อุ่นเครื่อง '11.11' อัพเดท 5 ทริค 'ขายของ' ให้ชาวทวิตภพ ควักเงินซื้อ

อุ่นเครื่อง '11.11' อัพเดท 5 ทริค 'ขายของ' ให้ชาวทวิตภพ ควักเงินซื้อ

รวบรวมทริค ดัน "แบรนด์" ในทวิตเตอร์ พร้อมกระตุ้น "ยอดขาย" ให้กลุ่มเป้าหมายยอมควักเงินซื้อช่วงจัดโปรโมชั่น โดยเฉพาะแคมเปญ "11.11" ที่กำลังจะมาถึง

"วันคนโสด" ใกล้มาถึงแล้ว และถือเป็นวันสำคัญของนักช้อป ไม่ว่าจะโสดหรือไม่โสดต่างก็โดนป้ายยากันได้ง่ายๆ ใน "วันแห่งการช้อปปิง" ที่หลายๆ เว็บอีคอมเมอร์ซ ต่างขนโปรโมชั่นมาเรียกลูกค้ากันอย่างคึกคัก จนกลายเป็นช่วงเวลานาทีทองของการสร้างมูลค่ามหาศาลสำหรับวงการค้าปลีกในประเทศไทย

โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์ที่ตอบโจทย์นักช้อปมากขึ้นเรื่อยๆ ที่เริ่มต้นจากการพัฒนาเทคโนโลยีในมิติต่างๆ รวมถึงพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไปสู่ช่องทางออนไลน์มากขึ้นหลัง "โควิด-19"

หนึ่งในแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ได้รับความนิยมในไทยอย่าง "ทวิตเตอร์" มีผู้ใช้งานมากกว่า 4 ใน 5 คน ที่มีการซื้อของออนไลน์ นั่นหมายความว่านี่คือตลาดใหญ่ ที่ "แบรนด์" ต่างๆ มีโอกาสปล่อยของ เจาะกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย และทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอดขายบนทวิตเตอร์ได้

"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พาไปดู ทริคกระตุ้นยอดขายทวิตเตอร์ช่วงโปรโมชั่นใหญ่ ที่ช่วยให้ผู้ค้าและแบรนด์ต่างๆ ไปถึงเป้าหมายได้ง่ายขึ้น โดย 2 สเต็ปหลักที่ต้องทำ คือ 1. ทำความรู้จักกลุ่มเป้าหมาย และ 2. สร้างกลยุทธ์ทางการตลาด

 1. รู้จักกลุ่มลูกค้า 

กลุ่มลูกค้าใน "ทวิตเตอร์" จะมีความชอบที่หลากหลาย โดยกลุ่มนักช้อปบนทวิตเตอร์ที่เป็นผู้หญิง จะมีความสนใจเรื่องเพลง อาหารและสุขภาพมากที่สุด ในขณะที่ผู้ชายสนใจเทคโนโลยี เพลง และกีฬาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการทำความเข้าใจพฤติกรรมและความชอบของลูกค้าเบื้องต้นจะทำให้สามารถนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ ได้ตรงกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

160459518215

160459804833

 2. สร้างกลยุทธ์ทางการตลาด 

ในช่วงที่จะรุกกลุ่มเป้าหมายในช่วงที่มีโปรโมชั่นใหญ่แบบนี้ แบรนด์จะต้องให้ความสำคัญกับการวางแผนการตลาดที่สื่อสารได้ดี และกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายได้ ด้วย โดย "ทวิตเตอร์" แนะทริคที่ช่วยดันแบรนด์หรือสินค้าและบริการต่างๆ ให้มียอดขายพุ่ง 5 ขั้นตอน ดังนี้

1. เริ่มทวีต

เริ่มทวีต ก่อนถึงวันจัดโปรโมชั่นประมาณหนึ่งสัปดาห์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยการปล่อยโค้ดพิเศษหรือบอกรายละเอียดเกี่ยวกับการจัดโปรโมชั่นของแบรนด์ สร้างเอ็นเกจกับอินฟลูเอ็นเซอร์บนทวิตเตอร์  เพื่อทวีตถึง “ของมันต้องมี” ซึ่งจะช่วยให้นักช้อปทั้งหลายเกิดความต้องการซื้อสินค้า 

2. อุ่นเครื่อง

เป็นช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานบนทวิตเตอร์เริ่มพูดคุยเกี่ยวกับการช้อปปิ้ง แบรนด์สามารถทำงานร่วมกับอินฟลูเอ็นเซอร์ทวิตเตอร์ เพื่อสร้างอิทธิพลต่อนักช้อปและยังเป็นการกระตุ้นก่อนถึงวันช้อปจริง

3. ดีเดย์ช้อปปิ้งออนไลน์

ช่วงเวลาที่ผู้ใช้งานทวิตเตอร์สามารถสร้างอิทธิพลได้ ด้วยการรีวิวผลิตภัณฑ์และแสดงความเห็น โดยอินฟลูเอ็นเซอร์บนทวิตเตอร์สามารถสร้างอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อของคนอื่นๆ ได้ 

4. รีวิวแกะกล่องผลิตภัณฑ์

นักช้อปบนทวิตเตอร์มักชอบแบ่งปันข้อมูล แชร์ภาพ ที่ได้ช้อปมาแล้ว หากแบรนด์ยังคงทำโปรโมชั่นอยู่อย่างต่อเนื่อง ช่วงเวลาที่นักช้อปคนอื่นๆ อาจจะมีการตัดสินใจซื้อเพิ่ม เนื่องจากเห็นทวีตข้อความจากทั้งแบรนด์เองและจากอินฟลูเอ็นเซอร์ โดยเฉพาะการทำ whitelist ที่เกี่ยวข้องกับการทวีตที่รีวิวการแกะกล่องผลิตภัณฑ์จะช่วยสร้างกระแสบทสนทนาและช่วยทำให้เกิดการตัดสินใจซื้อต่อไปได้อีก 

5. กระตุ้นหลังจัดโปรโมชั่น

หลังจากวันจัดโปรโมชั่น ยังคงสามารถสร้างเอ็นเกจได้ต่อเนื่องไปอีกประมาณ 3-4 วัน ด้วย การสื่อสารที่กระตุ้นการตัดสินใจซื้อครั้งสุดท้าย อาทิ “ลดกระหน่ำวันสุดท้าย” หรือ “โอกาสสุดท้าย” เนื่องจากบางคนรอดูผลตอบรับของผลิตภัณฑ์ก่อน หรือชอบให้มีการเตือนว่าโปรโมชั่นใกล้จะหมด หรือกลุ่มที่เป็นพันธุ์แท้ที่รอซื้อของในวันท้ายๆ ของโปรโมชั่น

ที่มา: ทวิตเตอร์

กรุงเทพธุรกิจแจกโค้ดส่วนลด 11.11 คลิกที่นี่

160464809519