'Medical Textile' ธุรกิจที่น่าจับตามอง

'Medical Textile' ธุรกิจที่น่าจับตามอง

"Medical Textile" หรือสิ่งทอทางการแพทย์ หนึ่งในธุรกิจที่น่าจับตามอง แม้อุตสาหกรรมอื่นจะได้รับผลกระทบจากวิกฤติ แต่ธุรกิจกลับพบว่าในตลาดโลกขยายตัวเฉลี่ย 5% ช่วงปี 2020-2025 ประกอบกับการแข่งขันที่ยังไม่รุนแรง ซึ่งไทยผลักดันให้เกิดการลงทุนใน EEC เช่นกัน

Medical Textile หรือสิ่งทอทางการแพทย์ ในตลาดโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวเฉลี่ย 5% ต่อปี ในช่วงปี 2020-2025 และสำหรับประเทศไทยธุรกิจนี้จัดเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) ที่อยู่ในกลุ่มผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ ที่ภาครัฐพยายามผลักดันให้เกิดการลงทุน โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งจะได้รับสิทธิประโยชน์เพิ่มเติมทั้งทางภาษีและมิใช่ภาษีจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ

ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 มีโครงการทางการแพทย์ที่ขอรับส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอจำนวน 52 โครงการ คิดเป็นมูลค่า 13,070 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 123% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2019

ทั้งนี้ภาครัฐหันมาส่งเสริมผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ เนื่องมาจากต้องการผลักดันให้ไทยเป็น Medical Hub และเล็งเห็นโอกาสการเติบโตของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยทางบีโอไอ พบว่าจำนวนชาวต่างชาติที่เข้ามารับการรักษาในประเทศไทยในช่วงปี 2010-2018 ขยายตัวเฉลี่ยที่ 8.5%ต่อปี ทำให้สิ่งทอทางการแพทย์พลอยได้รับอานิสงส์ไปด้วย

นอกจากนี้ การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลายเป็นตัวแปรล่าสุดที่เปรียบเป็นพายุลูกใหญ่ที่เหนี่ยวนำให้คนทั่วโลก รวมถึงคนไทย หันมาใส่ใจสุขภาพอย่างจริงจังเพิ่มเติมจากปัจจัยการเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือ Aging Society และปัญหามลพิษฝุ่น pm2.5

ปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้ โดยเฉพาะการแพร่ระบาดของโควิด-19 หนุนให้เกิดความต้องการสิ่งทอทางการแพทย์มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น หน้ากากผ้า หน้ากากอนามัย หรือ ชุด PPE (Personal Protective Equipment) จนทำให้ไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์สิ่งทอทางการแพทย์โดยรวมขยายตัวที่ 8.8% YoY และเฉพาะชุดเสื้อกาวน์และชุด PPE เติบโตถึง 92.8% YoY ในช่วงครึ่งแรกของปี 2020 และคาดว่าจะเติบโตต่อในระยะข้างหน้า

สิ่งทอทางการแพทย์มีโอกาสเติบโตโดดเด่นกว่าสิ่งทอทั่วไป เนื่องจากภาวะการแข่งขันยังไม่รุนแรง และเป็นสินค้าที่มีมูลค่าสูง ซึ่งทำให้รายได้ของธุรกิจนี้เติบโตได้ดีกว่ากลุ่มสิ่งทอทั่วไป เห็นได้จากอัตราการเติบโตของรายได้ของกลุ่มสิ่งทอทางการแพทย์โดยรวมที่ 4%ต่อปี และเฉพาะกลุ่ม PPE ที่ 6% ต่อปี ขณะที่รายได้ของกลุ่มสิ่งทอทั่วไป ขยายตัวเฉลี่ยที่ 1%ต่อปี (จากข้อมูลระดับบริษัทในฐานข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า) 

อีกทั้งส่วนแบ่งตลาดของธุรกิจนี้ในปัจจุบันยังค่อนข้างน้อยอยู่ที่ 19% ของมูลค่าธุรกิจสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่ม และมีผู้ประกอบการเพียง 2 กลุ่มหลัก คือ กลุ่มผู้ผลิตหน้ากากผ้า/อนามัย และกลุ่มผู้ผลิตชุด PPE เพราะก่อนหน้านี้ ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศมากกว่าผลิตใช้เอง

อย่างไรก็ดี สิ่งทอทางการแพทย์มักมีค่าใช้จ่ายในการผลิตที่สูงกว่ากลุ่มสิ่งทอทั่วไป เนื่องจากจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ และใช้เทคโนโลยีขั้นสูง รวมถึงต้องผ่านการตรวจสอบมาตรฐานตามหลักสากลในต่างประเทศ อาทิ ญี่ปุ่น ซึ่งมีค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ตั้งแต่ 10,000-200,000 บาทต่อครั้ง (ข้อมูลจากงานสัมมนาอุตสาหกรรมสิ่งทอทางการแพทย์ ณ 17 ก.ค. 2563) 

แต่ในประเด็นนี้ ภาครัฐมีแนวทางจะให้ความช่วยเหลือ ผ่านการสนับสนุนเงินลงทุนในการซื้อเครื่องทดสอบคุณภาพมาตรฐานสิ่งทอการแพทย์ ภายใต้ พ.ร.ก.กู้เงิน 1 ล้านล้านบาท โดยโครงการนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาอนุมัติ ซึ่งสถาบันพัฒนาอุตสาหกรรมสิ่งทอประเมินว่าจะช่วยลดต้นทุนการผลิตสิ่งทอทางการแพทย์ได้มากถึง 50% รวมถึงช่วยร่นระยะเวลารอคอยใบรับรองผลทางการแพทย์อีกด้วย