'ไทยออยล์' ปรับแผนกลั่นน้ำมันรับมือผลกระทบ 'โควิด'

'ไทยออยล์' ปรับแผนกลั่นน้ำมันรับมือผลกระทบ 'โควิด'

“ไทยออยล์” ปรับลดสัดส่วนกลั่นน้ำมันเจทเดือนมี.ค.-เม.ย.ลง 8-10% หันกลั่นดีเซลเพิ่ม รับมือโควิด-19 ฉุดยอดคนเดินทางด้วยเครื่องบินลดลง พร้อมวางศิลาฤกษ์โครงการ “ซีเอฟพี” ลุยลงทุนในอีอีซี กระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP เปิดเผยว่า บริษัท ได้ปรับสัดส่วนการกลั่นน้ำมันอากาศยาน(Jet)ในช่วงเดือน มี.ค. และเม.ย.นี้ ลดลง 8-10% เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ที่ส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันอากาศยานลดลง โดยบริษัท ได้หันไปเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันดีเซลทดแทน เนื่องจากยังมีความต้องการใช้น้ำมันภาคพื้น หรือ การขนส่งทางบกอยู่ ทำให้ปัจจุบัน สัดส่วนการกลั่นน้ำมัน Jet เหลืออยู่ที่ 15% จากเดิมอยู่ที่ 23% ดีเซล เพิ่มเป็น 41% จากเดิมอยู่ที่ 33% ส่วนเบนซิน คงเดิมอยู่ที่ 16% และที่เหลือเป็นเชื้อเพลิงประเภทอื่น

ปัจจุบัน ส่วนต่างราคา(สเปรด)น้ำมันดิบกับน้ำมันJet แคบลง เหลืออยู่ที่ 6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากเดิมอยู่ที่ 15-18 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ขณะที่ สเปรดดีเซล อยู่ที่ 8 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ทำให้การเปลี่ยนมากลั่นดีเซลเพิ่มขึ้นจะมีมาร์จินดีขึ้นด้วย แต่ก็หวังว่า สถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 จะคลี่คลายโดยเร็ว”

นอกจากนี้ บริษัท ยังติดตามสถานการณ์เชื้อโควิด-19 อย่างใกล้ชิด เพราะหากการแพร่ระบาดยืดเยื้อ ก็อาจส่งผลกระทบต่อการก่อสร้างโครงการพลังงานสะอาด(Clean Fuel Project: CFP )ของบริษัท ที่ตามแผนจะสั่งซื้อและจัดส่งอุปกรณ์ต่างๆ เข้ามาในช่วงครึ่งปีหลัง โดยส่วนใหญ่เป็นการใช้ชิ้นส่วนอุปกรณ์สำเร็จรูปในประเทศไทยเป็นหลัก แต่ก็มีสั่งซื้อจากจีน และฟิลิปปินส์ด้วย ขณะที่ในส่วนของผู้รับเหมาก่อสร้างโครงการนี้ ใช้ถึง 3 ประเทศ คือ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์(UAE) ,อิตาลี และเกาหลีใต้

ปัจจุบัน โครงการฯอยู่ในช่วงการออกแบบวิศวกรรมโดยละเอียด ซึ่งยังไม่มีผลกระทบต่อการก่อสร้างงานวางฐานรากโครงการ เพราะสามารถประสานงานต่างๆ ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แทนได้ ดังนั้น หากเชื้อโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายในระยะยาว บริษัท ก็มีแผนที่เปลี่ยนแผนการดำเนินงานในส่วนที่สามารถดำเนินการได้ก่อนขึ้นมาทำแทน หากยังไม่สามารถสั่งซื้ออุปกรณ์จากประเทศที่ได้รับผลกระทบเข้ามาได้

ส่วนผลกระทบต่อผลการดำเนินงานในปีนี้ ยอมรับว่า ยังเร็วเกินไปที่จะประเมินได้ เพราะสถานการณ์แพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 เพิ่งเกิดขึ้น และหากคลี่คลายได้ในช่วงไตรมาส2 ก็เชื่อว่า จะทำให้กิจกรรมต่างๆของทั่วโลกกลับมาคึกคักขึ้น และส่งผลดีต่อสเปรดราคาผลิตภัณฑ์ต่างๆในช่วงครึ่งปีหลังดีขึ้นจากขึ้นปีแรก

นายวิรัตน์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ไทยออยล์ มีอัตราการใช้กำลังการกลั่นน้ำมันเต็มที่ 110% สูงขึ้นจากปี 2562 อยู่ที่กว่า 100% เนื่องจากปีนี้ ไม่มีแผนหยุดซ่อมบำรุงครั้งใหญ่เหมือนปีที่ผ่านที่หยุดซ่อมกว่า 40 วัน ขณะที่ค่าการกลั่น(GRM)ตลาดสิงคโปร์ ปัจจุบันต่ำกว่า 2 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ลดลงจากปีก่อน ที่ค่าการกลั่น(GRM) อยู่ที่ 3-4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล แต่ในส่วนของบริษัทมีค่าการกลั่นที่ดีกว่า เพราะเป็นโรงกลั่นที่มีประสิทธิภาพสูง สามารถวางแผนยืดหยุ่นการผลิตได้ดี

ส่วนธุรกิจปิโตรเคมี คาดว่ามาร์จินอะโรเมติกส์ จะดีขึ้นจากการใช้กำลังการผลิตปีนี้ที่คาดว่าจะดีกว่าปีก่อน และราคาที่ไม่ได้อิงกับน้ำมันดิบ ขณะที่ธุรกิจไฟฟ้า คาดว่าจะเข้ามาช่วยประคองผลการดำเนินงานในปีนี้ จากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้นจากการถือหุ้นในบริษัท จีพีเอสซี และบริษัท ไทยออยล์ เพาเวอร์

นอกจากนี้ บริษัท เตรียมขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในเดือน เม.ย.นี้ พิจารณาออกหุ้นกู้เพิ่มเติม 2 พันล้านดอลลาร์ ภายในปี 2568 เพื่อรองรับการลงทุนหรือชำระหนี้ ขณะที่สถานะการเงินของบริษัทยังแข็งแกร่งจะมีกระแสเงินสดเข้ามาปีละ 200-300 ล้านดอลลาร์ และมีภาระจ่ายคืนเงินกู้ราว 100 ล้านดอลลาร์ต่อปี

นายวิรัตน์ กล่าวว่า สำหรับแผนการลงทุน 5 ปี(2563-2567) ของบริษัท จะแผนจะใช้เงินอยู่ที่ 4,000-5,000 ล้านดอลลาร์ โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการ CFP ขณะที่ปีนี้ คาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 2,000 ล้านดอลลาร์สำหรับลงทุนในโครงการ CFP

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้(5 มี.ค.) นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โครงการพลังงานสะอาด (CFP ) ณ โรงกลั่นไทยออยล์ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งถือเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนโครงการแรกภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 40,000 ล้านบาท

ซึ่งประกอบด้วยวงเงินในการจ้างงานประมาณ 22,000 ล้านบาท หรือกว่า 20,000 คนในช่วงก่อสร้าง และวงเงินในการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ประมาณ 18,000 ล้านบาท โครงการนี้ยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว โดยทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในอนาคตโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยอาจต้องเริ่มมีการนำเข้าน้ำมันอากาศยาน จากความต้องการที่ขยายตัวขึ้น

ทั้งนี้ โครงการ CFP จะช่วยเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นสามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้น 40-50% สามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลซึ่งมีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตอบสนองการปรับเปลี่ยนของตลาดซึ่งอิงกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาในการเดินเรือในปี 2563 

รวมถึงการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เพื่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการ CFP ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านดอลลาร์ หรือ ประมาณ 160,000 ล้านบาท มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในไตรมาส 1ปี 2566 โครงการนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านดอลลาร์ต่อปี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (GIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 4 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล

นอกจากนี้ โครงการ CFP ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจ โดยการต่อยอดสายห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี โดยใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ Light Naptha และ Heavy Naphtha ของโครงการ CFP เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการปิโตรเคมีระดับ World Scale ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่น (New S-Curve) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต