ตลท.เล็งถกต่ออายุเกณฑ์'ชอร์ตเซล' ชง'กลต.’เคาะก่อน30มิ.ย.นี้

ตลท.เล็งถกต่ออายุเกณฑ์'ชอร์ตเซล'  ชง'กลต.’เคาะก่อน30มิ.ย.นี้

"ตลท." เผยต้องศึกษาข้อดี-ข้อเสียให้รอบคอบ ก่อนพิจารณาต่ออายุเกณฑ์ "ชอร์ตเซล"และ "ซิลลิ่ง- ฟลอร์"หรือไม่  พร้อมเปิด"เฮียริ่ง"ผู้เกี่ยวข้อง  ก่อนเสนอก.ล.ต.พิจารณา คาดชัดเจนก่อน 30 มิ.ย.นี้

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.)เปิดเผยถึงเกณฑ์ใหม่การขายชอร์ต (ชอร์ตเซล) และเกณฑ์ราคาเสนอซื้อขายสูงสุดและต่ำสุด(ซิลลิ่ง-ฟลอร์) ที่จะครบกำหนดการประกาศใช้ในวันที่30 มิ.ย.2563ว่า ตลาดหลักทรัพย์จะมีการต่ออายุมาตรการดังกล่าว หรือจะใช้เป็นการถาวรหรือไม่นั้น ตลาดหลักทรัพย์ จะต้องพิจาณาข้อดีและข้อเสียของมาตรการดังกล่าวก่อน หลังจากนั้นจะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง)จากทุกหน่วยงานในตลาดหุ้น และเสนอให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.)พิจารณาต่อไป คาดมีความชัดเจนก่อน 30 มิ.ย.นี้ 

“ที่ตลท.มีการปรับเกณฑ์ดังกล่าว เนื่องจากช่วงนั้นเป็นช่วงที่ภาวะตลาดผันผวนมาก จึงออกมาตรการเพื่อลดความผันผวนของตลาด ที่เกิดจากปัจจัยที่ไม่ปกติ ก.ล.ต.จึงอนุญาตให้ตลท.ประกาศใช้ได้ แต่ปัจจุบันสถานการณ์มีทิศทางดีขึ้น แต่ยังไม่ได้กลับมาปกติ ซึ่งการจะปรับเกณฑ์อะไรนั้น ก็จะต้องศึกษาข้อดีข้อเสียให้รอบคอบ” นายภากร กล่าว 

สำหรับช่วงนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกยังไม่กลับมาปกติ นักลงทุนต้องติดตามเหตุการณ์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ การแพร่ระบาดโวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ โควิด-19 ต่อไป เพื่อดูผลกระทบที่เกิดขึ้นกับทั้งบริษัทจดทะเบียน(บจ.)และดัชนีตลาดหุ้นไทย 

ทั้งนี้ จากภาวะตลาดหุ้นไทยที่ปรับตัวดีขึ้น  บริษัทที่มีแผนจะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(SET) และตลาดหลักทรัพย์เอ็มเอไอ(mai) จึงกลับมาเตรียมตัว โดยคาดว่าจะเริ่มเห็นหุ้นไอพีโอ เข้ามาจดทะเบียนได้ในช่วงไตรมาส3ปีนี้ เมื่อภาวะตลาดหุ้นไทยและสถานการณ์กลับมาดี

ส่วนกรณีที่รัฐบาลจะเริ่มผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์เฟส 2 เพื่อให้ภาคธุรกิจกลับมาเปิดกิจการได้นั้น เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้องและจำเป็น ซึ่งโจทย์สำคัญ คือ การเปิดกิจการแบบค่อยเป็นค่อยไป และต้องควบคุมไม่ให้เกิดการระบาดรอบ 2 เพื่อให้เศรษฐกิจกลับมาเดินหน้าได้

นายภากร กล่าวถึงกรณีบจ.ส่วนหนึ่งประกาศยกเลิกจ่ายเงินปันผลงวดปี2562 จากเดิมที่ประกาศจ่ายเงินปันผลว่า  เนื่องจากโควิด-19 ระบาด ทำให้บจ.บางส่วนตัดสินใจเก็บเงินสดไว้ เพื่อรักษาสภาพคล่อง เพราะมองว่าอนาคตอาจจะหาสภาพคล่องได้ยาก ซึ่งส่วนตัวมองว่าเป็นเรื่องปกติที่ทำให้บจ.เลื่อนการจ่ายปันผล หรืองดการจ่ายเงินปันผล เพราะมีเหตุการณ์วิกฤติเกิดขึ้น ส่วนบริษัทที่มีปัญหาเรื่องการจ่ายเงินต้นหรือดอกเบี้ยหุ้นกู้ ทางตลท. สำนักงานก.ล.ต. และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เข้าใจถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีการตั้งกองทุนเพื่อรักษาสภาพคล่องของการระดมทุนในตลาดตราสารหนี้ (BSF) ขึ้นมา

สำหรับไตรมาส1ปี 2563 มีนักลงทุนหน้าใหม่เปิดบัญชีซื้อขายหุ้น 59,000 บัญชี เนื่องจากนักลงทุนมองว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลง 30-40% อยู่ในระดับที่เหมาะสมที่จะเข้ามาลงทุน ซึ่งหลังจากที่ดัชนีปรับตัวลดลงแรง  สามารถฟื้นตัวกลับมาได้ภายใน1 เดือน โดยดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น 16-17%