'ยื่นภาษี' สำหรับ 'มือใหม่' แก้สงสัย ยื่นได้..ง่ายเว่อร์!

 'ยื่นภาษี' สำหรับ 'มือใหม่' แก้สงสัย ยื่นได้..ง่ายเว่อร์!

รวบรวมคำตอบ แก้สงสัย มือใหม่ หัดยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เริ่มต้นศักราชใหม่ มาพร้อมกับภาระจ่ายภาษีที่เป็นหน้าที่ของคนไทยทุกคน แน่นอนว่ามีคำถามในการยื่นภาษีตามมาด้วย โดยเฉพาะ "เด็กจบใหม่" หรือคนที่เริ่มต้นเสียภาษีครั้งแรกในปีนี้ “กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมคำถามยอดฮิตจากบรรดามือใหม่ยื่นภาษีปีแรก พร้อมคำตอบมาให้ดูกัน

  •  มีเงินเดือนเท่าไหร่ถึงต้องยื่นภาษี ?

"หากมีเงินเดือนหรือมีรายได้จากหลายทางเกิน 10,000 บาท/เดือน (120,000 บาท/ปี) ต้องยื่นภาษีทุกคน"

คนที่มีรายได้ 10,000 บาท/เดือน ไม่มีหน้าที่ต้องยื่นแบบแสดงรายการ เนื่องจากกฎหมายกำหนดให้ผู้มีเงินได้จะต้องยื่นแบบแสดงรายการหากมีเงินได้ตามมาตรา 40(1) แห่งประมวลรัษฎากร เกิน 120,000 บาท

สาเหตุที่กฎหมายกำหนดเช่นนี้ เพราะเมื่อผู้ที่มีเงินได้ 120,000 บาทต่อปี ยื่นภาษี แล้วใช้สิทธิลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท ร่วมกับสิทธิหักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินเดือน หรือ 60,000 บาท เท่ากับว่า

 

"เงินได้ 120,000 – ค่าใช้จ่าย 60,000 บาท – ค่าลดหย่อน 60,000 บาท" 

=

เงินได้สุทธิ 0 บาทจึงไม่ต้องยื่นภาษี

หมายความว่า เด็กจบใหม่ได้เงินเดือนขั้นต่ำ 15,000 บาทหรือมากกว่านั้น ก็ต้องยื่นภาษีตามกฎหมาย แต่ไม่ต้องตกใจไป เพราะการ “ยื่นภาษี” ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “เสียภาษี” เสมอไป

หลายคนเข้าใจผิดว่ายื่นภาษี และเสียภาษี เป็นเรื่องเดียวกัน หากจะอธิบายง่ายๆ

การยื่นภาษี คือ การที่บุคคลที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาทต่อเดือน ต้องยื่นแบบแสดงรายการเงินได้ปีละ 1 ครั้ง 
การเสียภาษี คือ ขั้นตอนหลังจากผู้ยื่นภาษีเรียบร้อยแล้ว จะเสียภาษีก็ต่อเมื่อ มีเงินได้หรือมีรายได้ถึงเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเท่านั้น ส่วนจะต้องเสียภาษีหรือไม่นั้นไปดูที่ข้อต่อไปได้เลย

  • ต้องเสียภาษีเท่าไหร่

ก่อนที่จะรู้ว่าเราต้องเสียภาษีเท่าไหร่ ต้องรู้ก่อนว่าเรามีรายได้สุทธิเท่าไหร่ โดยการคำนวณรายได้สุทธิ คือ

 

"รายรับทั้งปี ค่าใช้จ่าย ค่าลดหย่อน"

=

รายได้สุทธิ

เมื่อรู้ว่าตัวเองมีรายได้สุทธิเท่าไหร่เรียบร้อยแล้ว จึงนำมาเทียบว่า รายได้สุทธิของเราอยู่ในระดับใด และอยู่ในเกณฑ์ที่จะต้องเสียภาษีหรือไม่ ซึ่งเกณฑ์ย่อมแตกต่างกันออกไปตามรายได้สุทธิที่ได้รับ ยิ่งรายได้สุทธิมากเท่าไหร่ ยิ่งเสียภาษีมากขึ้นตามไปด้วย โดยเป็นไปตามเกณฑ์ดังต่อไปนี้

158073550560

ภาพ: กรมสรรพากร

อย่างไรก็ตามผู้ยื่นภาษี มีสิทธิที่เรียกว่า “ค่าใช้จ่าย” และ “ค่าลดหย่อน” ที่เข้ามาช่วยให้หักลบกับรายได้สุทธิ

สำหรับ "ค่าใช้จ่ายที่จะนำมาหักลบ" นั้น ต้องมีเงื่อนไขดังนี้

158073661512

 

ส่วน "ค่าลดหย่อนภาษี" ที่สามารถนำมาลดหย่อนได้ ประกอบด้วย

158073676161

158073676183

158073677456
 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง-ยื่นภาษีปี 62 ลดหย่อนอะไรได้บ้าง

 

หมายความว่า ทุกคนที่ “ยื่นภาษี” ไม่ได้หมายความว่าจะต้อง “เสียภาษี” ทุกคน ขึ้นอยู่กับการหักค่าใช้จ่าย และค่าลดหย่อนของแต่ละคน

ดังนั้น จะมีทั้งคนที่ไม่ได้เสียภาษีใดๆ เลย มีทั้งคนที่ต้องเสียภาษี และได้ภาษีคืน

 

ถัดจากนี้ คือ 3 คำถามยอดฮิต ที่เหล่ามือใหม่หัดยื่นภาษี มักสงสัยอยู่เสมอ.. 

  • 1. ทำงานนานแค่ไหนถึงต้องยื่นภาษี

นับตั้งแต่มีรายได้เป็นของตัวเอง จะต้องยื่นภาษีเงินได้ส่วนบุคคลให้กับกรมสรรพากรอย่างตรงไปตรงมา สำหรับคนเริ่มต้นทำงานปีแรกเช่น ปี 2562 จะต้องรวบรวมรายได้ตั้งแต่เดือน มกราคม 2562 ถึง ธันวาคม 2562 มายื่นแสดงข้อมูลให้กับสรรพากรตั้งแต่ 1 ม.ค.- 31 มี.ค. ของปีถัดไป หรือปี 2563 โดยปีนี้ กรมสรรพากรขยายเวลายื่นภาษีบุคคลธรรมดา ทั้งช่องทางออนไลน์และยื่นภาษีแบบกระดาษ ถึง 30 มิ.ย.63

ส่วนใครที่เพิ่งเริ่มทำงานกลางปี 2562 (เงินเดือนมากกว่า 10,000 ต่อปี) ก็สามารถยื่นแบบแสดงรายการตามเงินได้ที่ได้รับจริงๆ ในปีนั้นได้เลย โดยไม่จำเป็นต้องรอให้ทำงานครบปี

  • 2. ยื่นภาษีที่ไหนได้บ้าง

ปัจจุบันกรมสรรพากรเปิดโอกาสให้ยื่นภาษีได้ 3 ช่องทางหลัก

- สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง 
- ไปรษณีย์ แบบลงทะเบียน เฉพาะผู้มีเงินได้ที่มีภูมิลำเนาอยู่ในกรุงเทพฯ 
- ง่ายที่สุดคือช่องทางออนไลน์ สามารถยื่นผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร rd.go.th ได้เลย

สำหรับวิธีการยื่นภาษีออนไลน์สามารถดูรายละเอียด และทำตามขั้นตอนต่างๆ ได้ที่ ขั้นตอนการยื่นภาษีออนไลน์จากกรมสรรพากร

 

  • 3. ไม่ยื่นภาษีมีความผิดไหม

การไม่ยื่นภาษี หรือ เลี่ยงภาษีล้วนมีความผิด แต่บทลงโทษจะแตกต่างกันออกไปในแต่ละกรณี ดังนี้

- กรณีที่ไม่จ่ายภาษีในเวลาที่กำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มอีก 1.5% ต่อเดือนจนถึงวันที่เสียภาษี

- กรณีที่ตรวจสอบพบว่าไม่ได้ยื่นภาษี หรือยื่นแสดงรายการไว้ แต่จ่ายภาษีขาดไป ต้องรับผิดชอบเงินส่วนที่หายไป และเสียเบี้ยปรับอีก 1 เท่า หรือ 2 เท่าของภาษีที่ต้องชำระ แล้วแต่กรณี

- กรณีไม่ยื่นแบบแสดงรายการ ภ.ง.ด.90, 91 หรือ 94 ภายในกำหนดเวลา ต้องระวางโทษปรับทางอาญาไม่เกิน 2,000 บาท

- ถ้าจงใจให้ข้อความเท็จ แสดงหลักฐานเท็จ หรือฉ้อโกง เพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 เดือนถึง 7 ปีและปรับตั้งแต่ 2,000-200,000 บาท

- ถ้าเจตนาไม่ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเลี่ยงภาษี มีโทษปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือจำคุกไม่เกิน 1 ปีหรือทั้งปรับทั้งจำ

แม้การเสียภาษีจะมีรายละเอียดที่ต้องศึกษาค่อนข้างมากในตอนแรก แต่หากค่อยๆ ศึกษาให้เข้าใจ และทำตามขั้นตอนก็สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และอาจกล่าวได้ว่าการเสียภาษีเป็นเรื่องที่ไม่น่ากลัว และการจ่ายภาษีให้ถูกต้อง ตรงไปตรงมา เป็นเรื่องที่ง่ายกว่าการตามแก้ปัญหาเรื่องภาษีในภายหลังหลายเท่าตัว

ที่มา: กรมสรรพากร, ITAX