'บี.กริม' ลุ้น กกพ.เคาะใบอนุญาตนำเข้า 'แอลเอ็นจี' มี.ค.นี้

'บี.กริม' ลุ้น กกพ.เคาะใบอนุญาตนำเข้า 'แอลเอ็นจี' มี.ค.นี้

บอร์ด กกพ. เตรียมถก ออกใบอนุญาต บี.กริม เพาเวอร์ จัดหาและนำเข้าแอลเอ็นจี ด้าน สนพ. เล็งเสนอรัฐปรับแผนส่งเสริมกิจการก๊าซเสรี

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) เปิดเผยว่า การประชุมคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(บอร์ด กกพ.) ในเร็วๆนี้จะพิจารณาการออกใบอนุญาตประกอบกิจการจัดหาและค้าส่งก๊าซธรรมชาติ (LNG Shipper) ให้ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน) หรือ BGRIM คาดว่า จะได้ข้อสรุปในเดือน มี.ค.นี้

ทั้งนี้การนำเข้าLNG เพิ่มเติม เบื้องต้น มี 2 แนวทาง คือ 1.รอให้สัญญาจัดหาก๊าซฯระยะยาว(สัญญาเก่า)ของ ปตท.ปริมาณ 5.2 ล้านตันต่อปี หมดอายุลง ซึ่งเหลือเวลาอีก10 ปี และ2. รอให้ปริมาณกำลังการผลิตก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง ช่วงปี 2565-2566 ซึ่งเป็นช่วงที่แหล่งเอราวัณและบงกช สิ้นสุดอายุสัมปทานเดิม ทำให้กำลังผลิตก๊าซฯเหลือประมาณ 1,500 จาก2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้ LNG เข้ามาผสมกับก๊าซฯในประเทศเพิ่มขึ้นเป็นสัดส่วนประมาณ 30-40% จากปัจจุบันมีสัดส่วนLNG อยู่ที่ 10-20% ตามช่วงเวลา ดังนั้น จะมีช่องว่างรองรับการนำเข้าLNG ในรูปแบบตลาดจร(Spot)ได้ แต่ก็ต้องพิจารณาเรื่องของดีมานด์และซัพพลายให้เหมาะสมด้วย

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปี 2565-2566 เมื่อปริมาณก๊าซฯในอ่าวไทยลดลง ก็จะต้องดำเนินการปรับสูตรค่าความร้อนใหม่ ตามข้อกำหนดค่าควบคุมคุณภาพก๊าซที่ใช้เป็นเชื้อเพลิง ที่เรียกว่า Wobbe Index (WI) โดยปตท.ซึ่งทำหน้าที่เป็นผู้บริหารระบบท่อส่งก๊าซธรรมชาติ ( TSO) จะต้องเสนอเรื่องการปรับสูตร WI มาที่ กกพ.

 แม้ว่าปัจจุบัน กฎหมายจะกำหนดให้แยกธุรกิจท่อส่งก๊าซทางบัญชีออกจากระบบจัดหาและจำหน่ายก๊าซธรรมชาติออกจาก ปตท. แต่เป็นเพียงการแยกกิจกรรมในการดำเนินการเท่านั้น ยังไม่ใช่การแยกใบอนุญาตออกมา ฉะนั้น การปรับสูตร WI ใหม่ จะเอื้อให้เกิดการนำเข้าLNG ในอนาคตดำเนินการได้ง่ายขึ้น 158262955045

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ขณะนี้ทางสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) อยู่ระหว่างพิจารณาปรับนโยบายส่งเสริมกิจการก๊าซฯเสรีใหม่ จากเดิมที่แบ่งการดำเนินการออกเป็น 3 ระยะ คือ ระยะที่ 1 ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ทดลองนำเข้าLNG ,ระยะที่ 2 การคำนวณราคาก๊าซโดยไม่นำมาคำนวณในสูตรตลาดรวม (Pool) และระยะที่ 3 LNG bases หรือ การเปลี่ยนมาใช้ LNG นำเข้าเป็นหลักในการผลิตไฟฟ้า จากเดิมที่ใช้ก๊าซฯจากอ่าวไทยเป็นหลัก ซึ่งเบื้องต้นพบว่า หากดำเนินการตามแนวทางดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้า

ดังนั้นสนพ.จึงมีแนวคิดที่เปลี่ยนเสนอภาครัฐให้ปรับแนวทางปฏิบัติใหม่ ซึ่งอาจเหลือดำเนินการแต่ ระยะที่ 1 และระยะที่ 3 เท่านั้น โดยตัดระยะที่ 2 ออกไป และให้ไปใช้สูตรการคำนวณราคาตลาดรวม(Pool) ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการคำนวณต้นทุนค่าไฟฟ้าที่จะส่งผ่านไปสู่ภาคประชาชนในอนาคต

ทั้งนี้ สนพ.จะประชาพิจารณ์ ก่อนจัดทำเป็นแผนงาน เสนอต่อคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) และคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)อนุมัติต่อไป 158262957764