พาณิชย์ พอใจต้นแบบบล็อกเชนข้าวอินทรีย์ โดนใจผู้มีส่วนได้เสีย

พาณิชย์ พอใจต้นแบบบล็อกเชนข้าวอินทรีย์ โดนใจผู้มีส่วนได้เสีย

สนค.เผยผลการศึกษาใช้บล็อกเชนในสินค้าข้าวอินทรีย์ สร้างความเชื่อมั่น ได้ข้อมูลที่ถูกต้อง พร้อมจดเชื่อเว็บไซต์ www.TraceThai.com เร่งพัฒนาระบบต่อเนื่อง

นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยผลสัมมนา ร่างผลการศึกษาความเป็นไปได้และแนวทางการพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ ด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชน (Blockchain )พร้อมเดินหน้าพัฒนาระบบ TraceThai.com และทดลองใช้งานกับกลุ่มนำร่องตลอดห่วงโซ่อุปทานข้าวอินทรีย์  ว่า  การนำเทคโนโลยีสมัยใหม่ คือ Blockchain เข้ามาช่วยพัฒนาภาคการเกษตรของไทย เนื่องจาก Blockchain ช่วยสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นข้อมูลถูกต้องและไม่สามารถแก้ไขได้ สามารถกำหนดลำดับชั้นของข้อมูลว่าจะเปิดเผยต่อสาธารณะหรือเปิดเผยเฉพาะคู่ค้า ทำให้สามารถรักษาความลับทางการค้าและข้อมูลส่วนบุคคลได้ รวมทั้งเป็นการทำงานด้วยระบบดิจิทัลทำให้ลดงานด้านเอกสารแบบดั้งเดิม เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วย

" การที่สนค.นำข้าวอินทรีย์นำร่อง เพราะมีมูลค่าสูง มีศักยภาพส่งออก มีขั้นตอนการตรวจสอบและรับรองมาตรฐานที่ชัดเจน คุ้มค่าในการพัฒนาระบบ โดยเฉพาะโลกหลังโควิดการตรวจสอบย้อนกลับจะยิ่งทวีความสำคัญ โดยเฉพาะ สินค้าเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพ ปลอดภัย และดีต่อสุขภาพ “

159187412642

นางสาวพิมพ์ชนก กล่าวว่า  ที่ผ่านมาสินค้าเกษตรและอาหารของไทยมีศักยภาพและเป็นสินค้าดาวรุ่ง และเชื่อมั่นว่าหลังจากนี้จะยิ่งเป็นดาวรุ่งมากขึ้นหากมีการยกระดับมาตรฐานและมีระบบตรวจสอบย้อนกลับรองรับเพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นให้กับคู่ค้าและผู้บริโภค ซึ่ง Blockchain จะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ช่วยให้สามารถตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตร นำไปสู่ Trust Economy และหลังจากนำร่องด้วยข้าวอินทรีย์แล้ว จะขยายผลสู่สินค้าเกษตรและอาหารอื่นๆ รวมทั้งต่อยอดพัฒนาระบบการค้าที่เกี่ยวข้องโดยหวังว่าโครงการนี้จะช่วยพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก ลดความเหลื่อมล้ำ พัฒนาภาคเกษตรไทยให้เข้มเข็ง ทำให้ประเทศไทยเข้มเข็ง  ซึ่งระบบตรวจสอบย้อนกลับสินค้าเกษตรอินทรีย์ นำร่องข้าวอินทรีย์นี้ ได้จดชื่อเว็บไซต์ www.TraceThai.com เรียบร้อยแล้ว  ทั้งนี้สนค.ตั้งเป้าว่าจะพัฒนาระบบให้แล้วเสร็จพร้อมทดลองใช้งานช่วงปลายปี 2563

นายดุสิต อธินุวัฒน์ ผู้เชี่ยวชาญเกษตรอินทรีย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า  การทำเกษตรอินทรีย์ว่าจะมีการรับรองมาตรฐานโดยหน่วยงานรับรอง (CB: Certified Body) อาทิ มาตรฐาน IFOAM, USDA Organic, EU Organic, Organic Thailand และอีกรูปแบบคือการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม (PGS : Participatory Guarantee System) ที่กลุ่มเกษตรกรรับรองกันเอง โดยกระบวนการเพาะปลูกและผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์จะต้องเป็นไปตามมาตรฐานอินทรีย์ทุกขั้นตอน โดยประเทศไทยมีศักยภาพในการผลิตข้าวอินทรีย์และมีโอกาสทางการค้าสูงมากโดยเฉพาะการส่งออก ดังนั้นหากสามารถพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับข้าวอินทรีย์ไทย เพื่อให้ผู้บริโภค คู่ค้า และตลาดต่างประเทศเกิดความมั่นใจจะเป็นอีกทางหนึ่งในการเพิ่มมูลค่าสินค้าและโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าเกษตรอินทรีย์ของไทยได้อย่างแน่นอน

นายชัยโย เตโชนิมิต นักพัฒนาระบบและผู้เชี่ยวชาญบล็อกเชน กล่าวว่า หลักการทำงานของระบบว่าเป็นการบันทึกข้อมูลตามกิจกรรมตลอดห่วงโซ่อุปทาน มีการจัดเก็บข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะใบรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ โดยมี CB เป็นผู้ยืนยันความถูกต้อง รวมถึงออกแบบระบบให้รักษาความลับทางการค้าและกำหนดสิทธิ์การเข้าถึงข้อมูลได้  รวมทั้งมีการควบคุมปริมาณผลผลิตรวม เพื่อสร้างความเชื่อมั่นว่าเป็นข้าวอินทรีย์ที่ผลิตได้จริง