‘เอสเอสเอฟ’ยอดต่ำเป้า ‘เฟทโก้’ชงคลังปรับเกณฑ์

‘เอสเอสเอฟ’ยอดต่ำเป้า ‘เฟทโก้’ชงคลังปรับเกณฑ์

เฟทโก้ เตรียมเสนอชงรมว. คลังคนใหม่ ขอปรับเกณฑ์กองทุน SSF ดึงดูดใจนักลงทุนหนุนตลาดทุนไทย พร้อมรับฟังข้อเสนอช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ส่วนผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ 61.27 ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน-อยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” 3 เดือนติด หลัง นักลงทุนยังกังวลปัญหาการเมืองและเศรษฐกิจไทยถดถอย

นายไพบูลย์ นลินทรางกูร ประธานสภาธุรกิจตลาดทุนไทย หรือ เฟทโก้ เปิดเผยว่า เฟทโก้เตรียมหารือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ ภายในเดือนพ.ย.นี้ เพื่อหารือแนวทางปรับปรุงเกณฑ์กองทุนรวมเพื่อการออม หรือ SSF เพื่อให้สามารถดึงดูดนักลงทุนเข้ามาในตลาดทุนมากขึ้น จากช่วงที่ผ่านมา มีเม็ดเงินในส่วนนี้เข้ามาลงทุนในตลาดทุนไทยน้อยกว่าที่คาด

รวมถึงรับฟังข้อเสนอต่างๆ หากภาครัฐต้องการใช้ตลาดทุนเป็นหนึ่งในเครื่องมือช่วยฟื้นเศรษฐกิจในระยะถัดไป หลังจากที่ผ่านมาได้มีการนำเสนอแผนงานต่างๆ ไปแล้ว อาทิ การศึกษาแนวทางการตั้งกองทุนซื้อหุ้นกู้สำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี เพื่อเพิ่มช่องทางถึงแหล่งระดมทุน เป็นต้น

สำหรับผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุน (FETCO Investor Confidence Index) ประจำเดือน ต.ค.2563 พบว่า ความเชื่อมั่นนักลงทุนในอีก 3 เดือนข้างหน้า (ม.ค.2564) อยู่ที่ระดับ 61.27 ปรับตัวลดลง 9% จากเดือนก่อนหน้า หรือ ต่ำสุดในรอบ 8 เดือน และยังคงอยู่ในเกณฑ์ “ซบเซา” ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 3 นักลงทุนคาดหวังการเติบโตของเศรษฐกิจในประเทศเป็นปัจจัยหนุนมากที่สุด รองลงมาคือนโยบายภาครัฐและการไหลเข้าออกของเงินทุน

ทั้งนี้ปัจจัยที่ฉุดความเชื่อมั่นนักลงทุนมากที่สุดได้แก่สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศรองลงมาคือการถดถอยของเศรษฐกิจในประเทศและท่องเที่ยวในประเทศรวมถึงภาวะความกังวลการระบาดระลอกสองของโควิด-19 ในหลายประเทศ ส่วนหมวดธุรกิจที่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดอาหารและเครื่องดื่มและหมวดธุรกิจที่ไม่น่าสนใจมากที่สุด คือ หมวดธนาคาร

นางสาวอริยา ติรณะประกิจ รองกรรมการผู้จัดการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย เปิดเผยดัชนีคาดการณ์อัตราดอกเบี้ย (Interest Rate Expectation Index) เดือนพ.ย.2563 ว่า ผลจากดัชนีสะท้อนการคาดการณ์ของตลาดที่คงมุมมองเช่นเดียวกับครั้งที่แล้ว ว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.5% ในการประชุมเดือนพ.ย.นี้ เนื่องจาก อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำแล้ว การลดดอกเบี้ยเพิ่มเติมอาจมีผลต่อเศรษฐกิจน้อยลง โดยยังมีมาตรการด้านการเงินอื่นๆเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวเศรษฐกิจ เช่นมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี และ มาตรการ soft loan

นอกจากนี้ ปัจจุบันปริมาณการออกพันธบัตรอยู่ที่ 630,000 ล้านบาท คาดว่าถึงสิ้นปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 700,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่คาดไว้ที่ 800,000 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่ปรับแผนการออกหุ้นกู้ในปีนี้เปลี่ยนมาขอสินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์ที่แข่งขันกันให้ดอกเบี้ยจูงใจ ซึ่งเป็นอีกทางเลือกในการระดมทุนที่ดีเช่นกัน