‘แบงก์ชาติสิงคโปร์’ ชี้ โควิดสร้างภาวะเงินฝืดในรอบ 20 ปี

‘แบงก์ชาติสิงคโปร์’ ชี้ โควิดสร้างภาวะเงินฝืดในรอบ 20 ปี

“แบงก์ชาติสิงคโปร์” ส่งสัญญาณโควิดสร้างภาวะเงินฝืดครั้งแรกในรอบ 20 ปี ฉุดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงกว่าคิดไว้

ธนาคารกลางสิงคโปร์ ระบุในรายงานทบทวนเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจสิงคโปร์น่าจะถดถอยรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้ เนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ซึ่งยืดเยื้อมาพอสมควรแล้วนั้น น่าจะทำให้ทั่วโลกฟื้นตัวได้ยากนอกเหนือจากโควิด-19 แล้ว 

แบงก์ชาติสิงคโปร์ยังกล่าวถึงผลกระทบจากสงครามราคาน้ำมัน  ซึ่งส่งผลให้ราคาน้ำมันดิ่งลงอย่างหนักด้วย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันนั้นคิดเป็นสัดส่วน 4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของสิงคโปร์

รายงานดังกล่าวระบุว่า ระดับความรุนแรงของปัจจัยขาลงนั้นยังไม่แน่นอน และเมื่อปัจจัยขาลงเหล่านี้เกิดขึ้นจริงแล้ว เศรษฐกิจของสิงคโปร์ก็น่าจะถดถอยลงรุนแรงกว่าที่เคยคาดการณ์ไว้

แบงก์ชาติสิงคโปร์ คาดการณ์ด้วยว่า จีดีพี สิงคโปร์จะหดตัวลงกว่าเดิมในไตรมาส 2 ปีนี้ อันเป็นผลจากความรุนแรงของการแพร่ระบาดในประเทศคู่ค้ารายใหญ่ ๆ รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดในสิงคโปร์เอง

นอกจากนี้ สิงคโปร์ยังส่งสัญญาณภาวะเงินฝืดเป็นครั้งแรกในรอบเกือบ 20 ปีด้วย อันเป็นผลจากการปรับตัวลงของค่าจ้าง ขณะที่อัตราว่างงานมีแนวโน้มสูงขึ้น ทั้งนี้ กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมสิงคโปร์ (เอ็มทีไอ) ได้คาดการณ์การขยายตัวของจีดีพี ปี 2563 ไว้ที่ระดับ -4.0% ถึง -1.0% ซึ่งเป็นการปรับลดตัวเลขคาดการณ์เป็นครั้งที่สองนับตั้งแต่เดือนก.พ.ปีนี้ ที่รัฐบาลสิงคโปร์ประกาศลดคาดการณ์ตัวเลขจีดีพี ก่อนหน้านั้น

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 17 ก.พ. กระทรวงฯ ได้ปรับลดคาดการณ์การขยายตัวของจีดีพี ในปี 2563 ลงสู่ระดับ -0.5% ถึง 1.5% จากตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ระดับ 0.5% ถึง 2.5% อันเนื่องมาจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ที่แพร่ระบาด