เปิดตัวรองเท้าแตะยาง limited edition จากขยะทะเล

เปิดตัวรองเท้าแตะยาง limited edition จากขยะทะเล

องค์กรรณรงค์ด้านขยะทะเลพบรองเท้านับแสนข้างถูกทิ้งลงทะเล นำมาสู่แนวคิด รองเท้ารุ่นขยะ KHYA เพื่อสื่อสารปัญหาขยะทะเลที่กำลังวิกฤติ

โดยรองเท้ารุ่นขยะ ซึ่งทางมูลนิธิสืบนาคะเสถียรได้นำมาเผยแพร่ในเวบไซต์ เปิดให้คนทั่วไปสั่งจองเป็นเจ้าของแล้วตั้งแต่วันนี้เป็นเวลาหนึ่งอาทิตย์เนื่องจากการผลิตที่จำกัด

โดยรองเท้ารุ่นขยะนี้ เป็นผลงานร่วมขององค์กรไม่แสวงผลกำไรทะเลจร (Tlejourn), Upcycling, คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี และภาคเอกชน นันยาง ผู้ผลิตรองเท้าแตะช้างดาวมานานกว่า 60 ปี ซึ่งได้ร่วมกันผลิตรองเท้ารุ่นพิเศษโดยการนำขยะรองเท้าที่เก็บได้จากทะเลมาพัฒนาเป็นรองเท้าแตะยางที่สามารถใช้ได้อีกครั้ง

ดร.ณัฐพงศ์ นิธิอุทัย จากมหาวิทยาลัยสงขลาฯ เปิดเผยกับทางมูลนิธิฯว่า ได้รับขยะที่เป็นพวกรองเท้าจากกลุ่มอาสาสมัคร Trash hero ที่รวมตัวกันเก็บขยะรอบบริเวณชายหาด และคัดแยกขยะที่เป็นรองเท้าแตะเอาไว้ จากนั้น ขยะเหล่านี้จึงถูกส่งไปยังมหาวิทยาลัยฯ ซึ่งที่ทำการชั่วคราวของทะเลจร โครงการริเริ่มนำขยะรองเท้ามาทำรองเท้าโดย ดร.ณัฐพงศ์เมื่อราว 2 ปีที่แล้ว และนำเข้าสู่กระบวนการนำมาผลิตเป็นรองเท้าแตะขึ้นอีกครั้ง

ดร.ณัฐพงศ์กล่าวว่า Trash hero ได้ทำงานอาสานี้ในพื้นที่ราว 20 แห่งทั่วโลก ซึ่งมีอาสาสมัครประมาณ 20,000-30,000 คน และเก็บขยะอาทิตย์ละครั้ง และได้เก็บขยะไปแล้วประมาณหนึ่งล้านกิโลกรัมเศษ ๆ ซึ่ง ขยะทะเลส่วนใหญ่เป็นขยะที่ลอยได้ เช่น พลาสติก และรองเท้า โดยรองเท้าเป็นปัญหาที่ยุ่งกว่าพลาสติกอื่น ๆ เนื่องจากไม่สามารถรีไซเคิลได้เพราะทำจากยาง 

ดร.ณัฐพงศ์ กล่าวว่า ขยะรองเท้าล๊อตแรกที่ได้มาจากการเก็บขยะของทีม Trash hero ในช่วงเวลา 3 เดือน มีมากถึงหนึ่งแสนข้าง หรือประมาณแปดพันกิโลกรัม

“มีการคิดกันพักใหญ่เลยว่าควรจะเอามาทำเป็นรองเท้าอีกครั้งหนึ่ง มันเดินทางและสื่อสารได้ง่ายกว่า” ดร.ณัฐพงศ์กล่าว

หลังจากที่ได้คุยกับนันยางมาเป็นเวลากว่า 1 ปี โปรเจครองเท้า KHYA (ขยะ) จึงถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นโครงการตัวอย่างและแทนสัญลักษณ์ที่ใช้สื่อสารกับผู้คนในสังคมพร้อมเชิญชวนให้ตระหนักถึงปัญหาขยะทะเลนี้ ดร. ณัฐพงศ์ กล่าว

นายชัยพัชร์ ซอโสตถิกุล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท นันยางอุตสาหกรรม จำกัด กล่าวว่า การผลิตรองเท้ารุ่นนี้ ต้องผ่านการทดสอบ และเจอปัญหาหลายอย่าง เช่น วัตถุดิบซึ่งเป็นขยะแตกต่างกันมากจากวัตถุดิบที่ผลิตรองเท้าช้างดาวที่ใช้ยางธรรมชาติ 100 เปอร์เซ็นต์ ทำให้การผลิตในช่วงแรกคุณภาพยังไม่เป็นที่น่าพอใจ

ทางทีมในโครงการต้องใช้เวลาในการปรึกษาหารือในการผลิต ซึ่งทางนันยางต้องใช้แรงงานที่มีฝีมือและเวลามากกว่าการผลิตรองเท้าช้างดาวถึง 3 เท่า นายชัยพัชร์กล่าว

ในการผลิตรองเท้าKHYA 1 คู่ จะใช้ขยะรองเท้าประมาณ 5 กิโลกรัม โดยเป็นส่วนประกอบระหว่างชิ้นส่วนจากขยะรองเท้าและยางธรรมชาติจนได้เป็นรองเท้าแตะยางขยะ แต่เนื่องจากข้อจำกัดทางการผลิตและวัสดุ จึงเปิดให้มีการสั่งจองในจำนวนที่จำกัดที่ www.KHYA.net จนถึงวันที่ 23 สิงหาคมนี้ โดยมีราคาที่ตั้งไว้ที่ 399บาทต่อหนึ่งคู่ ทีมงานระบุ

รายได้จากการขาย จะกลับเข้าสู่มหาวิทยาลัยและชุมชนที่เป็นกลุ่มผลิตรองเท้าทะเลจร ดร.ณัฐพงศ์ระบุ

ภาพ รองเท้าแตะยางรุ่นขยะ KHYA/ มูลนิธิสืบนาคะเสถียร