'แพลตฟอร์มเอ็นดีทีพี' เชื่อมธุรกิจดิจิทัลอาเซียน

'แพลตฟอร์มเอ็นดีทีพี' เชื่อมธุรกิจดิจิทัลอาเซียน

รายงาน: เกิดปรากฏการณ์ตัวเลขการค้าอิเล็กทรอนิกส์ หรืออีคอมเมิร์ซทั่วโลกขยายตัวเติบโตเพิ่มสูงขึ้น

การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) คาดว่า มูลค่าการค้าอีคอมเมิร์ซในตลาดเอเชียแปซิฟิก จะเติบโตกว่า 27% ภายในปี 2562 จึงทำให้หลายประเทศต่างต้องปรับตัวเข้าไปสู่การค้าดิจิทัลในภูมิภาค

กอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย ให้สัมภาษณ์พิเศษเกี่ยวกับการร่วมพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศ หรือ “เอ็นดีทีพี” (National Digital Trade Platform : NDTP) ว่า สมาคมธนาคารไทยมีความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (เอ็มเอสเอ็มอี) ในมิติด้านการเงิน เพื่อเพิ่มความสะดวกและลดต้นทุนต่อการใช้บริการทางการเงิน

รวมถึงการเพิ่มความเชื่อมั่น ต่อผู้ที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารและผู้ให้สินเชื่ออื่น ๆ ต่อผู้ทำธุรกรรมการค้า การผลักดันและเสริมสร้างระบบนิเวศให้เอื้อต่อการเข้าถึงแหล่งการเงิน โดยการนำระบบดิจิทัลเข้ามาช่วยในการพิจารณาให้สินเชื่อแบบเดิมจากสินทรัพย์ที่มาใช้หลักประกันเป็นหลัก มาสู่การให้สินเชื่อโดยพิจารณาข้อมูลโดยรวมของผู้ขอสินเชื่อ

กอบศักดิ์ กล่าวว่า แพลตฟอร์มเอ็นดีทีพีได้พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิดการบริการแบบครบวงจร ทั้งการซื้อขาย การกู้เงิน การประกันภัย การจองเรือขนส่ง-ตู้คอนเทนเนอร์ ตลอดกระบวนการโลจิสติกส์ ทั้งการนำเข้า-ส่งออก นอกจากนี้ยังเชื่อมโยงกับระบบการเชื่อมโยงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของประเทศไทย (National Single Window) กับระบบข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ ณ จุดเดียวของอาเซียน (ASEAN Single Window) และเครือข่ายเพื่อการซื้อขายทั่วโลก มุ่งสร้างระบบเศรษฐกิจดิจิทัลที่เข้มแข็ง

กอบศักดิ์ กล่าวว่า ในส่วนโครงสร้างทางเครดิต ประกอบด้วย กฏหมายหลักประกันทางธุรกิจ ข้อมูลเครดิต ข้อมูลเครดิตข้ามแดน การค้าประกันสินเชื่อเอสเอ็มอี การปรับเปลี่ยนการทำธุรกรรมที่ปัจจุบันมีความซ้ำซ้อน มาสู่ธุรกรรมโดยระบบดิจิทัลอย่างครบวงจร รวมไปถึงการขยายจำนวนและแหล่งผู้ให้สินเชื่อทางด้านการเงิน นอกจากนี้ยังช่วยหาข้อสรุปเมื่อมีข้อขัดแย้งในธุรกรรมการค้า

"นี่เป็นการวางระบบโครงสร้างทางธุรกิจเพื่อการส่งเสริมผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอี ได้ใช้ประโยชน์ทำการค้าและขนส่งสินค้าในยุคดิจิทัลเชื่อมต่อกับระบบการค้าในอาเซียน และนอกภูมิภาค" กอบศักดิ์ระบุ

กอบศักดิ์ ได้ยกตัวอย่างของประโยชน์การใช้โครงสร้างเครดิตแบบใหม่ ในเรื่องข้อมูลเครดิตข้ามแดน (Cross-border Credit Information Sharing) ซึ่งระบบสื่อสารและการทำธุรกรรมผ่านดิจิทัลที่มีความก้าวหน้ามาก จะทำให้การค้าในโลกอนาคตจะมีการทำธุรกรรมข้ามแดนเพิ่มมากขึ้นโดยข้อมูลของผู้ซื้อผู้ขายและธุรกรรมระหว่างประเทศจะเป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำคัญที่จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นเพิ่มเติมขึ้นให้กับธนาคารหรือผู้ให้สินเชื่อ

กอบศักดิ์ ชี้ว่า การทำธุรกรรมผ่านระบบการค้าดิจิทัลแบบครบวงจร และการเข้าร่วมในห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน จะเป็นเครื่องมือช่วยให้ผู้ประกอบการเอ็มเอสเอ็มอีสามารถทำการค้าได้เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนในการทำธุรกรรมที่ถูกลง รวมถึงสามารถขยายตลาดจากการสามารถทำธุรกรรมข้ามแดนที่สะดวกสบายขึ้น

ส่วนการพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจในระดับภูมิภาคให้เกิดขึ้นเป็นจริงได้ กอบศักดิ์มองว่า จะต้องทำใน 2 ส่วนไปพร้อมกัน ได้แก่ 1.การพัฒนาแพลตฟอร์มการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ข้ามพรมแดนแบบธุรกิจกับธุรกิจของประเทศ จะต้องเชื่อมโยงธุรกรรมการนำเข้าส่งออกในส่วนของภาคเอกชนให้ครอบคลุมมากที่สุด เพื่อให้พร้อมเชื่อมต่อกับแพลตฟอร์มการค้าอีก 9 ประเทศสมาชิกอาเซียน

2. การสร้างมาตรฐานการเชื่อมต่อข้อมูลการค้าบนระบบดิจิทัลให้เป็นที่ยอมรับและปฏิบัติในภูมิภาค เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาในการเชื่อมต่อระบบภายในภูมิภาค จากการที่มีมาตรฐานและการปฏิบัติที่แตกต่างกัน 

ทั้งนี้ ในรายงานของสำนักพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เผยว่า มูลค่าการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ของไทยในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าประมาณ 2.81 ล้านล้านบาท มีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 9.86% ซึ่งส่วนใหญ่เป็นการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับธุรกิจ (B2B) มีมูลค่า 1.67 ล้านล้านบาท มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 8.63%

ส่วนการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับผู้บริโภค (B2C) มีมูลค่า 8.12 แสนล้านบาท มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 15.54% และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์แบบธุรกิจกับภาครัฐ (B2G) มีมูลค่า 3.24 แสนล้านบาท มีอัตราการขยายตัวอยู่ที่ 3.24%