คำสั่งด่วน! ชัตดาวน์สถานที่เสี่ยงเชียงใหม่ 14 วัน แรงงานนับหมื่นเคว้ง มี.ค.เสียหาย 800 ล้าน

คำสั่งด่วน! ชัตดาวน์สถานที่เสี่ยงเชียงใหม่ 14 วัน แรงงานนับหมื่นเคว้ง มี.ค.เสียหาย 800 ล้าน

ผู้ว่าฯเชียงใหม่ ออกคำสั่งด่วนสั่งปิดสถานที่เสี่ยง 14 วัน รับมือโควิด-19 ด้านนายกสมาคมร้านอาหารฯ เผยผู้ประกอบการขานรับ แต่แรงงานกระทบนับหมื่นคน ประเมินมี.ค.เสียหายกว่า 700-800 ล้านบาท เร่งหารือขอภาครัฐเยียวยาบรรเทาความเดือดร้อน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายเจริญฤทธิ์ สงวนสัตย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหมม่ ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดเชียงใหม่ ได้มีคำสั่งเรื่องมาตรการเร่งด่วนในการป้องกันวิกฤตการณ์จากโรคติดเชื้อโควิด-19 อาศัยมาตรการ 35 แห่งพระราชบัญญัติโรคติดต่อพ.ศ.2558 ให้ปิดสถานที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 19 มีนาคม-1เมษายน 2563 ได้แก่ สถานบริการตามพรบ.สถานบริการ พ.ศ.2509แก้ไขเพิ่มเติมจนถึงปัจจุบัน และสถานประกอบการที่เปิดให้บริการในลักษณะที่คล้ายสถานบริการ , สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งร้านสปา ร้านนวดเพื่อสุขภาพ ร้านนวด เพื่อเสริมความงาม,ร้านคาราโอเกะ, ร้านเกมส์, ฟิตเนส, โรงละคร, โรงภาพยนตร์โซนเครื่องเล่นเด็กในห้างสรรพสินค้า , ตลาดถนนคนเดิน และให้ปิดสถานที่ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่เป็นการชั่วคราวจนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ได้แก่ สนามมวย สนามม้า และสนามชนไก่

ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้ไปสำรวจบรรยากาศธุรกิจที่ต้องปิดชั่วคราว เพื่อสกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 พบว่า ทั้งสปา รัานนวด ร้านคาราโอเกะ และผับที่เข้าข่าย ต่างมีการนำกระดาษสีขาว มีข้อความว่า “ร้านปิดบริการวันที่ 19มีนาคม-1เมษายน 2563” มาแปะติดไว้หน้าประตู ขณะที่ร้านอาหารต่างๆ ยังมีการเปิดบริการตามปกติ แต่ก็พบว่าบรรยากาศเงียบเหงา ร้านอาหารบางแห่งที่มีลูกค้าเข้ามาใช้บริการจำนวนมาก แทบจะไม่มีคนมีเพียงคนขายเท่านั้น ส่วนถนนคนเดินเชียงใหม่ทั้งวันเสาร์ และวันอาทิตย์ ซึ่งปกติจะเป็นแหล่งรวมผู้คนหลายพันคนในแต่ละวัน ก็ได้มีการแจ้งให้พ่อค้าแม่ค้างดการขายสินค้าแล้ว

นายธนิต ชุมแสง นายกสมาคมร้านอาหารและสถานบันเทิงเชียงใหม่ กล่าวว่า ทางผู้ประกอบการในจังหวัดเชียงใหม่พร้อมใจให้ความร่วมมือกับคำสั่งของจังหวัดเชียงใหม่ ทั้งผับ บาร์ ที่อยู่ในกลุ่มของสถานบริการ ที่มีกว่า 10 แห่งได้ปิดชั่วคราว ขณะที่ร้านอาหารทั่วไป ยังมีการเปิดบริการตามปกติ โดยใช้มาตรการของกระทรวงสาธารณสุขในการตรวจวัดไข้พนักงาน และลูกค้า, ใส่หน้ากากอนามััย, มีเจลแอลกอฮอล์, จัดที่นั่งให้ห่างกัน แต่ก็ต้องยอมรับว่าร้อยละ 90 ต้องประสบกับภาวะวิกฤตโควิด-19อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยจากการสอบถามผู้ประกอบการ กำลังมีการหารือร่วมกันกับทางพนักงาน ซึ่งในระบบน่าจะมีนับหมื่นคนที่อาจจะได้รับผลกระทบ ทั้งหยุดงาน หรือเลิกจ้างงาน ซึ่งต้องประสานกับทางภาครัฐเข้ามาเยียวยาให้แรงงานเหล่านี้ด้วย

ขณะที่ผู้ประกอบการที่ต้องปิดชั่วคราว ยอมรับว่ารายได้สูญหายไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เฉพาะในจังหวัดเชียงใหม่มีร้านอาหาร ร้านกาแฟ ทั้งขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ รวมกันน่าจะไม่ต่ำกว่า 3,000 แห่ง ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2563 เป็นต้นมา ต่างประสบปัญหามาโดยตลอด จากการที่ประชาชนงดออกนอกบ้าน ซึ่งประเมินว่าตลอดทั้งเดือนมีนาคมนี้ จะเสียหายภาพรวมไม่ต่ำกว่า 700-800 ล้านบาท ซึ่งทางสมาคมก็อยากให้ภาครัฐออกมาตรการในการบรรเทาความเดือดร้อน ไม่ว่าจะเป็นการผ่อนกันภาษีต่างๆ และการลดอัตราดอกเบี้ยจากสถาบันการเงิน เพราะทุกวันนี้มีแต่รายจ่าย แต่ไม่มีรายได้