ราคาพลังงานหดตัว กดเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ติดลบ 0.7%

ราคาพลังงานหดตัว กดเงินเฟ้อเดือน ก.ย.ติดลบ 0.7%

เงินเฟ้อเดือนก.ย.63 ดิ่งต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ติดลบ 0.70%  จากราคาพลังงานที่ลดลง  แม้ราคาอาหารเพิ่ม แต่ไม่มีผลฉุดขึ้น คาดไตรมาส 4 ลบต่อเนื่อง 0.34% แต่ลบน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 คงทั้งปีเงินเฟ้อที่ลบ 1.5% ถึงลบ 0.7% ค่ากลางลบ 1.1%  

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า  (สนค.)กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรือเงินเฟ้อเดือนก.ย. ติดลบ 0.70 % ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 7 ของปีนี้ นับตั้งแต่เดือนมี.ค.63 เป็นต้นมา โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากสินค้ากลุ่มพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่ปรับลดลงตามราคาในตลาดโลก และการปรับลดค่ากระแสไฟฟ้า (Ft) ในรอบเดือนก.ย.-ธ..ค.2563 ขณะที่ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดยังคงปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเนื้อสัตว์ และผักสดปรับสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เมื่อหักอาหารสดและพลังงงานออกแล้ว เงินเฟ้อพื้นฐาน สูงขึ้น 0.25 % ส่วนภาพรวมเงินเฟ้อเฉลี่ย 9 เดือน คือตั้งเดือนม.ค.-ก.ย. ปี 63 ลดลง 0.99% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62  

“เฟ้อลดลง 0.70มาจากราคาสินค้าในกลุ่มพลังงานที่ลดลงมาก โดยเฉพาะราคาขายปลีกน้ำมันเชื้อเพลิงในประเทศ แม้ราคาสินค้าในกลุ่มอาหารสดจะปรับขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถดึงให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นได้ โดยเฉพาะราคาเนื้อสัตว์ อย่าง เนื้อหมู และผักสดสูงขึ้นตามความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ

  160189276084               

สำหรับรายละเอียดที่ทำให้เงินเฟ้อทั่วไปลดลง 0.70% มาจากสินค้าหมวดอื่นๆ ที่ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม ลดลง 1.94% จาการลดลงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ที่ 15.77%  หมวดเคหสถาน 0.19% หมวดบันเทิง การอ่าน การศึกษา 0.21% หมวดยาสูบและเครื่องดื่มมีแอลกอฮอล์ลดลง 0.02%  ขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ เพิ่มขึ้น 1.42% จากการเพิ่มขึ้นของเนื้อสัตว์ เป็ดไก่ และสัตว์น้ำ 3.38% ผักสด 11.21% เช่นผักชี มะเขือเทศ กะหล่ำปลี  เครื่องประกอบอาหาร 2.25% เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.71% อาหารบริโภคในบ้าน 0.51% อาหารบริโภคนอกบ้าน 0.67%  ส่วนข้าว แป้งและผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 094%  ไข่และผลิตภัณฑ์นม ลดลง 0.28 % ผลไม้ลดลง 1.80 %

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า  เงินเฟ้อที่ปรับตัวลดลงแต่ก็ยังถือว่ามีเสถียรภาพ สะท้อนให้เห็นว่า สถานการณ์เศรษฐกิจยังอยู่ในภาวะทรงตัวและสอดคล้องกับเครื่องชี้วัดด้านอุปสงค์ อุปทาน ซึ่งมีทิศทางดีขึ้น ทั้งดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม และการใช้กำลังการผลิตที่ดีขึ้น รวมถึงรายได้เกษตรกรที่เร่งขึ้น ตามราคาสินค้าเกษตรที่สูงขึ้น ทั้งปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลังและยางพารา  จัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นตามการใช้จ่ายในประเทศ นอกจากนี้ปริมาณการจำหน่ายรถยนต์ รถยนต์เชิงพาณิชย์ ปริมาณการจำหน่ายปูนซีเมนต์ ก็ปรับตัวดีขึ้น  ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสินค้าที่คำนวณเงินเฟ้อ 422 รายการ พบว่า เดือนก.ย.63 ราคาสินค้าที่สูงขึ้นมี 128 รายการ ลดลง130 รายการ ไม่เปลี่ยนแปลง 68 รายการ

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อไตรมาส 4 ปี้ว่า คาดว่าจะยังคงติดลบต่อเนื่อง โดยติดลบที่ 0.34% เพราะราคาพลังงานยังลดลง จากความต้องการใช้ทั่วโลกลดลง เพราะหลายประเทศกลับมาล็อกดาวน์อีกครั้ง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 รอบ 2 แต่คาดว่า อัตราติดลบจะน้อยกว่าไตรมาส 2 และ 3 เพราะคาดว่า ความต้องการอุปโภคบริโภคในประเทศที่แนวโน้มสูงขึ้น จากมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยว มาตรการจ้างงาน มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลในรูปแบบต่างๆ ที่จะช่วยกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยและเพิ่มกำลังซื้อให้ประชาชน รวมถึงราคาอาหารสดบางชนิด เช่น เนื้อสัตว์ และผักสดยังมีแนวโน้มสูงขึ้น ตามปริมาณผลผลิต และความต้องการของตลาด

โดยสนค.ยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อปี 63 ไว้ที่ติดลบ 1.5% ถึงติดลบ 0.7% ค่ากลางอยู่ที่ติดลบ 1.1% ภายใต้สมมติฐานที่จีดีติดลบ 8.6%ถึงติดลบ 7.6 %ราคาน้ำมันเฉลี่ยอยู่ที่ 35-45  ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 30.50-32.50 บาทต่อดอลลาร์

                

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีและประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  เงินเฟ้อที่ติดลบ ในช่วงไตรมาส3  สะท้อนให้เห็นถึงภาพเศรษฐกิจที่ยังมีแนวโน้มชะลอตัวลงต่อเนื่อง  และกำลังซื้อที่น้อย และมาตรการการกระตุ้น เศรษฐกิจยังไม่ค่อย มีผล  ธุรกิจยังต้องแข่งขายลดราคาสินค้า และ พยายามนำสินค้าออกสู่ตลาดมากขึ้น ทั้งตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นน้อยมาก แสดงถึง เศรษฐกิจที่ฟื้นตัวช้า  ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องมีมาตรการกระตุ้นในไตรมา4  และขณะนี้ยังไม่มีแรงกดดันที่จะต้องปรับดอกเบี้ยขึ้น  เพราะ รัฐบาล สามารถใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ผ่านนโยบายการคลังเพราะยังมีเงิน ที่ใช้กระตุ้นได้ อีกประมาณ 400,000 ล้านบาท และ หากสถานการณ์เศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น จนถึงปลายปีนี้  อาจจะต้องมาคิดถึงการกระตุ้นผ่านนโยบายการเงิน โดยการลดดอกเบี้ย