‘เศรษฐีหุ้นไทย’ ความมั่งคั่งวูบ 1.2 แสนล. อ่วมพิษดัชนีดิ่งเฉียด 500 จุด

‘เศรษฐีหุ้นไทย’ ความมั่งคั่งวูบ 1.2 แสนล. อ่วมพิษดัชนีดิ่งเฉียด 500 จุด

ในปี 2562 ที่ผ่านมา วารสารการเงินธนาคาร ร่วมกับอาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดลำดับ 10 เศรษฐีหุ้นไทย โดยวัดจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ประเภทบุคคลธรรมดาในประเทศ ซึ่งมีการถือครองในสัดส่วน 0.5% ขึ้นไป

"แชมป์" ในเวลานั้น อิงจากข้อมูล ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2562 คือ "สารัชถ์ รัตนาวะดี" กรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ หรือ GULF ด้วยความมั่งคั่งราว 1.21 แสนล้านบาท และหากคำนวณจากข้อมูล ณ สิ้นปี 2562 ความมั่งคั่งของ สารัชถ์ ขยับขึ้นเล็กน้อยมาอยู่ที่ 1.25 แสนล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ภาพของตลาดหุ้นไทยในช่วงเวลาเกือบ 2 เดือนครึ่งที่ผ่านมา เปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควร จนอาจจะพูดได้ว่าพลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากดัชนี SET ระดับ 1,579.84 จุด มาในเวลานี้ (ปิดครึ่งวันเมื่อ 12 มี.ค. 2563) ดัชนีหล่นลงมาเหลือเพียงประมาณ 1,100 จุด ลดลงมาเกือบ 500 จุด หรือลดลง 30%

แน่นอนว่าด้วยภาวะตลาดเช่นนี้ "ความมั่งคั่ง" ของนักลงทุนในตลาดย่อมลดลงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ สำหรับเศรษฐีหุ้นไทยทั้ง 10 รายนี้ ความมั่งคั่งลดลงไปรวมกันถึง 1.2 แสนล้านบาท ซึ่งผู้ถือหุ้นใหญ่ของ GULF อย่าง ‘สารัชถ์’ มีความมั่งคั่งลดลงมากที่สุดถึง 3.17 หมื่นล้านบาท หลังจากที่ราคาหุ้น GULF ดิ่งลงจากราคาปิดวันก่อนหน้าที่ 151.50 บาท มาอยู่ที่ 124 บาท หรือลดลง 18.1% ทั้งนี้ มูลค่าการถือครองรวมของสารัชถ์อยู่ที่ 9.37 หมื่นล้านบาท

ถัดมาคือ ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ หรือ BDMS บมจ.การบินกรุงเทพ หรือ BA และบมจ.โรงพยาบาลนนทเวช หรือ NTV โดย ณ สิ้นปี 2562 ‘หมอเสริฐ’ รั้งอันดับ 2 เมื่อปีก่อน โดยมีความมั่งคั่งจากการถือครองหุ้นรวม 7 หมื่นล้านบาท แต่ด้วยราคาหุ้นทั้งสามตัวที่ลดลงมา ทำให้ความมั่งคั่งของหมอเสริฐลดลงไปราว 2 หมื่นล้านบาท ล่าสุด จึงมีมูลค่าการถือครองรวมประมาณ 5.08 หมื่นล้านบาท

นิติ โอสถานุเคราะห์ ถือเป็นเศรษฐีหุ้นไทยที่มีการกระจายการถือหุ้นในนามส่วนบุคคลมากที่สุดในบรรดาทั้ง 10 ราย โดยถือหุ้นอยู่ใน 11 บริษัท ได้แก่ บมจ.โอสถสภา หรือ OSP บมจ.ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ MINT บมจ.โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ หรือ HMPRO บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา หรือ CPN บมจ.โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา หรือ CENTEL บมจ.กรุงเทพประกันภัย หรือ BKI บมจ.ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ หรือ TFMAMA บมจ.เอส แอนด์ พี ซินดิเคท หรือ SNP บมจ.อีโนเว รับเบอร์ (ประเทศไทย) หรือ IRC บมจ.โอเชียนกลาสหรือ OGC และบมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น หรือ SE-ED

อย่างไรก็ตาม ความมั่งคั่งของ ‘นิติ’ ก็ปรับลดลง 1.17 หมื่นล้านบาท ทำให้มูลค่าการถือครองรวมในหุ้นทั้ง 11 บริษัท ลดลงมาอยู่ที่ 3.65 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ 4.83 หมื่นล้าน โดยหลักเป็นผลจากการลดลงของ 3 หุ้นหลักในพอร์ต ได้แก่ OSP, MINT และ HMPRO

158401974326

คีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ หรือ BTS รวมทั้งเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.วีจีไอ หรือ VGI และ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานระบบขนส่งมวลชนทางราง บีทีเอสโกรท หรือ BTSGIF มีมูลค่าการถือครองลดลง 1.22 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนที่ถือครองรวม 4.35 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันจึงมีความมั่งคั่งราว 3.12 หมื่นล้านบาท ผ่านการถือหุ้น 3 ตัวนี้

สมโภชน์ อาหุนัย ผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ หรือ EA ซึ่งเป็นธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนแถวหน้าของไทย และยังถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.อีเทอเนิล เอนเนอยี หรือ EE โดยมีมูลค่าการถือครองลดลง 9.86 พันล้านบาท จากเดิมที่มีความมั่งคั่ง 3.83 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันลดลงมาเหลือ 2.85 หมื่นล้านบาท เป็นไปในทิศทางเดียวกันกับหุ้น EA ที่ปรับตัวลดลงจาก 43.75 บาท มาอยู่ที่ 32.5 บาท

วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ ทายาทคนโตของอาณาจักรสี บมจ.ทีโอเอ เพ้นท์ (ประเทศไทย) หรือ TOA ขณะเดียวกันยังเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.สตาร์ค คอร์ปอเรชั่น หรือ STARK ผู้ผลิตและจำหน่ายสายไฟฟ้าสำหรับระบบการส่งและจ่ายกระแสไฟฟ้า โดยมูลค่าการถือครองใน 2 บริษัทนี้ อยู่ที่ราว 4.2 หมื่นล้านบาท ในปี 2562 ล่าสุด มูลค่าการถือครองลดลง 4.5 พันล้านบาท มาอยู่ที่ 3.76 หมื่นล้านบาท

ดาวนภา เพ็ชรอำไพ เศรษฐีนีหนึ่งเดียวในบรรดาทั้ง 10 ราย เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของ บมจ.เมืองไทยแคปปิตอล หรือ MTC ในสัดส่วน 33.96% คิดเป็นมูลค่า 45.9 หมื่นล้านบาท เมื่อปี 2562 แต่ล่าสุดมูลค่าการถือครองลดลงมา 9.72 พันล้าบาท เหลือรวม 36.18 หมื่นล้านบาท

เช่นเดียวกับ ชูชาติ เพ็ชรอำไพ ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่อันดับ 2 ของ MTC และยังถือหุ้นอื่นๆ อีก 5 ตัว ได้แก่ ITEL CGD PSTC SOLAR และ TACC คิดเป็นมูลค่ารวมกัน 4.55 หมื่นล้านบาท ล่าสุดมูลค่าการถือครองลดลง 9.68 พันล้านบาท เหลือรวม 3.58 หมื่นล้านบาท

พิชญ์ โพธารามิก ทายาทหนึ่งเดียวของอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ อดิศัย โพธารามิก เป็นผู้ก่อตั้ง บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล หรือ JAS และยังถือหุ้นใหญ่ใน บมจ.โมโน เทคโนโลยี หรือ MONO โดยรวมแม้ว่ามูลค่าการถือครองของพิชญ์จะลดลง 3.58 พันล้านบาท ทำให้ความมั่งคั่งรวมลดลงจาก 2.54 หมื่นล้านบาท มาเหลือ 2.18 หมื่นล้านบาท

แต่สำหรับหุ้น MONO ถือเป็นหนึ่งเดียวที่มีราคาเพิ่มสูงขึ้นในปี 2563 นี้ จากบรรดาหุ้นทั้งหมด 32 ตัว ที่เศรษฐีทั้ง 10 รายถือครองอยู่

ด้าน อนันต์ อัศวโภคิน เจ้าของอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่ที่สุดของไทยอย่าง บมจ.แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ LH ความร่ำรวยลดลง 8.15 พันล้านบาท และลดลงจาก บมจ.แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) ด้วยเช่นกัน โดยรวมมีความมั่งคั่ง 1.98 หมื่นล้านบาท ลดลงจากปีก่อนที่ 2.8 หมื่นล้านบาท