The Future of Future

The Future of Education อนาคตของการศึกษาจะเป็นอย่างไร? เมื่อโควิด-19 เข้ามาเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ และทำให้โลกต้องเดินหน้าเข้าสู่ Digital World อย่างเต็มรูปแบบ

ใครๆ ก็พูดถึง The Future of Work งานข้างหน้าจะเป็นอย่างไร ต้องปรับตัวอย่างไรให้อยู่รอด แต่วันนี้ผมขอเขียนถึง The Future of Education อนาคตของการศึกษาจะเป็นอย่างไร?

“I don’t want to do debate” น้องพินลูกสาวผมคร่ำครวญ “นี่มันซัมเมอร์นะ ทำไมเราไม่ได้พักผ่อน” เจ้าธีร์ผู้เป็นน้องชายโผล่หน้ามาร่วมแจมทันที ผมลงทะเบียนให้ทั้งคู่เรียนโน่นเรียนนี่ช่วงปิดเทอม ไปเที่ยวไหนไม่ได้อยู่ดี เพราะโควิด-19

เล่าให้คุณผู้อ่านฟังนิดว่า การเดินทางออกมาทำงานนอกประเทศของผม เป็นส่วนหนึ่งของ Grand Plan หรือแผนอันยิ่งใหญ่ ซึ่งพ่อคนหนึ่งเตรียมไว้ให้กับลูกๆ หลังจากตามพ่อตามแม่มาเรียนจนเข้าวัยรุ่นแล้ว แพลนขั้นต่อไปก็เป็นการดำเนินรอยตามคุณปู่ ดร.เถลิง และพ่อ ด้วยการไปเรียนต่อโรงเรียนประจำ ประเทศคงไม่หนีสหรัฐ เตรียมตัวสัก 2-3 ปี เพื่อเข้ามหาวิทยาลัย จบมาดูแลเลี้ยงตัวเองได้ พร้อมนำความรู้กลับมาทำงานช่วยประเทศช่วยสังคม นี่เหลืออีกไม่กี่ปีก็จะเข้าสู่กระบวนการนั้นแล้ว

  • แต่โควิดนำมิติใหม่มาสู่วิธีการคิดแบบเดิม

ในปีนี้ ด้วยผลของการ Lockdown โรงเรียนปิด ประเทศปิด เดินทางไปไหนไม่ได้ ผมจึงต้องเริ่มมองหาอะไรให้ลูกทำช่วงหยุดเทอม เปิดไปค้นมา ก็พบกับ Platform ตัวหนึ่งชื่อ Outschool มีตัวเลือกหัวข้อให้เรียนหลากหลาย ใช้ระบบออนไลน์ ใครอยากจะเข้าอะไรก็เลือกได้ตามสะดวก จ่ายเงินด้วยบัตรเครดิตง้ายง่าย มีตั้งแต่หลักสูตร 1 ชั่วโมง 300 บาท ไปจนถึงหลักสูตรเป็นเดือนๆ กวดวิชาเข้ามหาวิทยาลัย

ด้วยการเป็น Digital World เพียงผมกดตัวเลือกบางอย่างเข้าไป วัน? เริ่มสัปดาห์แรกหลังวันปิดเทอม เวลา? แปดโมงเช้าถึงสี่ทุ่ม อายุผู้เรียน? 11 และ 13 เรื่องที่อยากเรียน? มีให้เลือกตั้งแต่ Art, English, Math, Science มีกระทั่ง Coding แต่ที่ผมชอบเป็นพิเศษคือ วิชา “เพื่อชีวิต” Life Skills สอนวิธีการบริหารเงิน การทำงานกับคนอื่น People Skills กระทั่งการรับโทรศัพท์ การทักทาย ฯลฯ

ผมลงเรียน Critical Thinking, Live Debate Tournaments, และ Forensic Science ให้กับเด็กๆ ส่วนพินขอเรียน Crash Course in Chemistry เพิ่มอีกวิชา วันก่อนเอาเรื่อง Atom, Neutron และ Electron มานั่งเล่าให้ฟังจนแม่มึน (พ่อไม่มึน เพราะเป็นเด็กเคมีเก่า)

“Why did you put me in debates? I don’t like it” เจ้าตัวบ่นหลังจบการเรียนครั้งแรก เจอเด็กอเมริกัน เด็กอังกฤษในห้อง แย่งพูดกันจนตัวเองไม่มีโอกาส แถมครูก็พูดเร็วปรื๋อ อธิบายกติกาและแจกงานอย่างรวดเร็ว โดยแบ่งเป็นทีมละสองคน เด็กจะไปทำงานร่วมกันอย่างไรด้วยวิธีไหนก็เชิญ แต่ต้องกลับมาแข่งโต้วาทีกันในครั้งต่อไป อย่างพินรอบแรกนี้จับคู่กับเด็กอเมริกัน ชื่อเบลล่า ซึ่งนอกจากต้องแพลนการทำงานผ่าน Google Drive แล้ว ยังต้องคำนวณเวลา Time Zone ที่แตกต่างกันอีกด้วย

  • ข้อคิดสำหรับผู้นำสมอง

Learning From Anywhere ข้อคิด ซึ่งสะดุดใจผมที่สุดคือ เดี๋ยวนี้วิชาหาได้ง่ายจริงๆ อยากเรียนรู้เรื่องอะไรก็เรียนได้ ขอเพียงมีใจรัก เมื่อวันก่อนผมพูดล้อกับคุณแม่ว่าบทอาขยาน “วิชาเหมือนสินค้า อันมีค่าอยู่เมืองไกล ต้องยากลำบากไป จึงจะได้สินค้ามา” ที่ครูเคยให้ท่องปาวๆ ตอนเด็ก เวลานี้อาจจะไม่ตรงเสียทีเดียวแล้ว อยากได้วิชาสมัยคุณปู่ต้องลงเรือ สมัยพ่อต้องขึ้นเครื่องบิน แต่มาถึงสมัยลูกนี่ แค่จิ้มๆ เอาด้วยปลายนิ้วก็สามารถเข้าถึงได้ ผมอาจจะต้องคิดใหม่แล้วว่าการส่งลูกไปเรียนเมืองนอกไกลๆ ด้วยสูตรเดิมไม่ใช่คำตอบ

Growth Mindset ความท้าทายของพ่อแม่ยุค post-Covid จึงไม่ใช่การหาที่เรียน แต่เป็นการปลูกฝังผู้นำในอนาคตให้รักเรียน ทำอย่างไรให้เด็กมีความรับผิดชอบ และมีความสนุกมีความกระหายกับการผลักดันตัวเอง ในขณะที่เด็กบางคนขอลงเรียนวิชาโน่นนี้ มีเด็กมากมายบ่นว่า “ซัมเมอร์ไม่รู้จะทำอะไร” เพราะอะไรๆ ก็ปิด จับกลุ่มเดินไปห้าง นั่งผึ่งแดดเล่นหัวกันทั้งวัน

ความแตกต่างระหว่างเด็ก 2 กลุ่มนี้คืออะไร? หัวใจของ Growth Mindset คือ การรักการเติบโต ยินดีทำอะไรใหม่ๆ ที่ท้าทาย ไม่กลัวการล้มเหลว และกล้าเผชิญกับประสบการณ์อันแตกต่างด้วยความพยายามอย่างเต็มที่

“Dad, I won! ลูกสาวเดินออกมาจากห้องอย่างลิงโลด การโต้วาทีครั้งแรกเพิ่งจบไป”

“หนูคิดว่าเราชนะไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่เพราะเราเตรียมความพร้อมมาอย่างดี ไม่ว่าคนอื่นจะพูดมามุมไหน ทั้งหนูและเบลล่ามีข้อมูลโต้แย้งได้หมด” พินเล่าพร้อมเปิดเอกสารหลายหน้าที่เตรียมไว้ให้ผมดู

“I like debate now!” เจ้าตัวประกาศ

นั่นแหละครับ The Future of Future