'หมุนเวียนน้ำใน EEC' สู้วิกฤติขาดแคลนด้วยเทคโนโลยี

'หมุนเวียนน้ำใน EEC' สู้วิกฤติขาดแคลนด้วยเทคโนโลยี

ส่องตัวอย่างการบริหารจัดการน้ำของสิงคโปร์ ญี่ปุ่น และจีน จากน้ำเสียสู่น้ำดี ลดรายจ่าย หากไทยนำเทคโนโลยีมาประยุต์ใช้น่าจะช่วยให้พื้นที่ EEC ที่หากมีการพัฒนาอย่างเต็มรูปแบบแล้วนั้น น่าจะลดปัญหาการขาดแคลนน้ำได้

ปัญหาน้ำขาดแคลน ส่วนใหญ่มาจากสาเหตุการเพิ่มขึ้นประชากร การขยายตัวของเมือง อุตสาหกรรม เกษตรกรรม น้ำขาดแคลน ไม่เพียงพอกับความต้องการ สำหรับพื้นที่ EEC ครอบคลุมจังหวัดชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา มีทั้งภาคชุมชน เกษตรกรรม และอุตสาหกรรม และคาดการณ์ว่าในอนาคตเมื่อการพัฒนาพื้นที่ EEC สมบูรณ์แบบตามแผนงานของรัฐบาล จะขาดแคลนน้ำไม่น้อยกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

จากการรวบรวมข้อมูลการหาแหล่งน้ำต้นทุนสำหรับพื้นที่ EEC ชัดเจนว่า การสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทำได้ยากขึ้น เพราะมีผลกระทบกับชุมชนและมักไม่เห็นด้วย อีกทั้งในภาวะแล้งที่ยาวนานก็ทำให้เก็บน้ำได้ไม่เพียงพออยู่ดี จึงต้องหาทางเลือกอื่นๆ ด้วย อาทิ การนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด ซึ่งทำได้แต่มีต้นทุนสูงและราคาแพง

ดังนั้น พิจารณาที่เป็นไปได้ คือ น้ำเสียที่บำบัดแล้ว ซึ่งราคาถูกลงมาก โดยในพื้นที่ EEC มีน้ำเสียปริมาณมากที่มาจากชุมชน อีกส่วนจากน้ำเสียจากสถานประกอบการ สถานบริการ และอุตสาหกรรม

จากการคาดการณ์ปริมาณน้ำเสียที่เกิดขึ้นภายใน 20 ปีข้างหน้าในพื้นที่ EEC 3 จังหวัด รวมทั้งข้อมูลศักยภาพของการบำบัดน้ำเสีย โดยระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่ออกแบบไว้สูงสุด พบว่า ถ้ายังไม่มีการเติบโตแบบ EEC จะมีน้ำเสียชุมชนจะประมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่เมื่อมี EEC สมบูรณ์แบบ น้ำเสียชุมชนจะเพิ่มขึ้นมากกว่า 600 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เมื่อรวมกับน้ำทิ้งจากภาคอุตสาหกรรม จะทำให้มีปริมาณน้ำเสียรวมมากกว่า 900 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี เราจึงมีน้ำเสียปริมาณมาก เป็นต้นทุนน้ำเสียจึงมีศักยภาพ

ปัจจุบันระบบบำบัดน้ำเสียชุมชนที่มีปริมาณน้ำเสียเข้าสู่ระบบมากกว่า 75% ของความสามารถในการรองรับน้ำเสียในพื้นที่ EEC ได้แก่ ระบบบำบัดน้ำเสียเมืองพัทยา (ซอยวัดหนองใหญ่) และระบบบำบัดน้ำเสียเทศบาลเมืองแสนสุข (แสนสุขใต้) จังหวัดชลบุรี

จึงเป็นที่มาของโครงการศึกษา "การพัฒนาพื้นที่อุตสาหกรรมและเมืองโดยการใช้น้ำเสียที่บำบัดแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ในพื้นที่ EEC โดย รศ.ดร.ชวลิต รัตนธรรมสกุล หัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยนวัตกรรมการบำบัดของเสียและการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ ภายใต้แผนงานยุทธศาสตร์เป้าหมาย (Spearhead)ด้านสังคม แผนงานการบริหารจัดการน้ำ 

การศึกษานี้จะจัดทำร่างระดับคุณภาพมาตรฐานของน้ำรีไซเคิลที่จะนำกลับไปใช้ในกิจกรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ว่าจะต้องมีลักษณะอย่างไร สำหรับเป็นแนวทางให้พื้นที่เมืองและอุตสาหกรรมใน EEC เช่น การนำไปใช้ในพื้นที่เกษตรกรรม (พื้นที่สีเขียว) การใช้ชำระชะล้างต่างๆ ล้างถนน ลดฝุ่น หรือนำมาเป็นน้ำใช้อื่นๆ เช่น น้ำหล่อเย็นในระบบอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังขาดแนวทางที่เป็นมาตรฐานที่ชัดเจนในส่วนนี้

ตัวอย่างการนำน้ำกลับมาใช้ใหม่ของต่างประเทศ เช่น ที่เมืองฟุกุโอกะของญี่ปุ่น เดิมมีการนำน้ำทะเลมาทำเป็นน้ำจืดแต่ต้นทุนสูง สุดท้ายก็เอาน้ำเสียของเมืองมาบำบัดและกรองมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ที่มีคุณภาพดีและขายราคาถูกกว่าน้ำประปา

สิงคโปร์ ก็มีทั้งการนำน้ำทะเลมาทำน้ำจืด และซื้อน้ำจากมาเลเซีย ซึ่งล้วนเป็นต้นทุนสูง ปัจจุบันสิงคโปร์เตรียมพร้อมและสนใจเรื่องรีไซเคิลน้ำมาก โดยนำน้ำเสียมารีไซเคิลซึ่งทำให้ต้นทุนถูกลงกว่าการใช้น้ำจืดที่ผลิตจากน้ำทะเล และใช้เทคโนโลยีในการกรองทำให้ได้น้ำคุณภาพดีที่สะอาดมากๆ กลับมาใช้ มีการให้ความรู้กับประชาชนจนได้รับการยอมรับเป็นอย่างดี และยังส่งกลับไปขายให้กับมาเลเซียอีกด้วย

กรณีจีน ลงทุนสร้างโรงงานรีไซเคิลน้ำเสียขนาดใหญ่ 5 หมื่นลูกบาศก์เมตรต่อวัน ที่เมืองเทียนสิน โดยรับน้ำทิ้งจากโรงบำบัดน้ำเสีย Jizhuangzi เดินระบบท่อจ่ายน้ำรีไซเคิล 52 กิโลเมตรไปยังชุมชน สามารถจ่ายน้ำให้กับ 158,000 ครัวเรือน และใช้ในโรงงานอุตสาหกรรมด้วยค่าน้ำรีไซเคิลอยู่ที่ 0.3 ดอลลาร์สหรัฐต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งถูกกว่าราคาค่าน้ำประปา

กรณีนี้ ไทยอาจใช้ต้นแบบของญี่ปุ่นและจีน คือ การรีไซเคิลน้ำเสียมาเป็นน้ำประปาเกรด 2 ขายให้กับแหล่งที่ต้องการซื้อได้เลย ซึ่งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งสนใจ และส่วนบำบัดน้ำเสียส่วนกลางของเทศบาลบางแห่งก็อยู่ไม่ไกลจากนิคมฯ จึงมีความเป็นไปได้ที่จะทำและเอากลับไปขายให้อุตสาหกรรม ชุมชน และภาคเกษตร แต่ทั้งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็ต้องปลดล็อคกฎหมายหลายส่วนที่ยังเป็นข้อจำกัดในปัจจุบัน

เพราะ น้ำทุกหยด” ควรมีประโยชน์มากกว่าหนึ่งอย่าง ซึ่งเทคโนโลยีจะช่วยตอบโจทย์มาตรฐานคุณภาพน้ำที่รีไซเคิลให้หมุนเวียนกลับมาใช้ซ้ำ จึงจะมีน้ำใช้อย่างยั่งยืน และช่วยเสริมศักยภาพ EEC ให้เป็นเมืองเศรษฐกิจแห่งความหวังของประเทศได้