'โควิด-19'ระลอก2ในไทยจะไม่เหมือนระลอก1

'โควิด-19'ระลอก2ในไทยจะไม่เหมือนระลอก1

สธ.ชี้โควิด-19ระบาดระลอก2ในไทยไม่เหมือนระลอก1 เกิดเป็นจุดๆเหมือนเสก็ดไฟ ล็อกดาวน์ไม่ทำทั้งประเทศ เลือกเฉพาะบางพื้นที่จำเป็นเท่านั้น เร่งสร้างสุขภาวะคนทำงานบนฐานวิถีชีวิตใหม่ หลังพบโดนโรคเรื้อรังรุมเร้า ซ้ำด้วยโรคระบาด


เมื่อเวลา 11.30 น. วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 ที่กระทรวงสาธารณสุข ในการแถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 พญ.พรรรประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูฯนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 กล่าวว่า มีผู้ป่วยรายใหม่ 8 รายเป็นผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศและเข้ารับการกักกันในสถานที่ที่รัฐจัดให้ ไม่มีคนหายและเสียชีวิตเพิ่มเติม ผู้ป่วยสะสม 3,269 ราย มาจากสถานเฝ้าระวังที่รัฐจัดให้ 332 ราย รักษาหายรวม 3,105 ราย ยังรักษาใน รพ. 106 ราย เสียชีวิตรวม 58 ราย โดยผู้ป่วยรายใหม่มาจาก 1. อียิปต์ 4 ราย คือ เพศชายอายุ 21 ปี จำนวน 2 ราย เดินทางถึงไทยวันที่ 8 ก.ค. เข้าพักสถานที่ที่รัฐจัดให้ จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 2 วันที่ 19 ก.ค. ไม่มีอาการ ซึ่งก่อนหน้านี้พบผู้ป่วยในเที่ยวบินเดียวกัน 15 ราย อีก 2 รายเป็นชายอายุ 20 ปี และ 24 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 17 ก.ค. เข้าพักสถานที่ที่รัฐจัดให้ จ.ชลบุรี พบเชื้อจากการตรวจครั้งแรกวันที่ 21 ก.ค. ไม่มีอาการ ก่อนหน้านี้มีผู้ป่วยในเที่ยวบินเดียวกัน 4 ราย
2. ซูดาน 2 ราย เป็นเพศชาย อายุ 20 ปี และเพศหญิงอายุ 20 ปี ทั้ง 2 รายมีอาชีพนักศึกษา ถึงไทยวันที่ 10 ก.ค. พบมีอาการเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค ตรวจหาเชื้อที่ด่านควบคุมโรค สนามบินสุวรรณภูมิ แต่ไม่พบเชื้อ จึงเข้าพักสถานที่ที่รัฐจัดให้ จ.ชลบุรี ตรวจพบเชื้อครั้งที่ 3 คือ วันที่ 21 ก.ค. และ3. สหรัฐอเมริกา 2 ราย เป็นเพศหญิงอายุ 22 ปี และ 23 ปี เดินทางถึงไทยวันที่ 18 ก.ค. เข้าสถานที่ที่รัฐจัดให้ ในกทม. พบเชื้อจากการตรวจครั้งที่ 1 วันที่ 21 ก.ค.


พญ.พรรณพิมล กล่าวว่า กรณีทหารไทยกลับจากฮาวาย สหรัฐอเมริกา เดินทางถึงไทยเมื่อวันที่ 22 ก.ค. ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เวลา 18.50 น. ตรวจคัดกรองโรค 151 คน โดย 140 คนไม่เข้าเกณฑ์ จึงเดินทางเข้าพักสถานที่ที่รัฐจัดให้ จ.ชลบุรี ส่วน 10 รายมีอาการเข้าได้กับเกณฑ์สอบสวนโรค คือ มีไข้ ไอ เสมหะ เจ็บคอ ส่งตัว รพ.พระมงกุฎเกล้าเพื่อตรวจเชื้อ อยู่ระหว่างรอผลตรวจเชื้ออย่างเป็นทางการ และ 1 รายมีโรคประจำตัว แต่ไม่ใช่โควิด-19 เข้ารักษาที่ รพ.เช่นกัน สถานการณ์ไม่ได้น่ากังวลสำหรับประชาชน เพราะส่งเข้ารักษา และเข้าสถานเฝ้าระวังเรียบร้อย


ต่อมา มีการแถลงข่าว “โครงการสุขภาวะของคนทำงานด้วย Healthy Living และการประกวดคลิปวิดีโอฐานวิถีชีวิตใหม่ในสถานประกอบการกรณีโควิด-19” โดยนพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า ก่อนที่จะมีโรคโควิด-19พบปัญหาจากการสำรวจสุขภาพประชาชนด้วยการตรวจร่างกาย คือ โรคเบาหวานในประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป เพิ่มขึ้นจาก 7 % เป็น 9 % ในรอบ 5 ปีเพิ่มขึ้นถึง 2 % ของคนอายุ 15 ปีขึ้นไป หรือราว 1 ล้านคน เช่นเดียวกับโรคความดันโลหิตสูง จาก 20% เป็น 24. 7 % ปัจจุบันประเทศไทยมีคนเป็นเบาหวานเกือบ 4 ล้านคน และความดันโลหิตสูงเกือบ 10 ล้านคน กระจายในทุกกลุ่มอายุและอยู่ในผู้สูงอายุมากกว่า ซึ่งเป็นโรคเรื้อรังและส่งผลต่อประสิทธิภาพการทำงานที่ลดลง เมื่อโรคโควิด-19เข้ามายิ่งซ้ำเติมมากขึ้น จึงมีความสำคัญที่จะต้องให้ความสำคัญกับการสร้างสุขภาวะในกลุ่มคนทำงานและทุกกลุ่มผู้คนหรือ healthy leaving


นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า หลังมีการผ่อนปรนระยะต่างๆภาคสังคมและภาคกิจการก็จะมีการดำเนินกิจการกิจกรรมมากขึ้น แต่ที่สำคัญแม้ว่าสถานการณ์ในประเทศจะดีแต่ทั่วโลกยังมีปัญหา เพราะฉะนั้นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กับการผ่อนปรนเพื่อให้เศรษฐกิจสังคมขับเคลื่อน คือการดำเนินการแบบวิถีชีวิตใหม่ ซึ่งภาคส่วนที่สำคัญในเรื่องการขับเคลื่อนเศรษฐกิจคืออุตสาหกรรมและการค้า จึงต้องดำเนินการเพื่อป้องกันไม่ให้โรคโควิด-119เข้าสู่สถานที่ทำงาน เพราะข้อมูลที่ท่านมาส่วนหนึ่งของผู้ติดเชื้อในประเทศไทยเป็นผู้ทำงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคการค้าและภาคบริการ


ในเชิงการป้องกันมีการดำเนินการเรื่องอาชีวอนามัยและความปลอดภัยในสถานประกอบการ แต่ส่งที่มาเพิ่ม เสริมเติมเข้าไป คือ อาชีวอนามัยที่สามารถจะได้ผลในการป้องกันไม่ให้บุคลากรติดโรคโควิด-19 เพราะเมื่อติดก็จะต้องมีมาตรการปิดสถานที่ โดยควรจะมีการดำเนินการ 3 ระดับ ประกอบด้วย ระดับที่ 1 เจ้าของกิจการ ต้องมีความชัดเจนในการกำหนดเป็นนโนบาย ถ่ายทอดไปสู่ทุกส่วนในองค์กร และกำหนดมาตรการในการดูแลป้องกัน ระดับที่ 2 งานบุคคล เป็นส่วนสำคัญในการประเมินเรื่องการติดเชื้อและความเสี่ยงต่อสุขภาพ และระดับที่ 3 บุคคลทุกคนในองค์กร ซึ่ง 3 เรื่องต้องทำทั้งการสวมหน้ากาก ล้างมือบ่อยๆ และเว้นระยะห่างให้เหมาะสมกับการทำงานของสถานประกอบการ


ผู้สื่อข่าวถามว่า หากมีการระบาดระลอก2ในประเทศไทย จะมีการดำเนินการอย่างไรในกรณีของสถานประกอบการ นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า การตั้งเป้าว่าประเทศไทยไม่มีผู้ป่วยเลยจนกว่าจะมีวัคซีนนั้นเป็นสิ่งไม่ถูกต้อง เพราะทั่วโลกมีการระบาดอยู่จำนวนมาก และท้ายที่สุดเป็นไปได้ที่จะมีการระบาดในประเทศไทย แต่จะต้องคุมการระบาดให้อยู่ในระดับที่จัดการได้ เมื่อมีผู้ติดเชื้อเกิดขึ้นก็ต้องดูแลควบคุมให้โรคสงบโดยเร็ว และหากจำเป็นต้องล็อคดาวน์ก็เลือกเลือกเฉพาะบางที่ บางแห่ง ไม่ใช่ทำทั่วประเทศ เหมือนกับที่จ.ระยองซึ่งเป็นโมเดล และเชื่อว่าจะได้รับความร่วมมือจากสถานประกอบการต่างๆเป็นอย่างดี เพราะไม่ต้องการให้เกิดการระบาดในสถานประกอบการแน่นอน


คาดการว่าหากมีการระบาดระลอก2 เกิดขึ้นในประเทศไทยจะเป็นแบบเตี้ยๆ และจัดการให้สงบได้ จัดการให้ดีที่สุดไม่ให้เป็นแบบยออดเจดีย์แหลมและมีคนตายเป็นเบือ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ต้องด้วยความร่วมมือของประชาชนและทุกภาคส่วนด้วย”นพ.ศุภกิจกล่าว


นพ.สุวรรณชัย กล่าวว่า ระลอกที่ 2 หากเกิดขึ้นจะไม่มีลักษณะเหมือนระลอกที่ 1 ด้วยปัจจัย 3 ข้อ คือ 1.ไม่ได้ปล่อยให้ผู้คนเดินทางเข้าประเทศโดยไม่ได้จัดการ 2.ในระลอกที่1 ผู้คนทั้งสังคมยังไม่มีการดำเนินการเรื่องมาตรการ สวมหน้ากาก ล้างมือ เว้นระยะห่างเท่าที่ควร แต่ปัจจุบันประชาชนส่วนใหญ่มากกว่า 80 % ดำเนินการ และ 3.การเตรียมความพร้อมและประสบการณ์ทั้งของภาครัฐ เอกชน และประชาชน ที่มีการบูรณาการและเตรียมทรัพยากรไว้


หมายความว่าระลอกที่ 2 มีโอกาสเกิดการติดเชื้อภายในประเทศ แต่จะเป็นแบบจุดๆ เหมือนเสก็ดไฟที่เกิดขึ้น และเชื่อว่าด้วยความพร้อม เมื่อเจอเกิดขึ้นก็จะมีการเข้าไปดับได้ทัน หรือบางครั้งอาจจะลามได้ แต่เชื่อว่าด้วยมาตรการต่างๆจะจัดการได้ เพราะฉะนั้นเมื่อยืนยันว่าจัดการได้ ยืนยันในการใช้ชีวิตทางสังคมและเศรษฐกิจ เพียงแต่ต้องใช้ในวิถีชีวิตใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม ก็จะดำเนินการกิจการกิจกรรมทางสังคมและเศรษฐกิจได้ แม้ว่ารอบบ้านเราจะมีการระบาด จึงขอย้ำอีกครั้งว่าระลอก 2 จะไม่เหมือนระลอกที่ 1 เพราะเรียนรู้และร่วมมือกันมาแล้ว”นพ.สุวรรณชัยกล่าว


อนึ่ง กระทรวงสาธารณสุขเชิญชวนสถานประกอบการส่งคลิปวิดีโอเข้าประกวดใน โครงการประกวดคลิปวิดีโอฐานวิถีชีวิตใหม่ในสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ ภาคการท่องเที่ยวและโรงแรม เริ่มต้นใน 6 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพ เชียงใหม่ นครราชสีมา อุดรธานี กาญจนบุรี และนครศรีธรรมราช แต่จังหวัดที่สนใจสามารถเข้าร่วมโครงการได้ หมดเขต 21 สิงหาคม 2563 ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในเวบไซต์กระทรวงสาธารณสุข