สถาบันป๋วยฯชี้ คนไทยเกือบ 5 ล้านบัญชี มีเงินฝากไม่ถึง 50 บาท!

สถาบันป๋วยฯชี้ คนไทยเกือบ 5 ล้านบัญชี มีเงินฝากไม่ถึง 50 บาท!

สถาบันวิจัยป๋วย เปิดผลศึกษาพฤติกรรมเงินฝากคนไทย พบเงินฝากทั้งระบบที่ 12 ล้านล้านบาท พบคนรวยครองเงินฝากเกิน 93 %หากเทียบกับเงินฝากทั้งหมด หลักๆอยู่ในกรุงเทพ ชลบุรี ขณะที่อีกเกือบ 5 ล้านบัญชี มีเงินฝากไม่ถึง 50 บาท ชี้ช่องว่างห่างกันเกินล้านเท่า!

ล่าสุดสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ มีการศึกษาร่วมกันกับ สถาบันคุ้มครองเงินฝาก เพื่อศึกษาพฤติกรรมการฝากเงินของประชาชนในประเทศ โดย ณ มิ.ย. 60 พบว่า เงินฝากรวมของทั้งระบบอยู่ที่ราว 12 ล้านล้านบาท ครอบคลุมกว่า 80.2 ล้านบัญชี

และหากดูเงินฝากทั้งหมด พบว่า มาจาก ผู้ฝากเงินรายใหญ่ ถึง 93 % ของเงินฝากทั้งหมดที่มีกว่า 12 ล้านล้านบาท โดยผู้ฝากเงินกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีเงินฝากเกิน 3 ล้านบาท โดยเงินฝากหลักๆของกลุ่มนี้ มักอยู่ในชุมชนเมือง เช่น กรุงเทพมหานครและปริมณฑล ชลบุรี เชียงใหม่ นครราชสีมา และสงขลา เป็นต้น

ขณะเดียวกัน พบว่า ผู้ฝากเงินเกือบ 5 ล้านคน มีเงินฝากไม่ถึง 50 บาท ซึ่งห่างกันเกิน 1 ล้านเท่า หากเทียบกับกลุ่มที่ฝากเงินมากที่สุด ซึ่งสะท้อนให้เห็นช่องว่างของคนฝากที่มีเงินมากที่สุดกับกลุ่มที่มีเงินฝากน้อยที่สุดห่างกันค่อนข้างมาก

157683672213

ทั้งนี้ สิ่งที่น่าสนใจจากผลสำรวจดังกล่าว มีอาทิ

- บัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ กว่า 80 ล้านบัญชีอยู่ที่ใครบ้าง

ในภาพรวมคนไทยกว่าครึ่ง (56.04%) มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์ แต่มีเงินในบัญชีน้อย โดยครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่ถึง 3,142 บาท โดยพบว่า 32.8% ของผู้ฝาก (หรือ 12.2 ล้านคน) มีเงินในบัญชีไม่เกิน 500 บาท ซึ่งในจำนวนนั้นมีผู้ฝากถึง 4.7 ล้านคนที่มีเงินในบัญชีไม่ถึง 50 บาท

ขณะเดียวกันมีเพียง 0.2% ของผู้ฝากที่มีเงินในบัญชีมากกว่า 10 ล้านบาท ทั้งนี้ ความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์มีความแตกต่างทั้งในมิติของอายุ พื้นที่และระหว่างผู้ชายและผู้หญิง

- อายุสัมพันธ์กับปริมาณเงินในบัญชี

พบว่า กลุ่มที่มีบัญชีเงินฝากกับธนาคารพาณิชย์มากที่สุด คือ กลุ่มวัยเริ่มทำงาน มีน้อยในกลุ่มวัยเด็ก และมีเกือบครึ่งในกลุ่มวัยหลังเกษียณ

โดย 80% ของกลุ่มคนวัยเริ่มทำงาน (21-35 ปี) จะมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่มีเพียง 10-30% ของกลุ่มคนวัยเด็ก (อายุ 15-18 ปี) ที่มีบัญชีและครึ่งหนึ่งของกลุ่มคนดังกล่าวก็มีเงินในบัญชีไม่ถึง 2,000 บาท การมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์น้อยในเด็กอาจเป็นผลมาจากการที่เด็กส่วนใหญ่มักเปิดบัญชีเงินฝากกับธนาคารออมสิน

นอกจากนี้เรายังพบว่าจำนวนเงินในบัญชีมีความสัมพันธ์กับอายุที่เพิ่มขึ้น กล่าวคือ คนที่มีอายุมากจะมีปริมาณเงินในบัญชีมากกว่าคนที่อายุน้อย โดยคนวัยหลังเกษียณมีค่ากลางเงินฝากในบัญชีต่อรายที่ 7,445 บาทเทียบกับกลุ่มคนที่มีอายุน้อย (อายุ 15-25 ปี) ที่มีประมาณ 947 บาท

- ผู้หญิงมีบัญชีเงินฝากมากกว่าผู้ชาย

ทั้งนี้ ยังได้พบว่า สัดส่วนของผู้หญิงไทยที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์จะมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชายไทย และผู้หญิงก็มีเงินในบัญชีเงินฝากมากกว่าผู้ชายถึงสองเท่าในเกือบทุกช่วงอายุ ซึ่งตรงกันข้ามกับประเทศพัฒนาส่วนใหญ่ที่ผู้ชายจะมีเงินฝากมากกว่าผู้หญิง (1.3 เท่าในกรณีชาวอังกฤษ (NEST, 2018) หรือ 2.2 เท่ากรณีชาวอเมริกัน (Fed, 2017))

นอกจากนี้ ยังเห็นถึงความแตกต่างของสัดส่วนความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากและยอดเงินฝากในบัญชีระหว่างผู้หญิงและผู้ชายไทย โดยกว่าครึ่งของผู้หญิง (55.5%) จะเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝาก และมีมากถึง 88.5% ในผู้หญิงอายุ 25 ปี ขณะที่สัดส่วนของผู้ชายมีไม่ถึงครึ่ง (48.1%) ที่มีบัญชีเงินฝาก และมากสุดในช่วงอายุ 23 ปี ที่ 77%

ทั้งนี้ ผู้หญิงยังมียอดเงินฝากสูงกว่าของผู้ชาย โดยผู้หญิงมีค่ากลางเงินฝากต่อรายอยู่ที่ 4,407 บาท สูงกว่าเงินฝากในบัญชีของผู้ชายกว่าสองเท่า (ซึ่งอยู่ที่ 2,524 บาท) ในเกือบทุกช่วงอายุและตั้งแต่ในวัยเด็ก ซึ่งอาจสะท้อนถึงความมีวินัยทางการเงิน หรือ ทักษะการบริหารจัดการเงินของผู้หญิงที่มีมากกว่าผู้ชายตั้งแต่ยังเล็ก และสอดคล้องกับงานวิจัยหลายชิ้นที่ชี้ให้เห็นว่าผู้หญิงมีบทบาทสำคัญในการดูแลการเงินของครัวเรือน จึงอาจทำให้ผู้หญิงมีเงินในบัญชีมากกว่าผู้ชาย

- คนเมืองมีบัญชีเงินฝากมากที่สุด

ในเชิงพื้นที่ ได้พบความแตกต่างของความเป็นเจ้าของบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ โดยคนที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์มากที่สุดคือกรุงเทพมหานครและปริมณฑล ขณะที่ภาคใต้มีบัญชีน้อยที่สุด รูปที่ 4a แสดงให้เห็นว่ากว่า 80% ของคนกรุงเทพมหานครและชุมชนเมืองจะมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ขณะที่คนในชนบทและบางจังหวัดในภาคใต้ (นราธิวาส ปัตตานี) ภาคเหนือ (ตาก แม่ฮ่องสอน) ภาคอีสาน (บึงกาฬ) ไม่ถึง 1 ใน 3 ของประชากรที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนในชนบทส่วนใหญ่จะมีบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือ สถาบันการเงินกึ่งในระบบและนอกระบบ เช่น สหกรณ์ กลุ่มออมทรัพย์ เป็นต้น

ความแตกต่างของการมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ของคนในแต่ละภูมิภาค ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนถึงความต้องการและความจำเป็นของผู้ฝากแต่ละกลุ่ม รวมถึงความทั่วถึงของปริมาณสาขาของธนาคารพาณิชย์ โดยพบความสัมพันธ์เชิงบวกระหว่างจำนวนสาขาและความเป็นเจ้าของบัญชี กล่าวคือ หากภูมิภาค/จังหวัดใดมีจำนวนสาขา ธนาคารพาณิชย์ มาก ก็จะมีจำนวนประชากรที่มีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์สูงเช่นกัน

- มีบัญชี อาจไม่ได้แปลว่า "ออมเงิน"

พบว่าคนไทยมีบัญชีธนาคารพาณิชย์อย่างแพร่หลายแต่อาจไม่ได้หมายความว่าออม โดยกว่าครึ่งของคนไทยมีบัญชีเงินฝากธนาคารพาณิชย์ และครึ่งหนึ่งของผู้ฝากมีเงินในบัญชีไม่เกิน 3,142.2 บาท

ผู้ฝากเกือบทั้งหมดจะมีบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ และผู้ฝากส่วนใหญ่ (88%) จะฝากเงินไว้ในบัญชีออมทรัพย์เท่านั้น

จำแนกพฤติกรรมการฝากเงินตาม combination ของประเภทบัญชีเงินฝากที่ผู้ฝากแต่ละคนมี พบว่า 97.3% ของผู้ฝากมีบัญชีออมทรัพย์ บัญชีเงินฝากออมทรัพย์จึงถือเสมือนเป็นบัญชีขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคน เช่นเดียวกับผู้ฝากในประเทศอื่นๆ เว้นแต่ในประเทศอเมริกาและเนเธอร์แลนด์ที่พบว่าสัดส่วนของครัวเรือนที่มีบัญชีกระแสรายวัน (checking account หรือ current account) มากกว่าครัวเรือนที่มีบัญชีออมทรัพย์ นอกจากนี้ผู้ฝากยังนิยมฝากเงินไว้กับธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นหลัก โดยเฉพาะธนาคารพาณิชย์ไทยขนาดใหญ่