี กล่าวว่า ระยะหลังนโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐค่อนข้างแข็งกร้าว ผู้ประกอบการและนัก ลงทุนหลายรายมองว่าใครก็ตามที่ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ทั้งกรณีข้อพิพาทน่านน้ำในทะเลจีนใต้ และผลกระทบจากสงครามทางการค้าที่ยืดเยื้อจะยังคงยืดเยื้อต่อไป เนื่องจากการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ระหว่างสหรัฐและจีนไม่ได้เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับประธานาธิบดีทรัมป์เพียงผู้ดียว

แต่เป็นประเด็นโครงสร้างทางด้านนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐโดยรวม และนโยบายของประธานาธิบดีทรัมป์ ต่อประเทศจีนจะยังคงเดินหน้าต่อไป แม้ว่าประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐจะเป็น โจ ไบเดน ก็ตาม

สำหรับนโยบายด้านต่างประเทศที่มีต่อจีนบางประการยังเป็นไปในทิศทางเดียวกันกับทรัมป์ เช่น การควบคุมการส่งออก และการจำกัดการลงทุน โดยเฉพาะการโดดเดี่ยวจีน ดังนั้น ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างสหรัฐและจีนจะไม่กลับไปแน่นแฟ้นดังช่วงก่อนยุคสมัยของทรัมป์ 

ส่วนการลงทุนคาดว่าจะยังคงไหลออกจากจีนต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาพรวมการค้าของไทยกับจีน โดยเฉพาะในห่วงโซ่อุปทานที่เกี่ยวข้องกับสินค้าเทคโนโลยีที่ผลิตหรือประกอบในจีนจะลดบทบาทลง ยิ่งไปกว่านั้นอาจเกิดการเบี่ยงเบนการค้าไปยังประเทศอื่นแทน เช่น เวียดนาม ละตินอเมริกา อินเดีย

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่แตกต่างออกไป คือ กลยุทธ์ในการดำเนินการจะอาศัยความร่วมมือกับประเทศพันธมิตรเพื่อกดดัน และเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของจีนแทนการใช้ภาษีนำเข้า ซึ่ง นายไบเดน เห็นว่าเมื่อสหรัฐรวมกลุ่มกับประเทศพันธมิตรจะมีความแข็งแกร่งมากยิ่งขึ้น 

โดยจีนคงไม่สามารถที่จะเพิกเฉยกับกลุ่มที่มีขนาดเศรษฐกิจมากกว่าครึ่งหนึ่งของโลกได้ นี่คือสิ่งที่ไบเดนแตกต่างจากทรัมป์ และแม้ว่าไบเดนจะเคยมีความสัมพันธ์ที่ดีกับประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน แต่กลับมีความคิดเห็นบางอย่างที่เป็นไปในทิศทางเดียวกับทรัมป์ โดยไบเดนมองว่า จีนต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อการปฎิบัติด้านการค้าที่ไม่เป็นธรรม แต่เขาไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงการค้าเฟสแรกของทรัมป์

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล นายกสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า เมื่อไบเดนเป็นประธาธิบดีสหรัฐจะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจโลกมากขึ้นเพราะมีนโยบายสอดคล้องกับกฎเกณท์ทางการค้าระหว่างประเทศมากกว่าเมื่อเทียบกับทรัมป์ โดยเฉพาะการขับเคลื่อนข้อตกลงทางการค้าในองค์การการค้าโลก (ดับบลิวทีโอ) ที่ทรัมป์ไม่สนใจเลย

ทั้งนี้ ปัญหาระหว่างสหรัฐกับจีนจะผ่อนคลายลงจะเจรจาและความร่วมมือกันมากขึ้น ซึ่งจะดีกับไทยเนื่องจากมีสินค้าหลายรายการที่มีห่วงโซ่ที่เชื่อมโยงอยู่ ธุรกิจต่างๆจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้น แต่ทันทีทีไบเดนรับตำแหน่ง 100 วันแรก มั่นใจว่าจะแก้ไขโควิด 19 ซึ่งทรัมป์ไม่เคยดูแลและไม่คิดจะแก้ไข หากสหรัฐคุมการระบาดได้เศรษฐกิจจะฟื้นแน่นอน

เช่นเดียวกัน “ซีพีทีพีพี” จะผลักดันมากขึ้น ซึ่งเรื่องนี้แม้แต่ญี่ปุ่น ยังระบุว่าหากสหรัฐไม่ขับเคลื่อน ข้อตกลงนี้ก็ไม่มีทางรุ่ง แต่ไทยต้องมีความชัดเจนในข้อตกลงนี้ด้วยเช่นกัน

สำหรับการตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (จีเอสพี) แม้ภาพรวมกระทบไทยไม่มาก แต่สถานการณ์นี้ก็เป็นผลต่อภาพลักษณ์ไทย คาดว่าไบเดนจะหยิบขึ้นมาพิจารณา เพราะไทยไม่ยอมเปิดตลาดสุกรให้สหรัฐเนื่องจากกระทบอุตสาหกรรมไทย