"ไทยภักดี"​รวมตัวสวนลุม "วรงค์" ชี้ม็อบเยาวชนมี 3กลุ่มชักใย-ลั่น14เหตุผลค้านแก้รัฐธรรมนูญ

"ไทยภักดี"​รวมตัวสวนลุม "วรงค์" ชี้ม็อบเยาวชนมี 3กลุ่มชักใย-ลั่น14เหตุผลค้านแก้รัฐธรรมนูญ

กลุ่มไทยภักดี จัดกิจกรรมเคารพธงชาติที่สวนลุม วรงค์ ปราศรัย ชี้มี3กลุ่มอยู่เบื้องหลังม็อบเยาวชน พร้อมประกาศเหตุผล 14 ข้อค้านแก้รัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์นักการเมือง นัดรวมตัวคัดค้าน

     เมื่อเวลา 17.45 น.​ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แกนนำกลุ่มไทยภักดี ปราศรัยระหว่างการจัดกิจกรรมกลุ่มไทยภักดี รวมตัวร้องเพลงชาติ ที่สวมลุมพินี ว่า ตนไม่มีส่วนได้เสียกับพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรมว. กลาโหม แต่ควรให้ความเป็นธรรมกับรัฐบาล อย่างไรก็ตามตนฐานะที่เป็นคนขับไล่รัฐบาล ของน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ​ต้องพิจารณาการไล่นายกฯ ต้องมีเหตุผล เช่น การทุจริต  ทั้งนี้สิ่งที่เยาวชนกล่าวหารัฐบาลปัจจุบัน ว่า ความเป็นเผด็จการ ทั้งที่รัฐบาลของพล.อ.ประยุทธ์ มาจากการเลือกตั้ง เหมือนกับน.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ระบุว่ามาจากการเลือกตั้ง  อย่างไรก็ดีตนเข้าใจว่ามีการจัดตั้งให้สื่อสารว่า รัฐบาลปัจจุบันมาจากการเผด็จการ 

     “3ข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชน ทั้งให้นายกฯ​ลาออก, แก้รัฐธรรมนูญ และล้มล้างสถาบันเบื้องสูงโดยอ้างว่าเป็นการปฏิรูป ทั้งนี้สิ่งที่เกิดขึ้นผมไม่เชื่อว่าน้องนักศึกษาจะทำได้ด้วยตนเอง แต่มีคน 3 กลุ่มอยู่เบื้องหลัง คือ กลุ่มไทยซัมมิท, กลุ่มดูไบ และกลุ่มมหาอำนาจตะวันตก” นพ.วรงค์ กล่าว
     นพ.วรงค์ ปราศรัยเรียกร้องให้ประชาชนคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยมีเหตุผล 14 ประเด็น ได้แก่  1. รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ผ่านการทำประชามติ ดังนั้นหากรัฐสภา จะแก้ไขต้องทำประชามติก่อน, 2. หากแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ต้องทำพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนู​ญ จำนวน   11 ฉบับ ที่เป็นกติกาที่นักการเมืองไม่ต้องการ, 3. นักการเมืองต้องการแก้ไขพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญที่กำหนดไว้ในมาตราอื่นๆ นอกจากหมวดสถาบันพระมหากษัตริย์, 4.นักการเมืองต้องการแก้ไขเรื่องสำคัญ​คือ ตัดบทบัญญัติที่กำหนดให้คดีของนักการเมืองไม่มีวันหมดอายุความ และแก้ไขอำนาจศาลที่พิจารณาคดีลับหลังจำเลยได้ 
       นพ.วรงค์กล่าวด้วยว่า  5. ส.ส.ต้องการงบประมาณแผ่นดิน แต่รัฐธรรมนูญปัจจุบันกำหนดห้ามแปรงบประมาณแผ่นดินให้ส.ส. ปีละกว่าา 3หมื่นล้านบาทให้ส.ส.นำไปปู้ยี้ปู้ยำ, 6.ต้องการแก้ไขเรื่องบัตรเลือกตั้งใบเดียวเพื่อให้เกิดการโกงเลือกตั้ง,  7.ต้องการสร้างการต่อรองในตำแหน่ง ผ่านการตั้งมุ้งของนักการเมือง เช่นกรณีของ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสากรรม ที่พยายามตั้งมุ้งการเมืองเพื่อต่อรองตำแหน่ง แต่นายกฯ ไม่ฟัง จึงไม่ได้ตำแหน่ง ทั้งนี้รัฐธรรมนูญเปิดโอกาสให้นายกฯ ได้คัดสรรคนเก่งเข้ามาทำงาน, 8. กำหนดข้อห้ามให้ ส.ส.ขายตัว,  9.ทำลายหรือ ลดระบบนายทุนครอบงำพรรคการเมือง และ ส.ส. ผ่านระบบไพรมารี่โหวต, 10.เพิ่มอำนาจให้ประชาชนได้รับการดูแลอย่างทั่วถึง
        แกนนำกลุ่มไทยภักดี กล่าวด้วยว่า  11. ส.ว.มาจากการเลือกของประชาชนตามกลุ่มอาชีพต่างๆ พรรคการเมืองแทรกแซงไม่ได้ เชื่อว่าส.ว. จะเป็นชุดที่ดีที่สุด 12. การยกร่างใหม่ทั้งฉบับผ่าน ส.ส.ร.ที่มาจากการเลือกตั้ง ตามฐานของนักการเมือง เชื่อว่าจะสอดไส้การนิรโทษกรรมให้นักการเมืองที่ต้องคดี ให้สามารถลงเลือกตั้งได้,  13. รัฐธรรมนูญไม่เป็นปัญหาของประชาชนแต่เป็นปัญหาของนักการเมือง และ 4. การแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ต้องใช้เงินมากถึง   1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งสถานการณ์ปัจจุบันควรใช้งบดังกล่าวช่วยประชาชนดีกว่า 
      “หากสภาฯ ดื้อไม่ฟังเสียงประชาชน แก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อนักการเมือง ประชาาชนจะออกมา ทั้งนี้ข้อเรียกร้องของม็อบเยาวชน ที่ให้นายกฯ​ลาออก ประชาชนไม่อนุญาตให้ลาออก ทั้งนี้มีผู้ปกครองหลายคนโทรศัพท์ถึงผมว่า เยาวชนเริ่มกลับตัวแล้ว ซึ่งข้อเรียกร้องที่ผ่านมา เขาเริ่มถอนตัวออกมาจากการชุมนุมแล่้ว” นพ.วรงค์ กล่าว 
     ผู้สื่อข่าวรายงานว่า มวลชนกลุ่มไทยภักดีที่เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งสวมเสื้อเหลือง มีอย่างบางตา เนื่องจากก่อนหน้าการจัดกิจกรรมมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ซึ่งนพ.วรงค์ กล่าวยอมรับตอนหนึ่งว่ากิจกรรมที่เตรียมไว้คลาดเคลื่อนไปมาก เพราะฝนตกอย่างหนัก ทั้งนี้ได้เชิญชวนมวลชน รวมตัวที่ศาลอาญา วันที่ 6 พฤศจิกายน เพื่อให้กำลัง นายบุญเกื้อ ปุสสเทโว โฆษกกลุ่มไทยภักดี ที่ถูก น.ส.พรรณิการ์ วานิช โฆษกคณะก้าวหน้า ฟ้องคดีเมย์เดย์
       ทั้งนี้กลุ่มไทยภักดีได้ใช้เวลาชุมนุม จนถึงเวลา 18.45 น. ก่อนยุติการชุมนุม และได้นัดรวมตัวอักครั้ง ในวันที่ 1 พฤศจิกายน ที่หน้าวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หรือ วัดพระแก้ว.