'เราไม่ทิ้งกัน' จริงหรือ!? เสียงจากคน 'เช็คสถานะเงินเยียวยา' แล้วไม่มีสิทธิ

'เราไม่ทิ้งกัน' จริงหรือ!? เสียงจากคน 'เช็คสถานะเงินเยียวยา' แล้วไม่มีสิทธิ

เสียงสะท้อนจาก คนถูกตัดสิทธิ์ จาก "เราไม่ทิ้งกัน" พร้อมทั้งคำถามถึงการ "เช็คสถานะเงินเยียวยา" ที่ยังเต็มไปด้วยความสงสัย

นอกจากกลุ่มผ่านเกณฑ์รับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน กว่า 1.68 ล้านคน จากการคัดกรองทั้ง 7.99 ล้านรายในช่วงที่ผ่านมา ประเด็นหลักๆ ดูเหมือนจะอยู่ที่ กลุ่มคนที่ เช็คสถานะเงินเยียวยา แล้วพบว่าตนเอง ไม่มีสิทธิ์ ที่มีอยู่ราว 4.78 ล้านคน โดยเหตุผลหลักๆ ของการไม่ได้รับสิทธิ์นั้นอยู่ที่ การเป็นเกษตรกร ที่รัฐบาลกำลังจะออกมาตรการช่วยเหลือผู้เดือดร้อนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ กับกลุ่มที่ถูกจัดหมวดว่า ไม่ได้รับผลกระทบ ซึ่งสร้างความสับสน จนเกิดคำถามถึงระบบคัดกรองของ เราไม่ทิ้งกัน ว่ามีประสิทธิภาพ และมีการตรวจสอบอย่างครอบคลุม และเป็นธรรมหรือไม่ ตามม

ทีมข่าวกรุงเทพธุรกิจออนไลน์ ได้ลองทำการสำรวจความเห็นจากผู้คนถึงรูปแบบการดำเนินการ รวมทั้งข้อสังเกตจากผู้ที่เข้าไปลงทะเบียนจาก เพจกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา พบว่า ส่วนใหญ่รู้สึกไม่ค่อยพอใจ และค่อนข้างเสียความรู้สึกกับระบบคัดกรองของ เราไม่ทิ้งกัน โดยเฉพาะการตรวจสอบสิทธิ์ และเช็คสถานะเงินเยียวยานั้น ยังเต็มไปด้วยความไม่ชัดเจน และอยากได้คำอธิบายจากเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นกับพวกเขา

158676823712

"อาชีพที่สมควรได้กับไม่ได้ แต่คนที่ใส่ข้อมูลมั่วๆ กลับได้" นั่นเป็นเสียงตัดพ้อแรกๆ ที่เกิดขึ้นมาในความเห็น

ผู้ลงทะเบียนรายหนึ่งเขียนข้อความเล่าถึงความลำบากของตนเองในการประกอบอาชีพขายเฟอร์นิเจอร์ที่ อ.ยะหา จ.ยะลา ซึ่งหลังจากเหตุการณ์โควิด-19 ทวีความรุนแรงขึ้น ลูกค้าที่เคยมีก็เงียบหายไปอย่างเห็นได้ชัด

"เงียบมาก ลูกค้าหายไป ลูกค้าที่เข้ามาซื้อเฉพาะสิ่งจำเป็นจริงๆ คะ เพราะส่วนมากลูกค้ามีอาชีพตัดยาง ยางราคาสิบกว่าบาท ผลก็มากระทบกับเรา แต่พอลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน กลับมีความไม่ผ่านเฉยเลย ทั้งๆ ที่ ก็สามารถมาตรวจสอบข้อเท็จจริที่ร้านได้ แต่ในขณะเดียวกัน บางคนที่มีประกันหรือทำงานประจำ แต่ก็ได้เฉยเลย อยากทราบค่ะว่า เกณฑ์บรรทัดฐานจากไหนคะ มาตัดสินแบบนี้"

อีกรายหนึ่ง ลงทะเบียนเป็นอาชีพอิสระ แต่เมื่อเช็คสถานะเงินเยียวยากลับได้รับคำตอบว่า ไม่มีสิทธิเพราะเป็นนักศึกษา สร้างความสงสัยให้กับเจ้าตัวเป็นอย่างมาก ขณะที่ หลายรายที่ได้ยินข่าวมาว่า หากลงทะเบียนแล้วกรอกข้อมูลบางส่วนผิด สามารถยกเลิกแล้วค่อยไปลงทะเบียนใหม่ แต่ในความเป็นจริงนั้น เมื่อยกเลิกการลงทะเบียนรับเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน กลับถูกระบบลบออกจากฐานข้อมูล และไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ ทำให้เสียสิทธิไปโดยปริยาย

"ผมขายของตามตลาด ขึ้นว่าไม่มีสิทธิ์เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการหรือเจ้าของกิจการ น้องผม ทำงานออฟฟิต อายุจะ 30 อยู่แล้ว บอกไม่ได้เพราะเป็น นักศึกษา บอกตรง ๆ ตอนนี้เดือดร้อนมากครับ จะให้เล่าปัญหาที่เจอก็อายที่จะเล่าแล้ว"

"ทั้งที่ใส่ข้อมูลบัตรประชาชนถูกต้องแต่สักพักระบบมาบอกว่าข้อมูลบัตรประชาชนไม่ถูกต้องให้ลงทะเบียนใหม่แบบนี้ก็แย่สิครับต้องมาเข้าคิวกันใหม่อีกเสียเวลามากเลยครับ ระบบน่าจะบอกว่าอะไรมันไม่ถูกไม่ถูกตรงไหนให้มันชัดเจนไปเลยไม่ดีกว่า หรือหรือมิเช่นนั้นก็เอาคนมาบอก และก็แก้กันให้ถูกต้องไปเลย"

158676608597

นอกจากนั้น ยังมีคนที่ เช็คสถานะเงินเยียวยา ในมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน แล้วพบว่า ตนเองไม่มีสิทธิ์ในลักษณะอื่นๆ อีกมากมาย

"ค้าขายค่ะ เเต่กับโดนตัดสิทธิ์เพราะอายุพึ่งจะ18 ขอโทษนะค่ะถึงอายุพึ่งจะ18เเต่มาค้าขายที่ต่างจังหวัดตั้งเเต่อายุ17เลยนะค่ะ คนที่เขาอายุ18เเต่ไม่ได้เรียนก็มีเยอะไปค่ะบางคนแทบจะไม่ได้เพราะต้องมาทำงาน รัฐเคยตรวจสอบจริงๆ ไหมค่ะ นี่ก็ได้รับผลกระทบเต็มๆ เลยค่ะไม่มีโต๊ะให้นั่งใสกับบ้านอย่างเดียวขาย16:00-21:00 ก็ต้องเก็บเพราะเคอฟิว มีเวลาขายไม่กี่ชั่วโมงบางวันได้เเค่ค่าซื้อของบางวันแทบไม่ได้อะไร เงิน 5,000 คนเดือดร้อนจริงๆ กับไม่ได้เพราะอายุแค่ 18 ส่วนคนที่ลงเล่นๆ กับได้เฉย งงกับการตรวจสอบมากกค่ะ??"

"เปิดร้านเสริมสวยค่ะ. เป็นร้านขนาดเล็ก. รายได้ 10000-15000บาท. ปิดร้านจะเป็นเดือนแล้ว. ลงทะเบียนไป ตรวจสอบสถานะ ไม่ได้รับสิทธ์. ก็งง?เหมือนกันค่ะ. ว่ารัฐ คัดกรองแบบไหน. ทั้งที่เพื่อนๆที่ร่วมอาชีพเดียวกัน. ก็ทยอยกันได้ไปแล้ว. ช่วยหน่อยค่ะเดือนร้อนจริงๆ"

"ผลตรวจสอบบอกไม่ได้รับสิทธิ์เพราะเป็นนักเรียนนักศึกษา แค่มีชื่อติดในรายชื่อกศน.ก็บอกว่าเป็นนักเรียนนักศึกษาหรอ ทำงานเป็นแคชเชียร์ร้านอาหาร ร้านเปิดขายปกติไม่ได้นี่ไม่เดือดร้อนพอใช่มั้ย เงินเดือนก็ไม่ได้ชดเชยอะไรทั้งนั้น"

"อาชีพค้าขายคะ แต่เค้าสั่งปิดตลาดจึงไม่สามารถออกไปขายของได้ เราเดือดร้อนจริงๆ แต่ดูเหตุผลตอบกลับว่าไม่อยู่ในเกณฑ์ งงใจมากเลยคะ"

"คุณไม่ได้รับสิทธิ์ ขายเสื้อผ้าตามตลาดนัดเรียนกศน. บอกว่าเป็นนักศึกษาอยู่ให้ไปกู้ กยศ.ตอบหน่อยมีสิทธิ์เหรอ"

158676606737

ทั้งหมดเป็นความเห็นบางส่วนจากความเห็นนับร้อยข้อความที่ส่งมาถึง (สามารถเข้าไปดูความเห็นทั้งหมดได้ที่นี่) การ เช็คสถานะเงินเยียวยา ในมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน แล้วพบว่า ไม่มีสิทธิ์

อย่างไรก็ตาม นอกจากการติดต่อสอบถามไปยังเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ ที่ Call Center ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) โทร. 02-111-1144 หรือ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3421, 3422, 3423, 3424, 3425, 3427, 3429, 3430, 3572 (ในวันและเวลาราชการ) เพื่อที่จะได้คำชี้แจงที่ชัดเจน

ลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง ระบุว่า หลังจากปิดรับลงทะเบียนและได้คัดกรองผู้ลงทะเบียนครบถ้วนทั้งหมดแล้ว ซึ่งขณะนี้มีประมาณ 27 ล้านราย จะเปิดให้มีช่องทางการอุทธรณ์ผลการพิจารณาสำหรับผู้ไม่ผ่านเกณฑ์ ซึ่งผู้ที่ผ่านการอุทธรณ์ยังมีสิทธิ์ได้รับเงินเยียวยาครบทั้ง 3 เดือนเช่นเดิม เนื่องจากการให้เงินเยียวยาจะใช้วันลงทะเบียนในการเริ่มนับสิทธิ์ โดยการตรวจสอบสิทธิ์ผู้ลงทะเบียนยังคงจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยจะทยอยแจ้งผลการคัดกรอง และโอนเงินเยียวยาอย่างต่อเนื่องตลอดทุกวันทำการ

ถึงวันนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเช็คสถานะเงินเยียวยา ในมาตรการ เราไม่ทิ้งกัน นั้นก็ยังเป็นคำถามคาใจ โดยเฉพาะผู้ลงทะเบียนที่ถูกระบุว่าไม่มีสิทธิ เพราะคงไม่ต่างจากการรู้สึกว่า "ถูกทิ้งเอาไว้ข้างหลัง" นั่นเอง