'สภาพัฒน์' เปิดตัวสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาเสริมมุมมองวางแผนอนาคตประเทศ

'สภาพัฒน์' เปิดตัวสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาเสริมมุมมองวางแผนอนาคตประเทศ

สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดตัวสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งของคลังสมองด้านนโยบายสาธารณะและการพัฒนาของประเทศไทย ประเดิมงานเอไอ แก้ปัญหาฝุ่น-ขยะพลาสติก เตรียมข้อมูลวางแผนพัฒนาฉบับที่13

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่าสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา(Institute of Public Policy and Development) หรือ “ippd” จัดตั้งขึ้นมาตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยอยู่ภายใต้มูลนิธิพระยาสุริยานุวัตรเพื่อเป็นหน่วยงานวิจัยของสภาพัฒน์

โดยหน้าที่หลักของสถาบันฯคือการทำหน้าที่มองไปข้างหน้าและคิดนโยบายที่เหมาะสมสำหรับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ โดยแผนงานที่สถาบันต้องมีการเตรียมความพร้อมที่จะสนับสนุนข้อมูลวิจัยเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจซึ่งเป็นเรื่องสำคัญในแผนพัฒนาฯฉบับที่13 ที่จะเริ่มมีการจัดทำเร็วๆนี้ และมีประเด็นเร่งด่วนที่รัฐบาลได้ให้โจทย์กับสถาบันไว้ได้แก่การแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 และการแก้ปัญหาเรื่องขยะพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (Single Use Plastic) 

“ในอนาคตจะมีความท้าทายใหม่ๆที่เกิดขึ้นในโลกและเป็นโจทย์ท้าทายของประเทศจำนวนมาก ดังนั้นจะต้องมีหน่วยงานเฉพาะที่ทำหน้าที่แตกต่างจากงานหลักของสภาพัฒน์ที่เกี่ยวพันกับการแก้ปัญหาในอดีตและปัจจุบัน โดยหน่วยงานนี้จะมีการศึกษา วางแผนและเสนอแนะนโยบายที่จำเป็นของประเทศในอนาคต เช่น เรื่องของปัญญาประดิษฐ์ และเรื่องของงานในอนาคตที่จะมีความเปลี่ยนแปลงไปจากในปัจจุบันมาก”นายทศพร กล่าว 

158037223654

นายสรภพ เกียรติพงษ์สาร ผู้อํานวยการสถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนากล่าวว่าการมองอนาคตของประเทศไทยมากขึ้นโดยต้องใช้กระบวนการสร้างนโยบายที่มาจากความต้องการของประชาชนหรือภาคธุรกิจเพื่อให้การขับเคลื่อนเกิดขึ้นจากข้างล่างไม่ใช่มาจากเรื่องการกำหนดนโยบายอย่างเดียว ซึ่งการทำนโยบายในอนาคตต้องแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และระดมสมอง เพื่อวิเคราะห์ถึงสถานการณ์ของประเทศไทยในทศวรรตใหม่และแนวทางการส่งเสริมให้ไทยเป็นสังคมอุดมปัญญาในยุคที่เทคโนโลยีต่างๆ ก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว

นอกจากนี้สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนาได้เชิญ นายสเตฟาโน่ สกูรัตติ(Mr. Stefano Scuratti) ผู้อํานวยการด้านนโยบายสาธารณะส่วนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิ ก จาก The Economist Intelligence Unit นําเสนอรายงานเรื่อง “ผลกระทบของปัญญาประดิษฐ์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย: 3 ความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในปี 2035(Impacts of AI on Thailand’s economy and society: Three scenarios to 2035) โดยได้ฉายภาพอนาคตของประเทศไทยในสถานการณ์จําลองต่าง ๆ เพื่อเป็นการเปิดประเด็นอภิปรายและนําเสนอการใช้ข้อมูลและแบบจําลองในการมองภาพอนาคตและออกแบบนโยบายด้วย