‘ไลฟ์สตรีม’ จีนโตเร็ว ส่งผลดีต่อใครบ้าง?

‘ไลฟ์สตรีม’ จีนโตเร็ว ส่งผลดีต่อใครบ้าง?

อุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมของจีนเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงหลายปีที่ผ่านมา โดยอุตสาหกรรมนี้ครอบคลุมผู้ประกอบการหลากหลายประเภท อาทิ อีคอมเมิร์ซ เกมออนไลน์ และผู้ประกอบการด้านการบันเทิง แล้วการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของอุตสาหกรรมนี้ส่งผลดีต่อใครบ้าง

คิวซีซีด็อทคอม (Qcc.com) แพลตฟอร์มระบบรายงานข้อมูลเครดิตของผู้ประกอบการเผยแพร่ข้อมูลซึ่งระบุว่า ยอดการจดทะเบียนบริษัทไลฟ์สตรีมจีนของปี 2562 อยู่ที่ 5,684 ราย เพิ่มขึ้นมากกว่า 17 เท่าจากเมื่อ 10 ปีก่อน

อุตสาหกรรมไลฟ์สตรีมจีนมีพัฒนาการอย่างรวดเร็วช่วงที่โรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แพร่ระบาด โดยตั้งแต่เดือน มี.ค. ยอดการขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการไลฟ์สตรีมต่อเดือนพุ่งสูงจนทำลายสถิติ และในเดือน พ.ค. ยอดการขึ้นทะเบียนอยู่ที่ 2,877 ครั้ง สูงขึ้นถึง 684% เมื่อเทียบจากช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562

นอกจากนี้ การเติบโตอย่างรวดเร็วของไลฟ์สตรีมในจีนยังส่งผลดีต่อผู้คนและธุรกิจหลายกลุ่มด้วยกัน

 

  • แหล่งพักใจใหม่ชาวเน็ตจีน

บรรดาผู้ใช้อินเทอร์เน็ตจีนที่ชอบใช้เวลาว่างไปกับการชมรายการถ่ายทอดสดทางออนไลน์ตลอด 24 ชั่วโมง กำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยรายการเหล่านั้นมีตั้งแต่ชีวิตประจำวันของแพนด้ายักษ์ในที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจนถึงการก่อสร้างโรงพยาบาล

ผลสำรวจจากไชน่า ยูธ เดลี (China Youth Daily) สื่อทางการจีน พบว่า กว่า 90% ของชาวเน็ตจีน ชอบชมไลฟ์สตรีมหรือไลฟ์สดประเภทดังกล่าวในเวลาว่าง และ 87.8% ชอบชมการถ่ายทอดสดที่ดำเนินไปอย่างเชื่องช้า เพราะถือเป็นการพักผ่อนทางจิตใจหลังจากทำกิจกรรมประจำวันที่แสนวุ่นวายและตึงเครียด

159272830694

จำนวนผู้ตอบสอบถามทั้งหมด 2,005 คน แบ่งเป็น 43.9% คือชาวเน็ตที่เกิดช่วงทศวรรษที่ 80 ตามด้วย 38.6% เป็นผู้ที่เกิดช่วงทศวรรษที่ 90 และ 9.1% เกิดช่วงทศวรรษที่ 70

“การดูไลฟ์สตรีมเอื่อย ๆ ที่มีเนื้อหาชวนผ่อนคลาย ทำให้ฉันมีความสุขและรู้สึกสบายใจ” ฟาง ลู่ นักศึกษาในนครเซี่ยงไฮ้กล่าว โดยเธอเล่าถึงประสบการณ์ดูวล็อกเกอร์แสดงศิลปะการคัดตัวอักษรจีนพร้อมเปิดเพลงสบายๆ ไปด้วย

หลิว เฉิน พนักงานในกรุงปักกิ่ง และหนึ่งในผู้ที่ชื่นชอบดูไลฟ์สตรีม กล่าวว่า เมื่อไม่นานนี้เธอได้ดูถ่ายทอดสดทางออนไลน์ของทีมสำรวจจีน ที่ปีนขึ้นไปบนยอดเขาโชโมลังมา เพื่อปฏิบัติภารกิจวัดความสูงของยอดเขาที่สูงที่สุดในโลก

“การพิชิตยอดเขาโชโมลังมาเป็นความฝันอันยาวนานของใครหลาย ๆ คน แต่ไม่มีโอกาสได้ทำมัน” หลิวกล่าว “การถ่ายทอดสดโดยไม่มีการตัดต่อ ทำให้เราได้เห็นสถานการณ์จริง ผู้ชมจึงรู้สึกเหมือนได้ไปอยู่ที่นั่นจริงๆ”

 

  • “ทางรอด” ค้าปลีกดั้งเดิมฝ่าโควิด

ปัจจุบัน การขายของผ่านการไลฟ์สตรีมได้กลายเป็นวิธียอดนิยม ไม่เพียงบนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซเท่านั้น แต่ยังมีเจ้าของร้านอาหาร พนักงานร้านหนังสือ พนักงานขายในห้างสรรพสินค้า และอื่น ๆ อีกมากมาย ที่หันมาหาใช้วิธีการนี้ เพื่อส่งแรงผลักดันใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมค้าปลีกแบบดั้งเดิม

159272833058

ตู้ ลี่ลี่ พนักงานร้านหนังสือเหยียนจี๋โหยวให้สัมภาษณ์ว่า “เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ร้านหนังสือของเราจึงถูกปิดมานานกว่า 1 เดือน โดยมีรายได้เป็น 0 ฉันและเพื่อนร่วมงานจึงอยากทำอะไรสักอย่าง และเราก็ตัดสินใจที่จะลองแนะนำหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ทุกคนได้เห็น เรามีผู้ชมมากขึ้นเรื่อยๆ และทำยอดขายได้มากกว่า 2,000 หยวน (ราว 8,900 บาท) จากผู้ชม 800 คน”

ผาง จงฉี เจ้าของร้านอาหารหม้อไฟกล่าวว่า “เราได้ไลฟ์สตรีมขายของในติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการถ่ายทอดสดชื่อดังในจีนเพื่อให้คนมากมายเห็นอาหารของร้านเรา”

159272834079

ซ่ง เหว่ย ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนและออกแบบศูนย์การค้าจอยซิตี (Joy City) กล่าวว่า “เราได้จัดการไลฟ์สตรีมในห้างสรรพสินค้า คุณสามารถชมไลฟ์ของเราได้ด้วยการคลิกตรงนี้ ถ้าหน้าจอแสดงข้อความว่า Live ก็หมายความว่าเรากำลังจัดไลฟ์กันอยู่ และคุณก็สามารถคลิกที่รูปถุงช้อปปิ้ง ที่มุมขวาล่างของหน้าจอ เพื่อชมรายการสินค้าทั้งหมดของเราได้”

 

  • ช่วยขจัดความยากจน

เดือน พ.ค. ที่ผ่านมา "อาลีบาบา" (Alibaba) ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซจีน เปิดตัวแผนริเริ่มขจัดความยากจน “สปริง ธันเดอร์” (Poverty Relief Spring Thunder Initiative) หรือ “อัสนีวสันต์” เพื่อต่อสู้กับความยากจนในพื้นที่ชนบทของประเทศจีน

อาลีบาบาจะก่อตั้งวิทยาลัยไลฟ์สตรีมมิงระดับหมู่บ้าน (Village Livestreaming Colleges) จำนวน 100 แห่ง เพื่อสร้างทีมเกษตรกรนักไลฟ์สตรีมมิงหรือไลฟ์สด จำนวน 100,000 คน พร้อมฐานการเกษตรดิจิทัล และแบรนด์สินค้าการเกษตร 50 แบรนด์ รวมถึงสร้าง “หมู่บ้านพนักงานจัดส่ง” จำนวน 100 แห่ง เพื่อสร้างงานในอำเภอยากไร้มากกว่า 100,000 อัตรา

159272835415

นอกจากนั้น อาลีบาบาจะส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสไปยังอำเภอยากไร้ เพื่อช่วยประชาชนหลุดพ้นจากความยากจนด้วยการพัฒนาอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซและอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมท้องถิ่น

หลายปีที่ผ่านมา อาลีบาบามุ่งพัฒนาธุรกิจอีคอมเมิร์ซในเขตชนบทของจีน โดยเมื่อปี 2562 อำเภอยากไร้ทั้งหมด 832 แห่ง จำหน่ายสินค้าการเกษตรผ่านแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของอาลีบาบา และมียอดจำหน่ายสูงถึง 9.74 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.4 แสนล้านบาท)

ส่วนแผนถ่ายทอดสดระดับหมู่บ้าน (Village Broadcasting Plan) ของอาลีบาบา ได้จัดการไลฟ์สดมากกว่า 1.6 ล้านครั้งในปี 2562 ครอบคลุมภูมิภาคระดับอำเภอราว 2,200 แห่งทั่วประเทศ

ขณะที่เดือน ธ.ค. 2560 อาลีบาบาก่อตั้งกองทุนบรรเทาความยากจน มูลค่า 1 หมื่นล้านหยวน (ราว 4.5 หมื่นล้านบาท) เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองในเขตชนบทของจีน มุ่งเน้นโครงการด้านสาธารณสุข การศึกษา การเสริมพลังหญิง อีคอมเมิร์ซ และการปกป้องสิ่งแวดล้อม