การเลือกตั้งสหรัฐ กับประเทศไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

การเลือกตั้งสหรัฐ กับประเทศไทย เกี่ยวข้องกันอย่างไร?

จับตา "การเลือกตั้งสหรัฐ" ที่จะมีขึ้นช่วงปลายปีนี้ ระหว่างทรัมป์และไบเดนใครจะเป็นผู้ชนะ อีกทั้งติดตามนโยบายของแต่ละพรรคที่นำเสนอมาเพื่อช่วงชิงฐานเสียงนั้นมีอะไรบ้าง ซึ่งจะมีผลต่อประเทศทั่วโลก รวมประเทศไทยด้วย

การรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งสหรัฐกำลังเริ่มขึ้นอย่างเป็นทางการ เมื่อผู้สมัครเข้ารับเลือกตั้งประธานาธิบดีได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของทั้งสองพรรค ก่อนที่จะมีการเลือกตั้งกันจริงๆ ในวันอังคารที่ 3 พ.ย. ท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจและสาธารณสุขครั้งใหญ่ของโลกที่เกิดจากโรคระบาด ที่สร้างภาวะเศรษฐกิจถดถอยครั้งใหญ่ที่สุดในรอบหลายทศวรรษ ความสัมพันธ์กับจีนที่เหมือนว่ากำลังจะกลายเป็นสงครามเย็นในหลายมิติ (ทั้งด้านการค้า การลงทุน เทคโนโลยี และภูมิรัฐศาสตร์) และประเด็นการเมืองในประเทศสหรัฐที่แปลกแยกกันมากที่สุดในรอบหลายปี ทั้งประเด็นเชื้อชาติ ความเหลื่อมล้ำ และอื่นๆ

ถ้าวิเคราะห์ผลการเลือกตั้งจากการสำรวจคะแนนความนิยมในช่วงที่ผ่านมา ก็ต้องบอกว่า ประธานาธิบดี Trump มีคะแนนตามหลัง นาย Joe Biden ผู้สมัครจากพรรคเดโมแครตอยู่พอสมควรเพราะถูกมองว่าพลาดเรื่องการบริหารจัดการสถานการณ์ Covid-19 จนเศรษฐกิจที่ทำมาดีๆ มาตลอด เข้าสู่ภาวะถดถอย และถูกมองว่าเป็นผู้สร้างความแตกแยกในหลายๆ ประเด็น รวมถึงความขัดแย้งเรื่องสีผิว (เช่น จากกระแส Black Lives Matters ในช่วงที่ผ่านมา)

การคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายสำนักฟันธงกันว่า ถ้าไม่ทำอะไรพลาดอย่างรุนแรง Biden มีโอกาสชนะเป็นประธานาธิบดีสหรัฐค่อนข้างเยอะ (แต่ก็ต้องระวัง เพราะตอนปี 2016 นักวิเคราะห์ก็ฟันธงว่า Clinton ชนะแน่ๆ) เพราะคะแนนเสียงนำอยู่ในหลายรัฐ รวมถึง รัฐที่เป็น swing state ที่เป็นจุดตัดสินผลการเลือกตั้งจริงๆ อย่างเช่น ฟลอริดา มิชิแกน เพนซิลวาเนีย และวิสคอนซิน เป็นต้น

นอกจากนี้ ในวันเลือกตั้ง ยังมีการเลือกตั้งสภาล่างทั้ง 435 คน และ เลือกตั้งสภาบน อีก 35 จาก 100 คน ไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งจากการสำรวจคะแนนความนิยม มีโอกาสที่พรรคเดโมแครตอาจจะคว้าชัยชนะ และคุมเสียงอย่างเบ็ดเสร็จทั้งประธานาธิบดี และทั้งสองสภา

แม้ว่ายังมีความไม่แน่นอนอยู่ค่อนข้างมาก แต่เราอาจจะต้องเริ่มจับตาดูว่า นโยบายอะไรที่ Biden และพรรคเดโมแครตกำลังนำเสนอ ที่อาจจะมีผลกระทบกับโลกและประเทศไทย เพราะทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนขั้วทางการเมืองในประเทศใหญ่ ก็อาจจะมีการเปลี่ยนทิศทางและวิธีการดำเนินนโยบายระหว่างประเทศ ที่อาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างขนานใหญ่

นโยบายหลักๆ ที่ Biden นำเสนอมีหลายเรื่องที่อาจจะตรงข้ามกับสิ่งที่ประธานาธิบดี Trump ทำในรอบเกือบสี่ปีที่ผ่านมา และอาจจะเปลี่ยนทิศทางประเทศสหรัฐได้ เช่น เรื่องการขึ้นภาษีนิติบุคคล ที่ประธานาธิบดี Trump ปรับลดลงมาในช่วงแรกๆ หลังรับเลือกตั้ง (และอาจจะมีผลต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในสหรัฐได้) การเพิ่มกฎระเบียบในการกำกับสถาบันการเงิน นโยบายสาธารณสุขและประกันสุขภาพ และนโยบายเกี่ยวกับเรื่องคนเข้าเมือง

ประเด็นหนึ่งที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงจนส่งผลกระทบต่อประเทศไทย น่าจะเป็นประเด็นเรื่องนโยบายการค้า ซึ่งคาดว่าการเผชิญหน้าระหว่างสหรัฐกับจีนในหลายเรื่องอาจจะไม่ได้ลดความเข้มข้นลงไป และความขัดแย้งน่าจะยังคงอยู่ แต่คาดว่า Biden น่าจะมีวิธีกดดันจีนด้วยวิธีที่ละมุนละม่อม และหาแนวรวมจากชาติต่างๆ มากกว่าการใช้ twitter และการเปิดศึกหลายด้านแบบที่ประธานาธิบดี Trump ทำมา

หนึ่งในความเป็นไปได้ คือการกลับเข้าร่วมในข้อตกลง Transpacific Partnership (TPP) อีกครั้ง ซึ่งเป็นความพยายามที่ประธานาธิบดี Obama เริ่มต้นไว้ เพื่อหาพันธมิตรเป็นแนวร่วมกดดันทางการค้าและเศรษฐกิจกับจีน แต่หลังจากชนะประธานาธิบดี Trump กลับถอนตัวออกจาก TPP จนทำให้ประเทศที่เหลือรวมตัวกันเป็น CPTPP แต่ขาดความน่าสนใจไปมากเพราะไม่มีตลาดใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกาเข้าร่วม

หาก Biden ชนะการเลือกตั้งขึ้นมาจริงๆ และคุมสภาจนสามารถผลักประเด็นนี้อาจจะเป็นประเด็นที่เปลี่ยนสมการในการตัดสินใจว่าประเทศไทยจะเข้าร่วม TPP ด้วยหรือไม่ ที่ผ่านมามีกระแสไม่เห็นด้วยกับการเข้าร่วม CPTPP อยู่ค่อนข้างมาก เพราะมองว่าเราได้ประโยชน์ไม่มากนัก เพราะมีเพียงเม็กซิโกและแคนาดาเท่านั้น ที่ไทยยังไม่มีข้อตกลงการค้าเสรีด้วย แต่เราอาจจะต้องทำการปฏิรูปในหลายด้าน รวมถึงยอมรับข้อตกลงที่อาจจะมีผลกระทบต่อภาคเกษตร ราคายา และประเด็นอื่นๆ ได้

แต่หากสหรัฐกลับมาเข้าร่วมจริงๆ ต้นทุนของไทยในการไม่เข้าร่วมอาจจะเพิ่มขึ้นพอสมควร เพราะอาจจะทำให้ไทยเสียความสามารถในการแข่งขันกับตลาดที่สำคัญอย่างสหรัฐ และถ้าไทยไม่อยู่ใน TPP นักลงทุนบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น อาจจะพิจารณาย้ายฐานการผลิตจากไทย ไปยังประเทศอื่น (เช่น เวียดนาม) ที่อยู่ใน TPP เพื่อให้ได้ผลประโยชน์ด้านภาษีอย่างเต็มที่

เราอาจจะต้องพิจารณาและถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และเปิดเผยต่อสาธารณะว่า ว่าสมดุลระหว่างประโยชน์และต้นทุนอยู่ตรงไหน เราจะตัดสินใจเรื่องนี้อย่างไร และหาวิธีบรรเทา หรือชดเชยคนที่เสียผลประโยชน์ในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างไร เพื่อทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับประเทศ