สอบปม‘ธนาธร’จ้างล็อบบี้ยิสต์

สอบปม‘ธนาธร’จ้างล็อบบี้ยิสต์

หลังจากมีการเผยแพร่เอกสารที่นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ จ้างล็อบบี้ยิสต์ ประสานงานเกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมือง เมื่อครั้งเดินทางไปดูงานในสหรัฐ

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็ต้องตรวจสอบดู แต่เขาบอกว่า เขาจ้างล็อบบี้ยิสต์อย่างเดียว เราก็ต้องสอบสวนดู

ส่วนจะกระทบความมั่นคง กระทบอะไรหรือไม่เกี่ยวกับประเทศไทย พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า "ก็ต้องกระทบหมด คนไทยจะไปขายประเทศได้ยังไง" 

ส่วนจะดำเนินการตามกฎหมายหรือไม่ ต้องให้นักกฎหมายพิจารณาก่อน เชื่อว่า เอกสารดังกล่าว ไม่มีความเชื่อมโยงกับเอกสารโครงข่ายขบวนการทำลายประเทศ แต่ฝ่ายความมั่นคงก็ต้องติดตามต่อไป

ด้านนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ด้านกฎหมาย ปฏิเสธการตอบคำถาม เรื่องข้อกฎหมายโดย กล่าวเพียงว่า ไม่รู้เรื่อง จึงไม่ควรไปตอบ

ขณะที่เฟซบุ๊คพรรคอนาคตใหม่ โพสต์ข้อความชี้แจงกรณีดังกล่าว 3 ประเด็นคือ 1. เอกสารการว่าจ้างดังกล่าว ไม่ได้เป็นเอกสารหลุดอย่างที่สื่อบางสำนักกล่าวถึง แต่เป็นเอกสารที่ประเทศสหรัฐฯ กำหนดให้ต้องเปิดเผยต่อสาธารณะอยู่แล้ว เพื่อแสดงความโปร่งใสของการทำงานที่เกี่ยวข้องกับการเมืองในระบอบประชาธิปไตย 

2.นายธนาธรได้ว่าจ้าง บริษัท APCO Worldwide LLC เพื่อทำหน้าที่อำนวยความสะดวก ในการติดต่อประสานงาน นัดหมายบุคคลและหน่วยงานต่างๆ จัดตารางงาน และจัดทำเอกสารข้อมูลภาษาอังกฤษ สำหรับการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ระหว่างวันที่ 12-16 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากการนัดหมายบางส่วนจำเป็นต้องมีการลงทะเบียนเข้าพบ จึงต้องมีตัวแทนดำเนินการ ตามระบบกฎหมายของทางการสหรัฐฯ

และ 3. กิจกรรมและการเดินทางไปต่างประเทศของนายธนาธร ไม่ได้ทำให้ประโยชน์ของประเทศชาติเสียหาย รวมทั้งไม่เกี่ยวข้องกับการสร้างสถานการณ์อื่นๆ แต่เป็นเพียงการเดินทางไปอธิบายแนวทางการทำงาน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์ในประเทศไทย ทั้งนี้ การเดินทางไปพบกับบุคคล และองค์กรในประเทศต่างๆ หลายกรณี นายธนาธรได้รับการติดต่อ เชิญไป บางกรณีเป็นการติดต่อเข้าพบ ซึ่งทั้งหมดไม่ใช่เรื่องผิดปกติใดๆ

 

ขณะที่ความเห็นของนักวิชาการ นายสติธร ธนานิธิโชติ รักษาการ ผอ.สำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย สถาบันพระปกเกล้า มองว่า เรื่องการจ้างบริษัทล็อบบี้ยิสต์ ในประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ แต่โดยบทบาททางการเมือง ในสหรัฐฯ ถือเป็นเรื่องปกติ ที่บริษัทประเภทนี้เข้ามาทำหน้าที่เป็นตัวกลาง ให้เอกชนสามารถเข้าถึงนักการเมืองได้สะดวกอย่างเปิดเผย ตามกฎหมาย ซึ่งในการเมืองไทยก็เทียบได้กับการทำงานของเอ็นจีโอ ที่กระตือรือร้นผลักดันนโยบาย กฎหมาย หรือข้อเสนอต่างๆ ที่เห็นว่าเป็นประโยชน์กับประชาชน จึงทำหน้าที่ให้การสนับสนุนหรือรับไปพิจารณา ให้เกิดเป็นผลเป็นบวก สิ่งที่ต่างกันระหว่างเอ็นจีโอกับล็อบบี้ยิสต์ อยู่ที่ผลตอบแทน คือเอ็นจีโอรายนั้นๆ อาจม่ีตำแหน่ง และรับรายได้ประจำจากองค์กรที่ตัวเองสังกัด ไม่มีใครมาว่าจ้าง แต่ล็อบบี้ยิสต์จะได้เงินจากการว่าจ้าง หรือรับจ้างจากบุคคลที่ต้องการดีลกับนักการเมือง 

ทั้งนี้ ตามที่พรรคอนาคตใหม่ ชี้แจงว่าการว่าจ้างล็อบบี้ยิสต์ เพื่อการนัดหมายบุคคลในประเทศสหรัฐฯ ก็ต้องย้อนดูว่า การนัดหมายสามารถทำได้ด้วยวิธีปกติหรือไม่ เช่น การติดต่อผ่านหน่วยงานราชการ ประสานกันแบบรัฐต่อรัฐ เว้นเสียแต่ว่า สิ่งที่คุณต้องการ มีวัตถุประสงค์อื่นแอบแฝง แต่เนื่องจากประเทศไทยไม่มีกฎหมายรองรับ ฉะนั้นเราจึงทำได้เพียง รับฟังการชี้แจงเท่านั้น

วันเดียวกัน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ภายหลังเสร็จสิ้นภารกิจร่วมประชุมสมัชชาใหญ่สหประชาชาติครั้งที่ 74 ณ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา เมื่อถูกถามว่า ในฐานะที่ไทยเป็นผู้นำในด้านการปราบปรามยาเสพติด หลังจากที่มีข่าวรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลชุดนี้ พัวพันเรื่องยาเสพติด ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของไทยบนเวทีโลก พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า ถ้าผิด ถ้าฟ้องมา แล้วคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ(ป.ป.ช.)สรุปแล้วว่าผิด ผิดก็คือผิด ตนปกป้องให้ไม่ได้ เพราะเขารับรองในประวัติตัวเองอยู่แล้ว และยินยอมที่จะถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย 

ในส่วนของรัฐบาลเอง เรื่องการคัดกรองคนเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี เรามีการตรวจสอบอยู่แล้ว เป็นการตรวจสอบในชั้นต้น โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และส่งไปให้หน่วยงานต่างๆ ตรวจสอบตามข้อมูลที่มีอยู่

“การคัดกรองคนเป็นรัฐมนตรี ไม่ใช่ผมคนเดียว หลายคนก็ต้องมาดู พรรคการเมืองก็เสนอเข้ามา ผมก็ต้องตรวจสอบตามหลักเกณฑ์นี้ ที่ใช้มาทุกรัฐบาล” นายกฯ กล่าว

เมื่อถามย้ำว่า ถ้ามีการปรับคณะรัฐบาลชุดต่อไป พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวว่า “ก็เขาผิดไหมล่ะ ถ้าผิดก็เอาออก ใครผิดก็เอาออกหมด ผมผิดก็ต้องออก ถูกไหมล่ะ”

ส่วนกรณีมีการติดป้ายรณรงค์เพื่อประชาธิปไตยและต่อต้านรัฐบาลไทย บริเวณทางเข้ายูเอ็น รวมทั้งการประท้วงของกลุ่มคน หน้าโรงแรมที่พักของคณะเจ้าหน้าที่ไทย นายกฯกล่าวว่า ตนไม่สนใจเรื่องการประท้วง ขอให้ไปดูว่า คนประท้วงคนไทยหรือไม่ต้องไปว่าคนอยู่เบื้องหลังเรื่องนี้ ตนมีหลักฐานหมด มีคนรายงานแล้วว่า มาที่นี่ต้องเจอแบบนี้ แต่ตนไม่กลัว

ขณะที่ความคืบหน้าการวินิจฉัยสมาชิกภาพของนายนวัธ เตาะเจริญสุข ส.ส.ขอนแก่น พรรคเพื่อไทย ภายหลังจากถูกศาลตัดสินประหารชีวิตคดีจ้างวานฆ่า พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า สำนักงาน กกต.จะเสนอที่ประชุม กกต.เพื่อพิจารณา กรณีที่เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ส่งหนังสือตอบกลับมายัง กกต. ซึ่งต้องพิจารณาข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้ง

ส่วนกรณีที่รองนายกฯ วิษณุ เครืองาม ระบุว่า การนับเงื่อนเวลาจัดการเลือกตั้งซ่อมส.ส.นครปฐม ให้นับจากวันที่มี พ.ร.ฎ.การเลือกตั้งประกาศในราชกิจจานุเบกษา ไม่ได้นับจากวันที่ ส.ส.พ้นสมาชิกภาพ เลขาฯกกต.ระบุว่า ฝ่ายกฎหมายอยู่ระหว่างตรวจสอบ เพราะในกฎหมายไม่ได้ระบุชัด