สบน.‘ปรับแผน’มุ่งออกพันธบัตรสั้น

สบน.‘ปรับแผน’มุ่งออกพันธบัตรสั้น

สบน.” รับสถานการณ์นักลงทุนเทขายหน่วยลงทุนตราสารหนี้ กระทบพันธบัตรรัฐบาล เตรียมปรับแผนออกพันธบัตรใหม่ ให้มีอายุสั้นลง หรือ อาจเลือกออกตั๋วเงินแบบระยะสั้นมากขึ้น   หลังนักลงทุนขาดความเชื่อมั่น ยอมรับผลตอบแทน 0% แล้วหันไปถือเงินสดแทน

สถานการณ์นักลงทุนเทขายหน่วยลงทุนในกองทุนตราสารหนี้ตลอด2สัปดาห์ที่ผ่านมา จากความไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) ที่ส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจในประเทศ ส่งผลกระทบต่อเนื่องต่อภาวะการลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทย ทำให้สำนักงานบริหารหนี้สาธาณะ (สบน.) ต้องปรับแผนการออกพันธบัตรรัฐบาล 

นายธีรัชย์ อัตนวานิช ที่ปรึกษาด้านตลาดตราสารหนี้   สำนักงานบริหารหนี้สาธาณะ (สบน.) เปิดเผยว่า ระยะที่ผ่านมามีความผันผวนในตลาดตราสารหนี้เป็นอย่างมาก ผลจากปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(โควิด-19)ทำให้นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นต่อเศรษฐกิจ และเทขายหน่วยลงทุนออกมา ส่งผลกระทบต่อพันธบัตรรัฐบาล ทำให้สบน.ต้องปรับการออกพันธบัตรให้มีอายุสั้นขึ้น

เขากล่าวว่า ความผันผวนของพันธบัตรรัฐบาลในช่วงที่ผ่านมา เป็นเรื่องของตลาดรอง เมื่อสภาพคล่องเริ่มลดลง เพราะนักลงทุนต้องการถือเงินสดมากขึ้น ทำให้ความต้องการของพันธบัตรลดลง ส่งผลให้ผลตอบแทนขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นไปตามกลไกตลาด เมื่อมีคนซื้อพันธบัตรน้อยลง กลไกตลาดก็จะขยับผลตอบแทนให้สูงขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาลงทุน

“ตามปกติ เมื่อมีเงินเหลือในมือ และหาแหล่งลงทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีไม่ได้ การลงทุนในตราสารหนี้หรือพันธบัตรรัฐบาล ถือว่าเป็นแหล่งลงทุนที่ปลอดภัย แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์เศรษฐกิจอันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้คนยอมที่จะยอมรับผลตอบแทน 0%โดยหันมาถือเงินสด ทำให้ความต้องการพันธบัตรรัฐบาลลดลง ขณะที่ผู้ออกฝั่งพันธบัตร ยังออกตามปกติ สถานการณ์เช่นนี้จึงทำให้ราคา(ผลตอบแทนของพันธบัตร)ขยับตัวสูงขึ้น” 

เขากล่าวว่า การบริหารการออกพันธบัตรของสบน.ในสถานการณ์ที่ตลาดบาง หรือมีความต้องการพันธบัตรรัฐบาลต่ำลง ทำให้สบน.ต้องปรับการออกพันธบัตรให้มีอายุสั้นลง เพื่อให้มีความเชื่อมั่นต่อการลงทุนมากขึ้น ซึ่งสบน.สามารถออกพันธบัตรตั้งแต่อายุ 2 ปี จนถึง 50 ปี หรืออาจเลือกออกตั๋วเงินแบบระยะสั้นมากขึ้น

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้มีมาตรการหลายอย่างออกมา ตั้งแต่วันที่ 13-20 มี.ค. โดยธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ได้เข้าไปซื้อพันธบัตรรัฐบาลมากกว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นกลไกในการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาดพันธบัตรรัฐบาล และมีการลดวงเงินการออกพันธบัตรของธปท. ยกเลิกการออกพันธบัตรธปท.บางรุ่น เพื่อเป็นการเพิ่มสภาพคล่องเข้าไปในตลาดการเงิน เพื่อให้ตลาดการเงินมีสภาพคล่องที่มากพอ สามารถทำงานได้

นอกจากนี้ ธปท.ได้ออกมาตรการดูแลตลาด 3มาตรการ คือ การดูแลกองทุนรวมตราสารหนี้ที่ผู้ถือหน่วยลงทุนอาจตื่นตระหนกต่อสถานการณ์และไปไถ่ถอนคืน โดยให้ธนาคารพาณิชย์ สามารถนำหน่วยลงทุนมาวางเป็นหลักประกันการกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง พร้อมตั้งกองทุน 7 หมื่นล้านบาทถึง 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้หุ้นกู้ภาคเอกชนที่ถึงเวลาroll over(ต่ออายุ) สามารถทำได้ไม่ยากนัก และเสริมสภาพคล่องในตลาดพันธบัตรรัฐบาล