เทียบฟอร์ม '2 แบงก์ยักษ์' ปั้นโมเดลใหม่สู่ 'เอส เคิร์ฟ'

เทียบฟอร์ม '2 แบงก์ยักษ์' ปั้นโมเดลใหม่สู่ 'เอส เคิร์ฟ'

เมื่อ "โลกเปลี่ยน" ใครที่อยู่นิ่งไม่ขยับปรับเปลี่ยนตามแรงเหวี่ยงของโลก จาก "ผู้ชนะ" ก็อาจกลายเป็น "ผู้แพ้" ได้

..เช่นเดียวกับ โลกของธุรกิจ “แบงก์” ที่ในช่วง 1-2 ปี ธุรกิจแบงก์ปรับตัวแบบหน้ามือเป็นหลังมือ การหวังพึ่งพารายได้จากธุรกิจดั่งเดิม ผ่านสาขาแบงก์ เปลี่ยนผ่านไปสู่การพึ่งพาดิจิทัลในการขับเคลื่อนธุรกิจมากขึ้น เพราะพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว 

...การหวังพึ่งพารายได้แบบเดิม ก็อาจไม่ตอบโจทย์อีกตอบไป โดยเฉพาะในโลกที่การแข่งขันบนดิจิทัลรุนแรงและทวีคูณขึ้นเรื่อยๆ

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบันหลายแบงก์ปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์การดำเนินธุรกิจไปพอสมควร ทั้งการควบรวมกิจการ การซื้อกิจการ รวมถึงการฉีกกรอบธุรกิจแบบเดิม ไปสู่ทิศทางใหม่ เช่นเดียวกัน "สองแบงก์ใหญ่" อย่าง ธนาคาร “กสิกรไทย” (KBANK) และธนาคาร “ไทยพาณิชย์” (SCB) ที่ลุกขึ้นมาประกาศ “สลัด”คราบแบงก์รูปแบบเดิม ไปสู่โมเดลใหม่ เพื่อสร้าง “การเติบโต"ให้กับธุรกิจในอนาคต 

โดยการประกาศตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่ ซึ่งแยกตัวจากการบริหารงานของแบงก์อย่างสิ้นเชิง เพื่อทำตัวเองให้เหมือน "สตาร์ทอัพ" ให้วิ่งเร็ว คิดเร็ว ปรับตัวเร็ว และสร้างสิ่งใหม่ๆ ในสิ่งที่แบงก์ไม่กล้าคิด ไม่กล้าทำในอดีต!

เริ่มต้นที่ "กสิกรไทย" เพิ่งประกาศ “ยุทธ์ศาสตร์” ในปี 2020 ไปหมาดๆ โดยยุทธ์ศาสตร์ที่ต่างไปจากการดำเนินธุรกิจแบงก์รูปแบบเดิมๆ คือการ มุ่งสู่การเป็นองค์กรเทคโนโลยีระดับภูมิภาค ด้วยการตั้ง “ไคไต้ เทค” ที่เซินเจิ้น โดยตั้งเป้าให้ที่แห่งนี้เป็นแหล่งรวมสมองไอที แหล่งรวมฟินเทค และเป็นยูนิคอร์นอีกรายในจีน

ไม่เพียงเท่านั้น กสิกรประกาศตั้งบริษัท “ Kasikorn X” หรือ KX ซึ่งถือเป็นบริษัทใหม่ ที่จะสร้าง S-Curve สร้างรายได้ใหม่ๆให้กับแบงก์และตั้งเป้าให้บริษัทนี้ เป็น “ฟินเทคยูนิคอร์น”ด้วย 

“เรืองโรจน์ พูนผล” ประธานบริษัท Kasikorn Business-Technology Group (KBTG) กล่าวว่า ยิ่งโลก กำลังเข้าสู่การ “disruption”มากขึ้น สิ่งที่ธนาคารต้องทำคือ ‘The New Fin-Tech’ โดยการสร้างจุดแข็งด้านเทคโนโลยี และสร้างขีดความสามารถให้แบงก์เพิ่มขึ้นในชนิดที่ไม่เกิดขึ้นในอดีต! ด้วยงบลงทุนใหม่ 3 ปีที่ตั้งไว้ 1.7 หมื่นล้านบาท เพื่อขับเคลื่อนโมเดลต่างๆให้เป็นไปตามเป้าหมาย

“กระทิง” ชี้ให้เห็นบทบาทของ “KX”ว่า เสมือนเป็นโรงงาน เป็นเครื่องจักรในการสร้าง “S-Curve”ใหม่ ให้แบงก์ ด้วยนวัตกรรม ด้วยโปรดักส์ ด้วยบิสเนสโมเดลใหม่ทางธุรกิจที่ไม่เคยมีมาก่อน ซึ่งไม่ใช่ การตั้งบริษัทใหม่ขึ้นมาเพื่อไปลงทุนฟินเทค หรือสตาร์ทอัพเหมือนแบงก์อื่นๆ แต่บิสเนสโมเดล คือ "คิดนอกกรอบ" เพื่อนำเสนอโปรดักส์เหล่านั้น เข้าไปตีตลาด เพื่อให้ได้มาซึ่งรายได้ ฐานลูกค้าในอนาคต

แน่นอนบิสเนสโมเดลแบบใหม่ คงไม่ใช่การนำเสนอ โปรดักส์แบบเดิม อย่าง สินเชื่อ หรือ ระบบชำระเงิน แต่โปรดักส์ใหม่ต้องแตกต่าง ทำในที่สิ่งที่แบงก์อื่นๆคิดไม่ถึง และคาดว่าจะเห็นโปรดักส์แรกๆออกมาภายในปีนี้ และแน่นอน เมื่อ“KX”ทำตัวให้คล่องเหมือนสตาร์ทอัพ ความเสี่ยงที่ตามมากับธุรกิจก็ต้องมากเช่นกัน แต่หาก “KX”ก้าวข้ามความท้าทายเหล่านี้ไปได้ “S- Curve”ใหม่ๆจะตามมาแน่นอน 

158044702838

เท่าที่ดู การรันโมเดลแบบนี้ ก็มีส่วนคล้ายกับ “ไทยพาณิชย์”ที่ตั้งบริษัทใหม่ ขึ้นมาภายใต้ “SCB10x”และมีเป้าหมายเดียวกันคือสร้างรายใหม่ๆกับไปสู่แบงก์ในอนาคต แต่หากดูโมเดลของ “SCB10x” รูปแบบโมเดลอาจซับซ้อนกว่า ภายใต้แม่ คือ SCB10x ที่เข้าไปลงทุน โดยการถือหุ้นในบริษัทลูกๆ ผ่านบิสเนสโมเดล 3 ด้าน ด้านแรก คือ Venture Builder (VB) ซึ่งเป็นการลงทุนร่วมสร้างธุรกิจกับฟินเทคสตาร์ทอัพ โดยSCB 10X จะเข้าไปสนับสนุนด้านการเงินทุน สอง Strategic Investment and Partnership คือ การร่วมลงทุนและการเป็นพันธมิตร และสุดท้ายคือ Venture Capital (VC) คือ การลงทุนใน Startup ทั่วโลก

“อารักษ์ สุธีวงศ์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SCB10x บอกว่า ที่ผ่านมา แบงก์มี ฐานลูกค้า 16 ล้านราย มีลูกค้าดิจิทัล 10 ล้านราย แต่ยังไม่พอสร้างการเติบโตใหม่ๆ ให้เกิดขึ้น ดังนั้นสิ่งที่เราต้องทำคือ Moonshot Mission โดยการคิดและทำในสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นหรือมีมาก่อน มองโอกาสผ่าน 3 ธุรกิจหลักในข้างต้น และการทำโมเดลเหล่านี้ได้ เรามีความพร้อม โดยการตั้งงบลงทุนที่เตรียมไว้ 2หมื่นล้านบาท เพื่อเคลื่อนบิสเนสโมเดลต่างๆให้สำเร็จ