เปิดเกณฑ์จ่ายเยียวยา 5,000 ชาวสวนยางได้ทั้งเจ้าของ-คนกรีด ชาวนาได้เฉพาะหัวหน้าครอบครัว

เปิดเกณฑ์จ่ายเยียวยา 5,000 ชาวสวนยางได้ทั้งเจ้าของ-คนกรีด ชาวนาได้เฉพาะหัวหน้าครอบครัว

กระทรวงเกษตรฯเร่งตรวจสอบทะเบียน ชี้ชาวสวนยาง แรงงานกรีด ได้รับ5,000 บาท ขณะที่ชาวนาจ่ายเฉพาะหัวหน้าครอบครัว แนะเกษตรยืนยันตนหวั่นตกหล่น

นายอนันต์ สุวรรณรัตน์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบทะเบียนเกษตรกรเพื่อความถูกต้องและไม่ซ้ำซ้อน ภายใต้โจทย์ ต้องไม่เกิน 10 ล้านครัวเรือน วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 พ.ค. นี้ เพื่อจะสามารถโอนเงินให้เกษตรกรในงวดแรกได้ในเดือนพ.ค.

แหล่งข่าวจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ขั้นตอนการดำเนินมาตรการเยียวยาเกษตรกรผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 ขณะนี้กระทรวงเกษตรกำลังเร่งตรวจสอบสิทธิ์ ของผู้ที่จะได้รับเงินเยียวยา หลังคณะรัฐมนตรี(ครม.) อนุมัติหลักการให้เงินช่วยเหลือเกษตรกร เพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้น ภายใต้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาทโดย นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯได้ เชิญกระทรวงการคลังในฐานะหน่วยที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรชาวไร่ยาสูบ กระทรวงอุตสาหกรรม ที่ถือทะเบียนชาวไร่อ้อย และหน่วยงานที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรในสังกัดกระทรวงเกษตรฯมาหารือและสั่งการ เพื่อให้เกิดความเรียบร้อย ลดความซ้ำซ้อนของทะเบียนเกษตรกร

เบื้องต้น มีเกษตรกรทั้งหมดทุกประเภทมีทั้งหมดเกือบ 13 ล้านทะเบียน ซึ่ง ยังไม่รวมเกษตรกรที่ยังไม่เคยลงทะเบียน แต่กระทรวงเกษตรฯเปิดให้ยืนยันสิทธิ์โดยให้ลงทะเบียนใหม่ได้ ภายใน 15 พ.ค. ขณะนี้มีผู้มาลงทะเบียนเพิ่มจากทั่วประเทศจำนวนมากกว่า 1 แสนรายต่อวันทำให้ ทำให้ทะเบียนเกษตรกรเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง

สำหรับคุณสมบัติของเกษตรกรที่จะได้รับเงินเยียวยา จะเป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนกับกรมส่งเสริมการเกษตร ที่มีเล่มทะเบียน ทบก. แต่การลงทะเบียนของเกษตรกร ที่ผ่านมา ชาวนา จะลงทะเบียนเป็น ครัวเรือน หมายถึงครัวเรือนเกษตรกร ผู้ที่ถือ ทบก.จะเป็นหัวหน้าครอบครัว ไม่รวมสมาชิกในบ้าน ในส่วนนี้จะจ่ายเฉพาะหัวหน้าครัวเรือน เท่านั้น

ส่วนเกษตรกรผู้ปลูกพืชอื่น ได้แก่ชาวไร่ยาสูบ ปลูกหม่อน ไร่อ้อย ที่ผ่านมาลงทะเบียนเป็นราย กลุ่มนี้จะจ่ายเฉพาะหัวหน้าครัวเรือน เช่นเดียวกับกลุ่มชาวนา ส่วนเกษตรกรชาวสวนยาง ที่ลงทะเบียนไว้กับ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) จะได้รับเงินเยียวยาทั้ง ชาวสวน ผู้เช่า คนกรีดยาง และกลุ่มที่ทำสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รวม ประมาณ 1.8 ล้านราย

โดยการลงทะเบียนของชาวสวนยาง จะนับเป็นราย ซึ่งหนึ่งครัวเรือนมีการลงทะเบียนหลายคน กลุ่มนี้จะได้รับเงินเยียวยาทั้งหมด สำหรับ ผู้ที่มี ทบก. และเป็นหัวหน้าครอบครัว มีเอกสารสิทธิ์ แต่เป็นข้าราชการบำนาญ ที่มีรายได้ประจำ กลุ่มที่ทำงานในระบบประกันสังคม ทำงานเอกชน จำนวนมากที่ขึ้นทะเบียน ทบก. 2 กลุ่มนี้จะไม่ได้รับเงินเยียวยา แม้จะเป็นเกษตรกรตัวจริงก็ตาม เพราะถือเป็นอาชีพอื่น

ทั้งหมดนี้ ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯจะส่งให้กระทรวงการคลังภายในสัปดาห์หน้า เพื่อคัดกรองซ้ำอีกครั้ง

 นายเข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า เกษตรกรที่เคยขึ้นทะเบียนให้เร่งไปดำเนินการตรวจสอบจากต้นสังกัดก่อนว่า ฐานะของทะเบียนเกษตรกรขณะนี้เป็นอย่างไร เพื่อป้องกันการตกหล่น เพราะขั้นตอนการคัดเลือกเกษตรกรขณะนี้เกือบสมบูรณ์แล้ว

 ล่าสุด กรมส่งเสริมการเกษตร นำข้อมูลทะเบียนเกษตรกรหน่วยงานอื่นกับมาซ้อนกับทะเบียนเกษตรกรของกรมส่งเสริมการเกษตร(ทบก.)ปี 2562-63 แยกหัวหน้าครัวเรือน 6.196 ล้านครัวเรือน สมาชิก 10.136 ล้านครัวเรือน จากก่อนการตรวจความซ้ำซ้อน มีเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนทั้งหมด 2.239 ล้านราย แบ่งเป็น ทะเบียนเกษตรกรที่พบเลขประจำตัวประชาชน 1.83 ล้านราย ในจำนวนนี้เป็นหัวหน้าครอบครัว 1.354 ล้านราย เป็นสมาชิก 4.76 แสนราย ในจำนวนนี้ไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 4.09 แสนราย และยังมีทะเบียนของกรมปศุสัตว์ จำนวน 2.69 ล้านราย กรมประมง 4.36 แสนราย

 

สำหรับทะเบียนยางพารา จากการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) มีเกษตรกรลงทะเบียน 1.756 ล้านราย ในจำนวนนี้ เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 1.478 ล้านราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 1.114 ล้านราย เป็นสมาชิก 3.63 ล้านราย ในจำนวนทั้งหมดไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 2.781 แสนราย .ทะเบียนชาวไร่อ้อย จากสำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย จำนวน 4.384 แสนราย เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3.135 แสนราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 2.181 แสนราย เป็นสมาชิก 9.54 หมื่นราย

ทะเบียนชาวไร่ยาสูบ จากการยาสูบแห่งประเทศไทย มี 3.35 หมื่นราย เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3.06 หมื่นราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 2.01 หมื่นราย เป็นสมาชิก 1.04 หมื่นราย ในจำนวนทั้งหมดไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 2,943 ราย และกรมหม่อนไหม มี 3.96 หมื่นราย เป็นทะเบียนเกษตรกรที่มีเลขที่บัตรประจำตัวประชาชน 3.51 หมื่นราย แบ่งเป็นหัวหน้าครอบครัว 2.01 หมื่นราย เป็นสมาชิก 1.15 หมื่นราย ในจำนวนทั้งหมดไม่พบเลขที่บัตรประชาชน 4,430 ราย