'พลังงาน' เร่งเจรจาเชฟรอนฯ ยุติขัดแย้งแหล่งเอราวัณ

'พลังงาน' เร่งเจรจาเชฟรอนฯ ยุติขัดแย้งแหล่งเอราวัณ

“พลังงาน” เร่งเจรจา เชฟรอนฯ หลังยื่นอนุญาโตตุลาการอีกรอบ ขอความชัดเจนวางเงินค้ำประกันรื้อถอนแท่นผลิตแหล่งเอราวัณ มั่นใจ ผลิตก๊าซปี65 ไม่สะดุด ลั่นมีคลัง พร้อมนำเข้าแอลเอ็นจี

นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงกรณี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ได้ตัดสินใจเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการอีกครั้ง เพื่อให้ได้รับความชัดเจนเกี่ยวกับหน้าที่ความรับผิดชอบในการรื้อถอนสิ่งติดตั้งที่จะส่งมอบให้กับรัฐบาลไทยภายหลังสัญญาสัมปทานแหล่งเอราวัณสิ้นสุดลงในเดือน เม.ย.65 ว่า ขณะนี้ ขั้นตอนเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมาย ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ยังไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้

อย่างไรก็ตาม ขอย้ำว่า ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดๆ ขึ้น ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ ขณะเดียวกัน ไทยได้มีการเตรียมพร้อมลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ของกลุ่ม ปตท.โดยมีคลังรับ-จ่าย (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 1 มาบตาพุด ขนาด 11.5 ล้านตันต่อปี พร้อมใช้งานแล้ว และคลังรับ-จ่าย (LNG Receiving Terminal) แห่งที่ 2 บ้านหนองแฟบ จ.ระยอง ขนาด 7.5 ล้านตันต่อปี จะก่อสร้างเสร็จในปี 2565 ซึ่งจะรองรับนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ได้ถึง 19 ล้านตันต่อปี หรือ 2,600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ภายในปี 2565 ซึ่งเป็นห่วงรอยต่อเปลี่ยนการบริหารจัดการแหล่งเอราวัณที่จะหมดอายุลง

160186985662

นายอรรถพล ฤกษ์พิบูลย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) หรือ PTT กล่าวว่า ปตท.ในฐานะหน่วยงานรัฐวิสาหกิจที่ดูแลความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ พร้อมที่จะบริหารจัดการด้านเชื้อเพลิงไม่ให้เกิดการขาดแคลน และขณะนี้ ถือว่ายังไม่เกิดผลกระทบใดๆ เชื่อว่า ทั้ง 3 ฝ่าย คือ ภาครัฐ เชฟรอนฯ และปตท.สผ.กำลังเจรจาร่วมกันเพื่อทางออกที่ดีที่สุด

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด(มหาชน) หรือ PTTEP กล่าวว่า การยื่นเรื่องเข้าสู่กระบวนการอนุญาโตตุลาการ ถือเป็นการดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมายของเชฟรอนฯ ซึ่งขณะนี้ทุกฝ่ายกำลังเจรจาเพื่อหาทางออกร่วมกัน

ส่วนการเข้าพื้นที่เตรียมการติดตั้งแท่นผลิตแหล่งเอราวัณ หลังจากที่ ปตท.สผ. เป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งเอราวัณ ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) นั้น คาดว่า จะสามารถบรรลุข้อตกลงเข้าพื้นที่ (Site Access Agreement) ระยะที่ 2 ได้ในเร็วๆนี้ ขณะเดียว ปตท.สผ. เตรียมเข้าพื้นที่แหล่งเอราวัณ เพื่อเข้าไปรายงานวิเคราะห์ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม(EIA) เพื่อเตรียมเข้าไปติดตั้งแท่นผลิต เฟสแรก จำนวน 8 แท่น มูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ ในช่วงกลางปี 64 เพื่อให้สามารถรักษาอัตราการผลิตก๊าซขั้นต่ำ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามสัญญาPSC จากปัจจุบัน แหล่งเอราวัณ มีอัตราการผลิตอยูที่ประมาณ 1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน