ชำแหละ 'ขีดแข่งขัน' ปี 63 ร่วง สมรรถนะเศรษฐกิจไทยถดถอยแรง

ชำแหละ 'ขีดแข่งขัน' ปี 63 ร่วง สมรรถนะเศรษฐกิจไทยถดถอยแรง

ทีเอ็มเอ เผย อันดับความสามารถในการแข่งขันประเทศลด เหตุการถดถอยลงของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ ขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ ทีเอ็มเอ (TMA) เผยผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศจาก World Competitiveness Center ของ International Institute for Management Development หรือ IMD สวิตเซอร์แลนด์ ประจำปี 2563 ที่สำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก

ประเทศไทย มีผลคะแนนสุทธิลดลงจาก 77.233 มาอยู่ที่ 75.387 ส่งผลให้ผลการจัดอันดับของประเทศไทยลดลง 4 อันดับ จากอันดับที่ 25 ลงมาอยู่ที่อันดับที่ 29 ใกล้เคียงกับอันดับในปี 2561 ซึ่งอยู่ที่อันดับที่ 30

ปัจจัยหลักที่เป็นตัวชี้วัด 4 ด้านนั้น ผลการจัดอันดับดีขึ้น 2 ด้าน 1.ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ (Business Efficiency) ดีขึ้น 4 อันดับ จากอันดับที่ 27 มาอยู่ที่อันดับ 23 และโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure) ดีขึ้น 1 อันดับ จากอันดับที่ 45 มาอยู่ที่อันดับ 44

ในขณะที่สมรรถนะทางเศรษฐกิจ (Economic Performance) ลดลง 6 อันดับ จากอันดับที่ 8 มาอยู่อันดับที่ 14 และ ประสิทธิภาพของภาครัฐ (Government Efficiency) ลดลง 3 อันดับ จากอันดับที่ 20 มาอยู่อันดับที่ 23

สำหรับขีดแข่งขัน สูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ สิงคโปร์ ยังคงเป็นอันดับ 1 อันดับที่ 2 ได้แก่ เดนมาร์กที่เพิ่มขึ้น 6 อันดับจากปีที่แล้ว อันดับ 3 สวิตเซอร์แลนด์ อันดับ 4 เนเธอร์แลนด์ และอันดับ 5 ฮ่องกง ทั้งนี้ IMD ทำการสำรวจและจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทั้งหมด 63 เขตเศรษฐกิจทั่วโลก

ในกลุ่มอาเซียนที่ได้รับการจัดอันดับ พบว่า 4 ประเทศ มีอันดับลดลงเป็นส่วนใหญ่ โดยมาเลเซียลดลง 5 อันดับอยู่ที่อันดับ 27 อินโดนีเซียลดลง 8 อันดับอยู่ที่อันดับ 40 ขณะที่ฟิลิปปินส์อันดับเพิ่มขึ้น 1 อันดับ อยู่ที่อันดับ 45

159245229160

159245230428

นายธีรนันท์ ศรีหงส์ ประธาน TMA กล่าวว่า ผลการจัดอันดับของไทยในภาพรวมลดลง เนื่องมาจากการถดถอยลงของสภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศ การขาดความสามารถในการดึงดูดทุนจากต่างประเทศ รวมทั้งแนวโน้มปัญหาการขาดแคลนแรงงานในระยะยาว

อีกด้านหนึ่งก็คือประสิทธิภาพของภาครัฐ การถดถอย โดยหลักนั้นอยู่ที่กรอบนโยบาย กฎหมายและแนวทางการบริหารงานของสถาบันหลักต่างๆในการบริหารประเทศ รวมทั้งสถานะการคลังที่ถดถอยลง

อย่างไรก็ดี แม้อันดับโดยรวมของประเทศลดลง แต่ก็มีองค์ประกอบที่ดีขึ้นใน 2 ด้านหลัก ได้แก่ ด้านประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ ในด้านแนวทางการบริหารและจัดการและทัศนคติและค่านิยมของภาคธุรกิจที่ปรับตัวดีขึ้น ในขณะที่ด้านตลาดแรงงานเริ่มกลายเป็นประเด็นท้าทายที่สำคัญ เช่น ประเด็นการผลิตแรงงานให้ตรงกับทิศทางการพัฒนาประเทศและความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และทุกภาคธุรกิจ ยังคงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาผลิตภาพและประสิทธิภาพ ซึ่งมีการปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยแต่ยังอยู่ในอันดับที่ค่อนข้างต่ำ

ส่วนปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานมีแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงอันดับในทิศทางดีขึ้นเล็กน้อย แต่คะแนนและอันดับขีดความสามารถโดยรวมยังอยู่ในระดับที่ต่ำจึงต้องได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นหลักที่ยังเป็นปัญหา ได้แก่ ด้านการศึกษา การสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อม โครงสร้างด้านวิทยาศาสตร์ และโครงสร้างด้านเทคโนโลยี
ในปี 2563 IMD ได้เพิ่มตัวชี้วัดใหม่ในการจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ที่ไทยควรให้ความสนใจเพื่อเตรียมพร้อมพัฒนาให้สอดรับกับอนาคต ได้แก่ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ดัชนีระดับความเป็นประชาธิปไตย (Democracy Index) และสัดส่วนของผู้ประกอบการใหม่ในระยะเริ่มต้นธุรกิจ (Total early-stage entrepreneurial activity) ด้วย

การที่อันดับของความสามารถในการแข่งขันของประเทศไทยมีการปรับตัวดีขึ้น 5 อันดับในปี 2562 แล้วกลับลดลง 4 อันดับในปีนี้ ได้แสดงให้เห็นว่าการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและการปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆได้อย่างทันการณ์นั้นยังคงเป็นความท้าทายของประเทศไทยในระยะยาว
ดังนั้นไทยจำเป็นต้องมีกลไกในการประสานความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่ทำงานอย่างมีเอกภาพและมีความต่อเนื่องเพื่อขับเคลื่อนให้เกิดผลการพัฒนาที่ยั่งยืน

นายธีรนันท์ กล่าวว่า เสนอให้รัฐบาลกลับมาให้ความสำคัญกับการสร้างกลไกในการขับเคลื่อนเรื่องนี้ในระดับต่าง ๆ อย่างชัดเจนขึ้น เช่น การรื้อฟื้นการทำงานของคณะกรรมการพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ (กพข.) ซึ่งเป็นกลไกระดับชาติเพื่อให้ กพข.ทำหน้าที่ กำหนดเป้าหมายและยุทธศาสตร์ ประสานความร่วมมือระหว่างรัฐและเอกชน อนุมัติแผนงานและจัดสรรทรัพยากร เพื่อผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนและติดตามผลการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ให้สอดคล้องกับทิศทางและสถานการณ์ในการแข่งขันของประเทศไทยในอนาคตด้วย