'แบงก์' แห่ปิดความเสี่ยง ดัน 'ธุรกิจทวงหนี้' โต

'แบงก์' แห่ปิดความเสี่ยง ดัน 'ธุรกิจทวงหนี้' โต

"ธุรกิจติดตามหนี้" เข้าสู่ขาขึ้น รับอานิสงส์ "แบงก์-นอนแบงก์" ลดความเสี่ยงจากกฎหมายติดตามหนี้ แห่จ้างบริษัททวงหนี้มากขึ้น "ชโยกรุ๊ป" คาดปีนี้โตต่อ 20% จากปีก่อนเติบโต 40% ด้าน "เจเอ็มที" เผยปี 62 รับงานอื้อ หนุนพอร์ตพุ่ง 1 เท่าตัว

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ชโย กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ CHAYO กล่าวว่า  ธุรกิจรับจ้างติดตามหนี้เติบโตค่อนข้างมาก โดยปี 2562 ที่ผ่านมาเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 40%  และคาดว่าปีนี้จะโตไม่ต่ำกว่า 20% จากปัจจุบันมีพอร์ตติดตามทวงหนี้อยู่ 7,000 ล้านบาท เนื่องจากสถาบันการเงิน และผู้ให้บริการทางการเงินที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (นอนแบงก์) หันมาใช้บริการบริษัทให้ทวงถามหนี้มากขึ้น หลังจากพระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558  กำหนดไม่ให้เจ้าหนี้ทวงหนี้เกินวันละ 1ครั้ง  ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อวันที่  21 พ.ย. 2562 ที่ผ่านมา

จากกฏหมายดังกล่าว ส่งผลให้การติดตามทวงถามหนี้ของผู้ให้บริการทางการเงินยากขึ้น และมีโอกาสเสี่ยงถูกฟ้อง หากมีการทวงหนี้มากกว่าที่กฏหมายกำหนด ดังนั้นสถาบันการเงิน และนอนแบงก์ จึงเลือกที่จะว่าจ้างบริษัทภายนอกมาช่วยติดตามหนี้มากขึ้น แทนที่จะติดตามลูกหนี้เองเหมือนอดีต   

“เราเห็นแนวโน้มของแบงก์ นอนแบงก์ ให้ช่วยตามลูกหนี้มากขึ้น เพราะแบงก์ไม่อยากถูกเสี่ยงฟ้อง จึงใช้ให้บริษัทติดตามหนี้รับบริหารส่วนนี้ไปแทน แต่ไม่ใช่ว่าเราไม่กลัว  ได้กำชับพนักงานให้ทำตามกฏหมายอย่างละเอียด และระมัดระวังมากที่สุด "

นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส จำกัด (มหาชน) หรือ JMT กล่าวว่า การติดตามทวงถามหนี้ในปี 2562 เติบโตขึ้นเป็นเท่าตัวเป็น 4.3 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนมีพอร์ตอยู่เพียงกว่า 2หมื่นล้านบาทเท่านั้นเป็นผลมาจากพ.ร.บ.ทวงหนี้ ทำให้แบงก์ นอนแบงก์ ให้บริษัทภายนอกรับงานส่วนหนี้ไปบริหารมากขึ้น  คาดว่าปีนี้แนวโน้มการรับจ้างติดตามทวงหนี้จะเติบโตต่อเนื่องได้กว่า 10% จากปีก่อน  ปัจจุบันบริษัทเข้าไปรับงานของแบงก์ นอนแบงก์มากกว่า 20 บริษัท  ซึ่งธุรกิจติดตามทวงถามหนี้คิดเป็น 15% ของรายได้ทั้งหมด

“เราเห็นธุรกิจนี้โตแรงตั้งแต่ปีก่อน มีการจ้างทวงหนี้มากขึ้น เพราะแบงก์ไม่อยากเสี่ยง ทำให้การติดตามทวงหนี้โตเท่าตัว ซึ่งมาจากพ.ร.บ.ทวงหนี้ และมาตรฐานบัญชีใหม่ IFRS9 ที่ผลักดันให้แบงก์ขายหนี้ออกมา มากกว่าเก็บไว้บริหารเอง   เราเชื่อว่าเทรนด์นี้ยังเติบโตต่อ  อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการติดตามทวงหนี้ทำได้ยากขึ้น สำหรับลูกค้าบางคน ภายใต้ภาวะศรษฐกิจปัจจุบัน ” นายสุทธิรักษ์ กล่าว 

ด้านนายนิยต มาศะวิสุทธิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บริหารสินทรัพย์สุขุมวิท จำกัด  หรือ SAM  กล่าวว่า จากพ.ร.บ.ทวงถามหนี้ ที่มีผลบังคับใช้เข้มขึ้น ยอมรับว่า ส่งผลให้การติดตามหนี้ของบริษัทยากขึ้น และต้องระมัดระวังในการติดตามหนี้มากขึ้น  แต่บริษัทถือว่าได้รับผลกระทบน้อย เนื่องจากลูกหนี้ส่วนใหญ่ของบริษัท มักเป็นสินเชื่อที่มีหลักประกัน และส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดใหญ่ ส่วนพอร์ตรายย่อยมีค่อนข้างน้อย ดังนั้นการติดตามหนี้อาจไม่ยากเท่ากับลูกหนี้รายย่อย 

อย่างไรก็ตามเพื่อให้เป็นไปตามข้อกฏหมาย บริษัทได้ให้พนักงานปฏิบัติตามกฏระเบียบอย่างเคร่งครัดในการติดตามหนี้ลูกค้า และมีการติดตามผลของการติดตามหนี้อย่างต่อเนื่องว่ามีการทำตามกฏกติกาหรือไม่ เพื่อลดความเสี่ยงหรือผลกระทบที่จะเกิดขึ้นอนาคต