‘รายย่อย’เทรดคึก ดันวอลุ่มพุ่งแตะ'7หมื่นล้าน'ต่อวัน

‘รายย่อย’เทรดคึก ดันวอลุ่มพุ่งแตะ'7หมื่นล้าน'ต่อวัน

โบรกเกอร์ เผย “รายย่อย” หวนคืนตลาดหุ้น ส่งผลวอลุ่มเทรดคึกคัก โดยช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยต่อวันสูงถึง 7 หมื่นล้าน ขณะ สัดส่วนรายย่อยเพิ่มแตะ 48% จากต้นปีเฉลี่ยเพียง 34% “มนตรี” ชี้ผลจาก ตลท. ปรับเกณฑ์ชอร์ตเซล ลดแรงกดดันหุ้นผันผวน

นายมนตรี ศรไพศาล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์(บล.) เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) หรือ MBKET เปิดเผยว่า มูลค่าการซื้อขายหลักทรัยพ์ในช่วง 1-2 เดือนนี้ ปรับขึ้นค่อนข้างสูง เฉลี่ยราว  7 หมื่นล้านบาทต่อวัน  เนื่องจากดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงแรงในช่วงที่ผ่านมา ทำให้นักลงทุนที่ถือเงินสดกลับเข้ามาลงทุนโดยเฉพาะนักลงบุคคลในประเทศ เข้ามาซื้อขายมากขึ้น รวมถึงกรณีที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)ปรับปรุงเกณฑ์ชอร์ตเซลชั่วคราว ที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่13 มี.ค.2563 และไม่เกินวันที่ 30 มิ.ย.2563 จากเดิมที่กำหนดให้สมาชิกจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เป็นจะขายชอร์ตได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย (last trading price) เท่านั้น ซึ่งช่วยลดแรงกดดันทำให้ตลาดเคลื่อนไหวในทิศทางไร้เหตุผลหรือไม่มีปัจจัยพื้นรองรับ

สำหรับสัดส่วนการซื้อขายของนักลงทุนบุคคลในประเทศช่วงเดือนเม.ย.นี้ คิดเป็นสัดส่วนราว 47-48% เพิ่มขึ้นจากเดือนมี.ค.อยู่ที่ 42% และเพิ่มขึ้นจากเดือนก.พ.ที่ 35% และเดือนม.ค.อยู่ที่ 34%  โดยส่วนตัวมองว่าหากจะมีการปรับเปลี่ยนเกณฑ์ชอร์ตเซลที่บังคับใช้ในปัจจุบัน ตลท. ควรรับฟังความคิดเห็น(เฮียริ่ง)จากนักลงทุนทุกกลุ่ม รวมถึงบริษัทจดทะเบียน เพราะในอดีตเกณฑ์ชอร์ตเซลได้เฉพาะในราคาที่สูงกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้าย ซึ่งส่วนตัวมองเป็นเกณฑ์ที่ดีช่วยลดแรงกดดันตลาดหุ้นได้ส่วนหนึ่งและทำให้นักลงทุนบุคคลในประเทศกล้ากลับมาซื้อขายมากขึ้น หลังจากที่ในปีที่ผ่านมาสัดส่วนการซื้อขายนักลงทุนบุคคลปีที่ผ่านมาเฉลี่ย34% ในเดือนพ.ย.ธ.ค.เหลือเพียงเฉลี่ยเดือนละ30% เฉลี่ยบางวันลดลงเหลือเพียง29%

"ช่วงหนึ่งนักลงทุนรายย่อยหายออกไปจากตลาด เพราะหลายครั้งที่มีปัจจัยสนับสนุนให้ดัชนีควรขึ้นแต่กลับปรับตัวลดลงโดยไม่มีเหตุผล ซึ่งจากที่ตลท.และสมาคมโบรกฯได้หารือช่วงกลางมี.ค. นอกจากห้าม แนคเก็ต ชอร์ต แล้วมีการปรับเกณฑ์ชอร์ตเซลที่ให้ขายชอร์ตได้ในราคาที่ไม่ต่ำกว่าราคาซื้อขายครั้งสุดท้ายทำให้ แรงกดดันพิเศษ  ซึ่งนักลงทุนHigh Frequency Tradingเขาเทรดได้2ขา ทั้งขาขึ้นขาลง ทำให้ตลาดผันผวนไร้เหตุผล พอปรับเกณฑ์ชอร์ตเซลนั้นช่วยลดแรงกดดันHigh Frequencyที่เป็นลักษณะเอาปรียบนักลงทุนบุคคลได้ได้1ขา ทำให้รายย่อยกลับมาเก็งกำไรมากขึ้น"

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (ประเทศไทย) กล่าวว่า มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เดือนนี้ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น เพราะนักลงทุนบุคคลกลับมาซื้อขายมากขึ้นโดยเดือนนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 48% แต่บางวันสัดส่วนซื้อขายนักลงทุนบุคคลปรับตัวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ระดับ51% ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เพราะอยากเห็นสัดส่วนนักลงทุนบุคคลกลับมาอยู่ในระดับเหมือนในอดีต โดยสัดส่วนที่เหมาะสมควรอยู่ที่ระดับ50% ซึ่งหากเกณฑ์ชอร์ตเซลที่อนุญาตให้ทำได้เฉพาะที่last trading price มีส่วนช่วยทำให้รายย่อยเข้ามาซื้อขายมากขึ้น เป็นสิ่งที่ควรพิจารณาใช้เป็นมาตรการถาวร

ความเคลื่อนไหวตลาดหุ้นไทย วานนี้ (17 เม.ย.) ปิดที่ 1,239.24 เพิ่มขึ้น 39.09 หรือ 3.26% ด้วยมูลค่าการซื้อขาย 5.89 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มอุตสาหกรรมที่หนุนตลาดขึ้นสูงสุด คือ กลุ่มขนส่ง ช่วยดันตลาด 7.4 จากแรงหนุนของ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) ซึ่งเพิ่มขึ้น 8.33% ปิดที่ 58.50 บาท รองลงมาคือกลุ่มพลังงาน ช่วยดันตลาด 6.7 จากการเพิ่มขึ้นของ บมจ.ปตท.(PTT) เพิ่มขึ้น 3.01% ปิดที่ 34.25 บาท

ทั้งนี้ ตลาดหุ้นไทยและภูมิภาคเปิดในแดนบวกด้วยปัจจัยบวกสําคัญเกี่ยวกับความ คืบหน้าของยา Remdesivir ที่ผลิตโดยบริษัท Gilead Sciences ของสหรัฐฯ มีผลออกมาเป็นบวกต่อ การรักษาผู้ป่วยจากไวรัสโควิด-19 รวมถึงการตอบรับแผนการเปิดเมืองของสหรัฐฯ แม้ว่า GDP ของ จีนที่ประกาศมาเช้านี้หดตัว 6.8% ติดลบครั้งแรกในรอบหลายปี