Green Pulse l โซลาร์รูฟท็อป ปลกแอกพลังงานไฟฟ้าไทย

Green Pulse l โซลาร์รูฟท็อป ปลกแอกพลังงานไฟฟ้าไทย

แผงโซลาร์เซลล์กล่าว 90 แผงค่อยๆ ถูกติดตั้งขึ้นทั่วหลังคาตึกหลักของโรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม จังหวัดอุบลราชธานีเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และในวันถัดๆ มาก็เกิดขึ้นอีกที่ โรงพยาบาลภูสิงห์ จังหวัดศรีสะเกษ และโรงพยาบาลชุมแพ จังหวัดขอนแก่น

กลายเป็นอีก 3 โรงพยาบาลรัฐที่ได้รับการติดตั้งตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar PV Rooftop) ซึ่งนอกจากจะช่วยทางโรงพยาบาลให้สามารถผลิตไฟฟ้าใช้ได้ด้วยตนเองบางส่วนแล้ว หากนักรณรงค์ด้านพลังงานยั่งยืนยังคาดหมายถึงความสามารถในการพึ่งพาตัวเองด้านพลังงานและความสามารถในการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานของประชาชนทั่วไปในอนาคต

โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดม และอีกสองโรงพยาบาลดังกล่าว เป็นโรงพยาบาลเป้าหมาย7แห่งทั่วประเทศที่ทางกองทุนแสงอาทิตย์” (Thailand Solar Fund) ซึ่งเกิดจากการรวมตัวของเครือข่ายภาคประชาสังคม ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม ด้านผู้บริโภค และนักวิชาการ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ได้ช่วยกันระดมทุนเพื่อมาสนับสนุนงานติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์บนหลังคาตึกโรงพยาบาลเพื่อช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าให้กับทางโรงพยาบาล โดยคาดหมายว่า จะสามารถช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ได้ถึงกว่าสองแสนบาทต่อปี หรือ หนึ่งในห้าของค่าไฟาฟ้าที่ต้องจ่ายในแต่ละปีของโรงพยาบาล

มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ร่วมก่อตั้งกองทุนแสงอาทิตย์ ระบุว่า อย่างที่โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดมเองเป็นโรงพยาบาลชุมชนขนาด 60 เตียง รองรับการให้บริการและช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ราว 30,000 คน มีภาระค่าไฟฟ้าในปี 2560 และ 2561 เฉลี่ยเดือนละกว่า 100,000 บาท หากคิดตลอดทั้งปี โรงพยาบาลทุ่งศรีอุดมต้องรับภาระค่าไฟฟ้าสูงถึงปีละกว่า 1 ล้านบาท

ด้วยงบประมาณอันจำกัด การระดมทุนเพื่อติดตั้งโซลาร์เซลล์ให้กับโรงพยาบาล จะช่วยให้โรงพยาบาลสามารถลดภาระค่าไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้น สามารถนำเงินที่ลดค่าไฟฟ้าได้ไปใช้ในการรักษาชีวิตผู้ป่วยและเพิ่มขีดความสามารถในการบริการประชาชนอย่างเต็มที่ต่อไป มูลนิธิระบุ

สำหรับธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท๊อปเช่นนี้ กำลังแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการพึ่งพาตัวเองและความสามารถในการกระจายความเสี่ยงด้านพลังงานไฟฟ้าของระดับปัจเจกหรือครัวเรือนในชุมชนในอนาคต โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาที่มีความท้าทายจากสภาวะแวดล้อมต่างๆ อาทิ ภาวะโลกร้อนที่อาจสร้างแรงกดดันด้านแหล่งพลังงานหรือส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตพลังงานในอนาคต

ธารากล่าวว่า การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนแม้จะถูกกำหนดเป็นนโยบายหนึ่งในภาคพลังงานของรัฐ และประเทศไทยถือว่ามีการขยายตัวที่นำหน้าอีกหลายประเทศ ในภูมิภาค หากแต่เมื่อย้อนกลับมาดูการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์แล้ว จะเห็นได้ว่า ยังขาดการสนับสนุนที่ชัดเจนในระดับครัวเรือน ซึ่ง นโยบายรัฐที่ผ่านมา ยังส่งเสริมการลงทุนและการผลิตที่กระจุกตัวอยู่ต่กับนักลงทุนรายใหญ่ หรือ Utility Scale ซึ่งได้แก่ โซลาร์ฟาร์มต่างๆที่มีกำลังผลิตเกิน 10 MW ขึ้นไป

แม้นโยบายของรัฐจะระบุถึงการส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนรวมทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ก็ยังจำกัดอยู่ในการลงทุนในระดับดังกล่าว จึงนำซึ่งคำถามในภาคประชาสังคมถึงการสนับสนุนการผลิตพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ในระดับครัวเรือนที่พวกเขาเชื่อว่ามีศักยภาพมากพอที่จะให้ประชาชนพึ่งพาตัวเอง และแม้กระทั่งผันตัวไปเป็นผู้ผลิตรายย่อยได้

“นโยบายส่งเสริมพลังงานหมุนเวียนของรัฐในส่วนของพลังงานแสงอาทิตย์มันยังจำกัดอยู่ในลักษณะนี้ เราก็มีคำถามกันว่า แล้วระดับครัวเรือนล่ะ ถ้าโซลาร์เซลล์บนหลังคาของแต่ละบ้านผลิตไฟฟ้าได้ แล้วยังส่งเข้าระบบสายส่งได้อีก จะเกิดอะไรขึ้น มันก็เลยกลายมาเป็นโจทย์ของเราที่มาผลักดันเรื่องนี้ เรามีสิทธิที่จะทำแบบนั้นด้วยมั้ย มันก็เป็นเรื่องของความเท่าเทียมและเป็นธรรมด้านพลังงาน”

แผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือปี 2561-2580 (AEDP 2018) ภายใต้แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย (PDP 2018) มีการส่งเสริมพลังงานทดแทน โดยมีสัดส่วนที่ระบุในช่วงปลายแผนปี 2580 ไม่น้อยกว่าร้อยละ 30

โดยในกำลังผลิตที่ตั้งไว้ราว 18,000 MWจะมีการส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ (โซลาร์เซลล์) เป็นสัดส่วนมากที่สุด หรือราว 10,000 MW ซึ่งนอกจากโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จะมีโครงการโซลาร์รูฟท็อปภาคประชาชนรวมอยู่ด้วย ซึ่งจะเปิดรับซื้อไฟฟ้าปีละ 100 เมกะวัตต์ ต่อเนื่อง 10 ปี รวม 1,000 เมกะวัตต์

อย่างไรก็ตาม ธารามองว่าการกำหนดสัดส่วนการผลิตดังกล่าวยังเป็นการจำกัดโควต้าของการผลิตจากภาคครัวเรือนมากเกินไป

นอกจากนี้ รัฐยังขาดกลไกและมาตรการส่งเสริมการลดต้นทุนในการผลิต ซึ่งหมายถึงแผงโซลาร์ที่นำมาติดตั้งที่ยังมีราคาแพง และที่สำคัญ ธารากล่าวว่า รัฐยังไม่มีการสนับสนุนระบบการขายไฟที่เป็นธรรมให้กับการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป หรือที่เรียกว่า Net metering ซึ่งเป็นมิเตอร์ไฟฟ้าแบบดิจิตัลที่จะทำการหักลบ การใช้ไฟฟ้าและการผลิตไฟฟ้าได้ของผู้ใช้ในแต่ละเดือน และเป็นยอดสุดท้ายที่ผู้ใช้จะต้องจ่ายจริง

ทั้งนี้ ธาราตั้งข้อสังเกตว่า การกล่าวอ้างว่าการนำไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซล่าร์รูฟท็อปเข้าระบบรวม ทำให้เกิดการรบกวนระบบ ยังเป็นอุปสรรคที่สำคัญในการพัฒนาระบบการซื้อขายไฟฟ้าจากโซล่ารูฟท็อป

จากข้อมูลของการไฟฟ้านครหลวงปี 2561 ผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยใช้ไฟฟ้าเฉลี่ยรายละ 345หน่วยและจะต้องจ่ายค่าไฟฟ้าเฉลี่ย 4 บาทต่อหน่วย คิดเป็นเงินค่าไฟฟ้าปีละประมาณ 16,600 บาทหรือเดือนละประมาณ1,400บาท ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าครัวเรือนที่จ่ายคิดเป็นร้อยละ 5.8ของรายได้ครัวเรือน

ในขณะที่ต้นทุนไฟฟ้าเฉลี่ยที่กองทุนฯ เคยศึกษาจะอยู่ที่ประมาณ1.17บาทต่อหน่วย

กองทุนฯ ระบุว่า บ้านหลังหนึ่งสามารถติดตั้งโซลาร์เซลล์ราว 3 กิโลวัตต์เพื่อสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉลี่ยเดือนละ 355 หน่วย

ทั้งนี้อายุของแผงโซลาร์เซลล์จะใช้งานได้นานประมาณ25ปี ประมาณการณ์ความคุ้มทุนของการติดตั้งโซลาห์เซลล์จะอยู่ที่ราว 5-8 ปี หลังจากนั้นปีที่ 9 เป็นต้นไปถือเป็นการใช้ไฟฟ้าฟรี กองทุนระบุ

เลขาธิการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและหนึ่งในคณะกรรมการกองทุนฯ สาลี อ๋องสมหวัง กล่าวว่า ประเทศไทยต้องการระบบ Net Metering ซึ่งนอกจากจะช่วยให้การซื้อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์รูฟท็อปเป็นธรรมแล้ว ยังหมายถึงการรับประกันสิทธิของประชาชนในการเข้าถึงพลังงานสะอาด และสิทธิในการเปลี่ยนตัวเองจกการเป็นเพียงผู้บริโภคที่ต้องแบกรับค่าไฟมาเป็นผู้ผลิตที่สามารถขายไฟช่วยให้ระบบยั่งยืนได้