อดีตรัฐมนตรีคลัง เสนอทางออก 'วิกฤติโควิด' ​และปัญหาเศรษฐกิจ​

อดีตรัฐมนตรีคลัง เสนอทางออก 'วิกฤติโควิด' ​และปัญหาเศรษฐกิจ​

ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช อดีตรัฐมนตรีคลัง เสนอทางออกวิกฤติโรคระบาดโควิด​และปัญหาเศรษฐกิจ​ ชี้การสั่งปิดร้าน​ หยุดทำงานไปเรื่อยๆ ​โดยไม่ให้เงินชดเชยไว้ก่อน​ ถือเป็นข้อผิดพลาด

วันนี้ (19 เม.ย.) ​ศ.ดร.สุชาติ​ ธา​ดา​ธำ​รง​เวช​ อดีตรมว.คลัง​ เสนอ​ข้อแท้จริงและทางออกจากวิกฤติ​โรคระบาดโควิด​-19 ว่า เราต้องมองว่าประเทศไทยยังเป็นประเทศยากจน​ ที่ผ่านมา​ 5 ปี​รัฐบาลบริหารประเทศ มุ่งเน้นดูแลทรัพย์สิน​และรายได้คนรวย​ ทำให้มีคนยากจนเพิ่ม จาก​เดิม ในปี 2548 มีคนจน 4.8 ล้านคน แต่ปี 2562 เพิ่มขึ้นอีก 2 ล้านคน รวมเป็น 6.8 ล้านคน ประชาชนไทย​จำนวนมาก​ยังต้องหาเช้ากินค่ำ​ หากหยุดทำงานเพียง 2-3​ วัน​ เงินก็แทบหมดลงแล้ว​ ข้อแท้จริงอันนี้รัฐบาลไม่ได้ประเมินไว้​

การสั่งปิดร้าน​ หยุดทำงานไปเรื่อยๆ ​โดยไม่ให้เงินชดเชยรายได้ไว้ก่อน​ จึงเป็นวิธีการที่ผิดพลาดมาก​ ทำให้คนต้องกลับบ้านเกิดในต่างจังหวัด​เพราะอยู่ในกรุงเทพฯก็ไม่มีกิน ไม่มีค่าเช่าบ้าน​ทำให้เสี่ยงการระบาดของโรคมากขึ้น​ การสั่งให้ประชาชนหยุดทำงานนานๆ​จึงทำให้เกิดความเดือดร้อนทั้งกายและใจ​อย่างมาก​ หลายคนคิดทำร้ายตัวเอง​เพราะไม่มีทางออก​ พอรัฐบาลประกาศจะจ่ายเงินชดเชยเดือนละ​ 5,000​ บาท​ จำนวน 3 เดือน​​ ก็เป็นเหมือนขอนไม้ที่ลอยมา​ ในขณะที่กำลังจะจมน้ำ​ จึงมีเหตุการณ์เรียกร้องที่กระทรวงการคลัง​แต่เงินที่จะจ่ายก็ไม่ครอบคลุมไม่ทั่วถึง​คนที่เดือดร้อน และหลักเกณฑ์​ก็ไม่ยุติธรรม ​รัฐบาลมีเป้าหมายจ่ายให้เพียง​ 9​ ล้านคน​ แต่ผู้เดือดร้อนลงทะเบียนมากกว่า​ 27​ล้านคน​ จึงมีคนไม่ได้เงิน​นี้เป็นจำนวนมาก

เราเป็นประเทศยากจน​ไม่สามารถพิมพ์เงินได้เอง​แล้วใช้ได้ทั่วโลก​ รัฐบาลจึงต้องให้น้ำหนัก​ที่เหมาะสมระหว่างการขจัดโรคระบาด​กับการทำมาหากินของประชาชน​ส่วนใหญ่

ศ.ดร.สุชาติ กล่าวว่าในส่วนคณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรสาธารณสุข​ไทย​ก็ทำหน้าที่ได้ยอดเยี่ยม​ สามารถหยุดชะลอโรคระบาดนี้ได้​ดีมาก​ คนป่วย คนเสียชีวิตมีจำนวนน้อย​เป็นที่ชื่นชมโดยองค์กร​ต่างๆ​ ทั่วโลก ดังนั้น รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้​ เปิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ​บางส่วน​ ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการมีประชาชนจำนวนมากๆ​ มาชุมนุมกัน เพื่อให้ประชาชนได้ทำมาหากิน​ โดยสามารถดำเนินไปพร้อมกับมาตรการ​ลดโรคระบาด​ก็คือ​ ใส่หน้ากากเมื่อออกนอกบ้าน​ ล้างมือ​ แยกช้อนแยกจาน​รักษาความสะอาด รักษาระยะห่างในสังคม​ (Social Distancing) กันคนสูงอายุและคนมีโรคประจำตัวออกห่างจากเด็กและหนุ่มสาว​ พยายามอยู่บ้านให้มากที่สุด และ​ที่ยังช้าอยู่คือการรีบตรวจหาผู้ติดเชื้อให้เร็วและมาก​ แล้วแยกมารักษา

"ร้านค้าต่างๆ ร้านอาหาร ร้านนตัดผม สามารถเปิดได้ นั่งทานอาหารแบบรักษาระยะห่างได้ โดยให้ทำมาตรการทางสาธารณสุขที่กำหนดไว้ การดำเนินการคู่ขนานกันไป​ในการดูแลสุขภาพ กับการดูแลรายได้และฐานะประชาชนทางเศรษฐกิจ​จะเป็นหนทางที่ดีสุด​ใน​การดูแลประเทศในยามนี้​ จะทำให้ประเทศและประชาชนไทย​ ไม่จมลึกเกินความจำเป็น สามารถฟื้นได้เร็วกว่า​และมีโอกาสที่มาก​กว่า​ เทียบกับหลายประเทศในโลก" ศ.ดร.สุชาติ​ กล่าว