เสียงสะท้อนคนไร้ที่พึ่ง "พึ่งตนเอง มีที่พึ่ง เป็นที่พึ่ง"

เสียงสะท้อนคนไร้ที่พึ่ง "พึ่งตนเอง มีที่พึ่ง เป็นที่พึ่ง"

พม.รับฟังข้อเสนอปิดผนึกเสียงสะท้อนของคนไร้ที่พึ่ง ในวันคนไร้ที่พึ่ง 2563 (Homeless Day 2020) “พึ่งตนเอง มีที่พึ่ง เป็นที่พึ่ง #เธอกับฉันเราเป็นเพื่อนกัน”

บ้านปันสุข (บ้านมิตรไมตรีธนบุรี) นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ เป็นผู้แทนกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมรับฟังและรับข้อเสนอจดหมายปิดผนึกจากเสียงสะท้อนของคนไร้ที่พึ่ง ในงานวันคนไร้ที่พึ่ง 2563 หรือ Homeless Day 2020 “พึ่งตนเอง มีที่พึ่ง เป็นที่พึ่ง #เธอกับฉันเราเป็นเพื่อนกัน

การจัดงานในวันนี้ เป็นความร่วมมือระหว่างมูลนิธิอิสรชน กับกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และภาคีเครือข่าย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสานพลังเครือข่ายในการทำงานภาคสังคม ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจและภาคเอกชน มีบทบาทในการทำงานภาคสังคมมิติใหม่ สร้างจิตสำนึกให้สังคมแห่งสวัสดิการ มีจิตอาสาและการแบ่งปัน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาพื้นฟู ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ให้สังคมรับรู้ ตลอดจนเกิดพลังการร่วมมือกันภายใต้จิตสำนึกความเป็นมนุษย์ที่เท่ากัน

160239080470

สืบเนื่องจาก องค์การสหประชาชาติ ได้กำหนดให้ วันจันทร์แรกของเดือนตุลาคมของทุกปี เป็น วันที่อยู่อาศัยโลก(World Habitat Day) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศต่าง ในโลก ได้ให้ความสนใจกับสถานการณ์การอยู่อาศัยและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ ตลอดจนสิทธิพื้นฐานของการมีที่อยู่อาศัยที่เหมาะสม และเพื่อสร้างความตระหนักในความรับผิดชอบร่วมกันในการจัดการให้มนุษย์ทุกคนมีที่อยู่อาศัยในอนาคต

ประเทศไทยได้มีการจัดงานเพื่อคนไร้บ้านอย่างเป็นทางการครั้งแรก เมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2556 โดยมีการบูรณาการระหว่างภาครัฐและภาคประชาสังคมในการจัดงาน และใช้ชื่องานว่าวันผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ

นายโชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กล่าวว่า กิจกรรมการรับฟังและรับข้อเสนอจดหมายปิดผนึกจากเสียงสะท้อนของคนไร้ที่พึ่ง ซึ่งมูลนิธิอิสรชน เป็นผู้รวบรวมความคิดเห็นจากกลุ่มคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตสาธารณะ 3 กลุ่มหลัก ได้แก่ 1. กลุ่มคนเร่ร่อนถาวร 2. กลุ่มคนเร่ร่อนหน้าใหม่ โดยเน้นกลุ่มคนตกงานในช่วงสถานการณ์โควิด-19 และ 3. กลุ่มที่มีความเสี่ยงในการต้องมาเร่ร่อน ผ่านกระบวนการ Focus Group ใน 5 จังหวัด ในพื้นที่ จังหวัดนครราชสีมา จังหวัดเชียงใหม่ จังหวัดชลบุรี จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพมหานคร

160239082574

พบว่า ผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะยังขาดโอกาสในการเข้าถึงบริการพื้นฐานของรัฐ และกลุ่มนี้ยังมีจำนวนมากที่ถูกผลักให้ต้องออกมาเป็นคนเร่ร่อน ใช้ชีวิตในพื้นที่สาธารณะจากโครงสร้างสังคมที่ไม่เท่าเทียม ดังนั้นการจัดเวทีในครั้งนี้ จะเป็นจุดเชื่อมต่อระหว่างคนเร่ร่อน ผู้ใช้ชีวิตสาธารณะกับหน่วยงานราชการ มาร่วมกันผลักดัน ระบบสวัสดิการที่เหมาะสม ให้ประชาชนมีหลักประกัน มีความมั่นคงในชีวิต กระบวนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมอย่างเท่าเทียมในฐานะมนุษย์ที่มีศักดิ์ศรีอย่างแท้จริง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การดูแลผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะให้ เข้าถึงสิทธิ์ เข้าถึงที่อยู่อาศัย เข้าถึงสถานะ และการรักษาพยาบาล โดยต้องการให้จัดบริการที่เหมาะสมกับกลุ่มคนดังกล่าว