ร.ร. หยุด 'การเรียนรู้ไม่หยุด' เสริมพัฒนาการปฐมวัยอย่างไร ในช่วงโควิด

ร.ร. หยุด 'การเรียนรู้ไม่หยุด' เสริมพัฒนาการปฐมวัยอย่างไร ในช่วงโควิด

ช่วงโควิด-19 แม้โรงเรียนปิด แต่เด็กปฐมวัยยังต้องมีการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง การจัดกิจกรรมในลักษณะ Home-Based Learning โดยออกแบบกิจกรรมร่วมกันระหว่างโรงเรียน ครู ผู้ปกครอง อย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญ ภายใต้ความพร้อมและความแตกต่างแต่ละครอบครัว

รศ. ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู อาจารย์ประจำสาขาวิชาปฐมวัยศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่า ในประเทศสิงคโปร์ ใช้ Home-Based Learning เช่นเดียวกับประเทศไทย ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้ Remote Learning หรือการศึกษาทางไกล และ ประเทศฟินแลนด์ เรียกว่า Daddy Teacher / Mommy Teacher หรือพ่อแม่มีบทบาทเป็นครูสำหรับเด็กปฐมวัย จะต้องมีการร่วมมือกันระหว่างผู้ปกครอง ช่วยส่งเสริมการเรียนรู้ที่บ้าน และโรงเรียน ครู เตรียมกิจกรรม ส่งต่อให้กับผู้ปกครอง

สำหรับการจัดโปรแกรมตามความพร้อมของผู้ปกครอง แบ่งได้ 3 ลักษณะ คือ 1. การเรียนรู้แบบออนไลน์ ในครอบครัวที่มีความพร้อม ทั้งในลักษณะ “สื่อสารทางเดียว” ครูส่งตารางกิจกรรม รายละเอียด เล่านิทานผ่านคลิป ความรู้ ให้ผู้ปกครองเป็นระยะแต่ละสัปดาห์ และผู้ปกครองถ่ายรูปชิ้นงาน อัดวิดิโอผลงานเด็กส่งกลับให้ครู หรือ “การสื่อสาร 2 ทาง” คือ การใช้ Zoom หรือ Microsoft Teams หรือ Google Hangouts นัดเวลาเจอครูและเพื่อน โดยผู้ปกครองมีส่วนร่วม

158886831653

รศ. ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู

2. การเรียนรู้แบบกึ่งออนไลน์ ผู้ปกครองอาจจะไม่มีคอมพิวเตอร์ มีแค่โทรศัพท์ หรือไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี โรงเรียนอาจมีสื่ออุปกรณ์ส่งให้ที่บ้าน หรือผู้ปกครองมารับสื่ออุปกรณ์ที่โรงเรียน คู่มือ และนำไปใช้กับเด็กที่บ้าน 2 สัปดาห์ครั้ง และสื่อสาร ส่งคลิปวิดีโอ กิจกรรม ผ่านกลุ่มไลน์

และ 3. การจัดการเรียนรู้แบบออฟไลน์ สำหรับครอบครัวที่ไม่พร้อมด้านเทคโนโลยี ครูอาจจะต้องเยี่ยมบ้าน จัดชุดอุปกรณ์ หนังสือภาพ ของเล่น สี และสร้างความเข้าใจกับผู้ปกครอง พูดคุยแนวทางการจัดกิจกรรมสำหรับเด็ก เพื่อให้เด็กสามารถเรียนรู้ช่วงนี้ได้

“ทั้งนี้ หากเด็กยากจนจริงๆ ที่ไม่มีใครดูแล อาจจะต้องมีการเปิดสถานพัฒนาเด็ก เพื่อรับเด็กเข้ามาดูแล แต่ไม่ใช่ทุกคน อาจจะสลับกันมา เพราะเด็กกลุ่มนี้ต้องการการดูแลมากที่สุด การช่วยเหลือจึงต้องมีความหลากหลายให้เหมาะกับกลุ่มเด็กแต่ละวัย” รศ.ดร. อรพรรณ กล่าว

  • ออกแบบกิจกรรมให้ตรงช่วงวัย

รศ.ดร.อรพรรณ กล่าวต่อไปว่า การออกแบบกิจกรรมปฐมวัย ต้องคำนึงถึง ด้านพัฒนาการของเด็กแต่ละช่วงวัย โดยเฉพาะ เด็กในวัย 2-3 ปี เน้นกล้ามเนื้อมัดใหญ่ การเคลื่อนไหว ขณะที่เด็กวัย 3-5 ปี เน้นเรื่องการใช้มือ กล้ามเนื้อมัดเล็ก ให้พร้อมสำหรับเขียน อาจจะให้ช่วยรดน้ำต้นไม้ จัดจาน ใส่เสื้อผ้าเอง ทุกอย่างสำหรับเด็กปฐมวัย คือการเรียนรู้

158888076763

ภาพ : น้องธาราทำกิจกรรมที่ส่งมาจากโรงเรียน

ถัดมาคือ ด้านอารมณ์และจิตใจ มีกิจกรรมผ่อนคลาย ทำงานศิลปะ ฟังนิทาน เล่นบทบาทสมมุติ เพื่อลดความเบื่อหน่าย ด้านสังคม พัฒนาด้านการปฏิสัมพันธ์ สื่อสาร พูดคุยกับเพื่อนร่วมวัย ญาติพี่น้อง นัดเวลากลุ่มผู้ปกครองเพื่อให้เด็กได้เจอเพื่อนบ้าง ด้านการสร้างการจัดการเรียนรู้เน้นการดำรงชีวิตภายในบ้าน เป็นโอกาสที่ดี ให้เด็กเรียนรู้ทักษะชีวิต ดูแลตัวเอง ทำความสะอาดร่างกาย แต่งตัว รับผิดชอบกิจกรรมในชีวิตประจำวัน ทำอาหาร ล้างจาน แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า ฯลฯ

นอกจากนี้ ยังมีในเรื่องของ การจัดประสบการณ์การเรียนรู้เชื่อมโยงกับหลักสูตรของโรงเรียน สร้างทักษะการเรียนรู้ด้านภาษา และการสื่อสาร ฟังพูดอ่านเขียนตามวัย การที่ผู้ปกครองได้อ่านนิทาน ถ่ายทอดความคิดร่วมกับเด็ก จะได้ประโยชน์อัตโนมัติและธรรมชาติ รวมไปถึง กิจกรรมทางด้านวิทยาศาสตร์ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวิทยาศาสตร์ เช่น สสวท. สวทช. จะมีกิจกรรมง่ายๆ ให้ทดลองผ่านทางเว็บไซต์ ผู้ปกครองสามารถค้นหาเพื่อทำกิจกรรมง่ายๆ ที่บ้านได้

คณิตศาสตร์ในชีวิตประจำวัน เช่น การทำอาหาร การตวง ใส่ส่วนประกอบเท่าไหร่ เรื่องของ STEM Education ใช้เครื่องมือง่ายๆ เช่น อุปกรณ์ประกอบอาหาร เรียนรู้เกี่ยวกับเครื่องมือต่างๆ และ ออกแบบเรื่องของการแก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน การให้เด็กออกแบบ ประดิษฐ์สิ่งของเพื่อมาใช้ในสถานการณ์ปัจจุบัน สร้างประสบการณ์ที่เป็นจุดมุ่งหมายเฉพาะ เช่น สถานการณ์โควิด คือ การให้ความรู้เรื่องสุขภาพ ล้างมือ เว้นระยะห่างทางสังคม กินอาหาร พักผ่อน ออกกำลังกาย เรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์ธรรมชาติ รู้ดิจิทัล การใช้เทคโนโลยีอย่างเหมาะสม และ รู้เศรษฐศาสตร์ บางครอบครัวอาจตกงาน และต้องมีอาชีพเสริม อาจให้เด็กมีส่วนช่วยเพื่อเรียนรู้การออม

158888062234

  • 7 ข้อสำคัญพ่อแม่เตรียมความพร้อม

รศ.ดร. อรพรรณ กล่าวต่อไปว่า สำหรับการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครอง ได้แก่ 1. ผู้ปกครองต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง จัดสรรเวลา ทั้ง Work from Home และดูแลลูก โดยครูให้คำแนะนำ เพื่อให้ผู้ปกครองส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูกอย่างตรงจุด สิ่งที่สำคัญ คือ พ่อแม่ได้เห็นพัฒนาการลูก วิเคราะห์ร่วมกับครู เพื่อจัดกิจกรรมที่ตรงกับเด็กมากขึ้น

2. เตรียมความพร้อมของเด็ก ต้องมีการกำหนดชัดเจน เพื่อให้เด็กมีโครงสร้างทางเวลา ไม่ต้องปรับตัวมากเมื่อต้องเปิดเทอม ดังนั้น ต้องทำตารางเวลา เวลาเรียน รับประทานอาหาร ฝึกวินัย ความรับผิดชอบ 3. ข้อตกลงภายในบ้านที่ชัดเจน ต้องพูดคุยกับเด็กเรื่องเวลาเล่นที่ชัดเจน มีเวลาปล่อยเล่นอิสระ และข้อตกลงหลังจากเล่นเสร็จต้องเก็บ สร้างวินัยโดยอัตโนมัติ

4. เตรียมเวลา โรงเรียนอาจจะยืดหยุ่นกิจกรรมให้ที่บ้านเป็นรายสัปดาห์ ไม่ใช่รายวัน เพื่อให้ครอบครัวสามารถจัดตารางเวลาได้ 5. พื้นที่การเรียนรู้ จัดพื้นที่ให้เด็กได้เล่น หากบ้านไหนไม่มีพื้นที่กว้าง อาจจะจัดเวลา เปลี่ยนอุปกรณ์ให้ทุกอย่างมีความชัดเจน ทั้งพื้นที่เพื่อการเคลื่อนไหวเสียงดัง พื้นที่สงบ พื้นที่นอกบ้าน หากมีการจัดพื้นที่อย่างเหมาะสม เด็กจะมีการเรียนรู้อย่างหลากหลาย 6. การเตรียมอุปกรณ์ เช่น หนังสือภาพ หากบ้านที่ไม่มี ครูต้องเตรียมอุปกรณ์ เพื่อให้เด็กได้ทำกิจกรรมที่บ้าน วางกิจกรรมว่าเด็กต้องทำอะไรบ้าง ให้ผู้ปกครองได้ทำกับเด็ก และติดตามเยี่ยมบ้าน 7. การติดต่อสื่อสารทางออนไลน์ อุปกรณ์อาจจะต้องมีความพร้อม หากไม่พร้อมต้องมีความช่วยเหลือจากทางโรงเรียน

158888066654

ภาพ  : ครอบครัวคุณแม่เนรัญชรา และ คุณพ่อสารัฑ

  • หลักการออกแบบการเรียนรู้

สำหรับหลักในการออกแบบการเรียนรู้ที่สำคัญสำหรับเด็กปฐมวัย รศ.ดร.อรพรรณ อธิบายว่า สิ่งแรกคือ เข้าใจธรรมชาติการเรียนรู้ของเด็ก เด็กเล็กเรียนรู้ผ่านการเรียน ปฏิบัติ ปฏิสัมพันธ์ผ่านสิ่งรอบตัว ไม่ใช่การเขียนหนังสือ หรือหน้าจอคอมพิวเตอร์ 2. คำนึงถึงเด็กรายบุคคล ซึ่งเป็นโอกาสที่ผู้ปกครองส่งเสริมการเรียนรู้ให้กับลูก ส่งเสริม เข้าใจ ส่งเสริมจุดแข็ง แก้ไขจุดอ่อน ร่วมกับครู 3. การเรียนรู้องค์รวม ทั้งร่างกาย อารมณ์ สังคม สติปัญญา เด็กเล็กไม่ใช่มุ่งวิชาการอย่างเดียว ต้องควบคุมอารมณ์เป็น มีปฏิสัมพันธ์ อารมณ์ดี มีวินัย ร่างกายแข็งแรง ให้เด็กใช้มือเยอะๆ เช่น ปั้นดินน้ำมัน เพื่อพร้อมสำหรับการหัดเขียน

4. การติดตามประเมินพัฒนาการร่วมกับผู้ปกครอง เก็บร่องรอยการเรียนรู้ ทั้งการเก็บผลงานกิจกรรมผ่านระบบออนไลน์ หรือ แฟ้มงาน วาดภาพ ปะติดกระดาษ ผ่านระบบออฟไลน์ บันทึกคำถาม คำพูดของเด็ก เพื่อเก็บร่องรอยพัฒนาการด้านภาษา หรือครูมีรายงานการประเมินให้ผู้ปกครอง ให้ผู้ปกครองสังเกตและพัฒนาลูกได้ถูกจุด 5. ความยืดหยุ่น เหมาะกับความพร้อมของเด็กและครอบครัว โดยหลังจากนี้ หากต้องไปโรงเรียนหรือหยุดต่อเนื่อง ต้องประเมินสถานการณ์ว่าต้องทำอย่างไรต่อไปบ้าง”

6. ความร่วมมือครูกับผู้ปกครอง ต้องทำให้ผู้ปกครองเกิดความมั่นใจในการส่งเสริมการเรียนรู้เด็กที่บ้าน ครูมีการส่งเสริม สื่อสาร แนะนำ แก่ผู้ปกครอง 7. ประสบการณ์ที่หลากหลาย เพราะเด็กเรียนรู้ผ่านการปฏิบัติ กิจกรรมต้องหลากหลาย ฟังนิทาน ร้องเพลง ทดลอง สร้างชิ้นงาน ฯลฯ ทำให้เด็กมีความสุข สนใจใฝ่รู้ และ 8. สื่ออุปกรณ์ ของเล่น และเทคโนโลยีเหมาะสมกับวัย ใช้แบบมีจุดมุ่งหมาย ซึ่งขึ้นอยู่กับความพร้อมของครอบครัว ในครอบครัวที่ไม่พร้อมต้องมีการช่วยเหลือเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ได้”

158888073172

รศ. ดร.อรพรรณ กล่าวเสริมว่า เด็กปฐมวัย อาจไม่ใช่มีแค่เด็กปกติ แต่อาจจะมีเด็กพิการ เด็กยากจน เด็กต่างด้าว ซึ่งต้องช่วยเหลือเป็นลักษณะเฉพาะของแต่ละกลุ่ม นอกจากโรงเรียนแล้ว รัฐบาล และชุมชน ต้องมีส่วนร่วมกับการช่วยเหลือดูแล และไม่ใช่แค่เด็กอย่างเดียว ด้านผู้ปกครอง อาจจะถูกเลิกจ้าง หรือต้องออกไปทำงาน แต่เด็กต้องอยู่บ้าน โรงเรียนอาจต้องเปิดรับเด็กที่ผู้ปกครองดูแลไม่ได้ ไปอยู่ที่โรงเรียน และอีกกลุ่มคือเด็กที่อยู่กับ ปู่ย่าตายาย ต้องช่วยปู่ย่าตายายในการจัดกิจกรรมร่วมกัน

“สุดท้าย คือ ความพร้อมของเทคโนโลยี หากโรงเรียนจะใช้สื่อออนไลน์ ควรสำรวจความพร้อมก่อนว่าแต่ละบ้านพร้อมหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างไร เพื่อให้การจัดการเรียนรู้ในช่วงนี้มีประสิทธิภาพ” รศ.ดร.อรพรรณ กล่าวทิ้งท้าย

  • New Normal เด็กปฐมวัย  

รศ. ดร.อรพรรณ บุตรกตัญญู อธิบายว่า New Normal หรือความปกติใหม่ของเด็กในช่วงปฐมวัย ต้องมีการรักษาสุขภาพอนามัยส่วนตัวมากขึ้น เพราะตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าจะควบคุมเชื้อได้ในลักษณะไหน และการแพร่เชื้อจะเป็นอย่างไรได้บ้าง ต้องให้เด็กล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะในสถานการณ์ที่ต้องใช้สถานที่ อุปกรณ์ร่วมกับผู้อื่น ให้เด็กฝึกการสวมหน้ากากอนามัย

ทั้งนี้ ในเด็กสิ่งที่ต้องคำนึงถึง คือ ตั้งแต่ 3 ปีขึ้นไป สามารถให้สวมหน้ากากอนามัยได้ แต่หากต่ำกว่า 3 ปี อาจจะต้องมองเป็นรายบุคคล ว่าเขาสามารถบอกได้หรือไม่ว่าอึดอัด หากอึดอัดเขาต้องถอดได้เอง ดังนั้น เด็กที่เล็กมากๆ จะไม่สามารถใส่ได้ ต้องป้องกันด้วยวิธีอื่น อีกส่วนที่สำคัญ คือ การจัดของเล่นของใช้ ของส่วนตัวต้องสะอาด แต่หากเป็นของที่โรงเรียน ของเล่น หนังสือ ที่ยืมมาจากโรงเรียน โรงเรียนต้องมีการทำความสะอาด หากกรณีโรงเรียนเปิด เรื่องการตรวจคัดกรอง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย ส่วนเครื่องแต่งกาย ใส่รองเท้ากันแพร่เชื้อ ต้องคำนึงเรื่องไม่ให้เกิดการแพร่เชื้อมากที่สุด บางทีเด็กไม่ได้เป็น แต่เขาเป็นพาหะได้

“นอกจากนี้ ในเรื่องของการเว้นระยะห่างทางสังคม ต้องหาวิธีการเล่นที่ให้เด็กเล่นห่างๆ กัน หากต้องเปิดเทอม หรือเล่นกับเพื่อนในหมู่บ้าน ก็ต้องรักษาระยะห่าง ต้องมีวิธีการเล่น อาจจะต้องเล่นคนเดียว มีพื้นที่ในการเล่น เรียนรู้เฉพาะรายบุคคล หรือที่โรงเรียนหากต้องเรียนรู้ร่วมกัน ต้องมีสื่อการสอนขนาดใหญ่ เพื่อให้มีพื้นที่ระยะห่าง โรงเรียนต้องเตรียมสิ่งเหล่านี้ไว้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย เพราะยังไม่มีวัคซีนที่ป้องกันได้”  

158887993952