'ขยะทะเล' อาเซียน ก้าวหน้าหรือถอยหลัง

'ขยะทะเล' อาเซียน ก้าวหน้าหรือถอยหลัง

หลังการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 34 เมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา การแก้ปัญหาขยะทางทะเลในภูมิภาคอาเซียนได้รับความสนใจในวงกว้าง เพราะปฏิญญาเทพฯ ว่าด้วยการต่อต้านขยะทะเลในภูมิภาคอาเซียน

ซึ่งเป็นเสมือนการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของภูมิภาค ได้รับการรับรองในที่ประชุม

การประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 30 ที่จัดขึ้นในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา จึงถูกจับตามองว่าจะมีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหานี้อย่างไร เนื่องจากการประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสอาเซียนเปรียบเสมือนภาคปฏิบัติที่รับนโยบายจากผู้นำประเทศมาสานต่อให้เกิดเป็นรูปธรรมผ่านคณะทำงานต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่ง

ในการประชุมสองวันที่มีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) เป็นเจ้าภาพ มีความคืบหน้าในความพยายามแก้ปัญหาขยะทะเลในภูมิภาคในสองสามประเด็น โดยปลัดกระทรวงฯ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ได้เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ที่ประชุมได้มีการหยิบยกประเด็นปัญหาขยะทะเล รวมทั้งปฏิญญากรุงเทพฯ ขึ้นมาพูดคุย โดยประเทศไทยแสดงความเป็นห่วงว่า จะมีดำเนินการในสิ่งที่ริเริ่มมาอย่างไรให้ต่อเนื่อง

นายวิจารย์ กล่าวว่า ที่ประชุมต่างเห็นตรงกันว่าเรื่องนี้มีความสำคัญ ทางเวียดนามซึ่งจะเป็นประธานอาเซียนในปีหน้า จึงรับปากที่ประชุมว่าจะขับเคลื่อนงานต่อ นอกจากนั้น นายวิจารย์ ยอมรับว่าเพื่อสานงานต่อ ประเทศไทยเองจึงเสนอตัวนั่งเป็นประธานคณะทำงานอาเซียนด้านสิ่งแวดล้อมทางทะเลและชายฝั่งต่อจากฟิลิปปินส์ ก่อนที่จะได้รับการรับรองจากมติในที่ประชุมในที่สุด โดยประธานคณะทำงานฯ ชุดนี้ จะมีระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง 3 ปี นับตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2563-2565

นายวิจารย์ กล่าวว่า คณะทำงานชุดนี้ เป็นหนึ่งในสองคณะที่เป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาขยะทะเลในระดับภูมิภาคในเวลานี้ โดยกรอบปฏิญญากรุงเทพฯ เป็นเสมือนข้อพันธะทางการเมืองโดยมีกรอบปฏิบัติงานอาเซียนว่าด้วยขยะทะเลเป็นกรอบในการทำงาน ซึ่งในกรอบการปฏิบัติงานฯ ดังกล่าว ระบุงานหลัก 4 ด้านที่ต้องดำเนินการคือ การสนับสนุนเชิงนโยบายและการวางแผน งานวิจัย นวัตกรรม และการเสริมสร้างขีดความสามารถ การสร้างความตระหนักและการให้การศึกษาแก่สาธารณะ และการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ แต่นายวิจารย์ ระบุว่า จำเป็นที่จะต้องมีการทำแผนปฏิบัติการต่อจากนี้

นายวิจารย์ ยังเปิดเผยอีกว่า องค์กรต่างประเทศหลายองค์กรให้ความสนใจสนับสนุนการแก้ไขปัญหา โดยล่าสุด ธนาคารโลก ได้สนับสนุนงบประมาณจำนวนหนึ่งเพื่อขับเคลื่อนการจัดทำแผนปฏิบัติการ โดยเฉพาะในระดับประเทศก่อน ซึ่งประเทศไทยมีความพร้อมแล้ว เพราะได้มีการจัดทำโรดแมปการจัดการขยะพลาสติก ปี2561-2573 ซึ่งได้ตอบรับงานหลักสามด้านภายใต้กรอบปฏิบัติงานฯ
ความท้าทายของประเทศไทยคือความพยายามสร้างระบบที่เอื้อต่อ 3Rs (Reuse, Reduce, Recycle) ให้มากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิตที่จะนำไปสู่ เศรษฐกิจหมุนเวียน เพื่อช่วยลดขยะของเหลือใช้ให้มากที่สุด ด้วยนวตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ๆ
“การแก้ปัญหาร่วมกันระดับภูมิภาคที่เป็นรูปธรรมแล้วก็เห็นได้จากปฏิญญาฯนี่แหละ” นายวิจารย์กล่าว พร้อมทั้งเสริมว่ามีความเป็นไปได้ถึงความสำเร็จของการแก้ไขปัญหาขยะทะเลร่วมกันของภูมิภาค เพราะมันเป็นปัญหาร่วมกัน และงานเป็นไปในด้านบวกที่ส่งเสริมกัน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการทำข้อสัญญาระหว่างประเทศและนักรณรงค์เคลื่อนไหวด้านมลพิษกลับว่า ปฏิญญากรุงเทพฯ และกรอบการปฏิบัติงานฯ อาจยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับขนาดของปัญหาที่ใหญ่โตและส่งผลในระดับโลก

กรรณิการ์ กิจติเวชกุล ผู้ประสานงานเอฟทีเอ วอทช์ องค์กรจับตาการทำสัญญาทางการค้าระหว่างประเทศและการเมืองระหว่างประเทศ กล่าวว่า อาเซียนเป็นการรวมกลุ่มที่เน้นการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ ประเด็นทางด้านสิ่งแวดล้อมของอาเซียนมักไม่ได้รับความใส่ใจเท่าที่ควรจากประเทศสมาชิก และยิ่งมีความเปราะบางขึ้นจากธรรมชาติของการรวมกลุ่มที่เน้นการไม่แทรกแซงกิจการภายในอันเป็นหลักการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกันของอาเซียน

กรรณิการ์ กล่าวว่า ธรรมชาติของกลุ่มดังกล่าว สังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในภาษาของเอกสารที่ออกมาจากการประชุม โดยเมื่อเทียบกับภาษาที่ใช้ในเวทีเจรจาการค้าของอาเซียนแล้ว จะพบว่า มีภาษาที่อ่อนและไม่ผูกมัดกว่ามาก อย่างที่เห็นได้จากการใช้คำเรียกสำหรับปฏิญญากรุงเทพฯ และกรอบปฏิบัติงานเอง

ด้านธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่ติดตามเรื่องมลพิษในประเทศและในภูมิภาคเห็นด้วยกับข้อสังเกตของกรรณิการ์ เมื่อมองย้อนไปถึงข้อตกลงทางสิ่งแวดล้อมเพียงฉบับเดียวที่อาเซียนมีร่วมกันคือ ข้อตกลงอาเซียนว่าด้วยมลพิษจากหมอกควันข้ามพรมแดน แม้จะมีเจตนาที่ดีที่จะแก้ปัญหาแต่ปฏิญญากรุงเทพฯ และกรอบปฏิบัติงานฯ ยังไม่เพียงพอที่จะรับมือกับปัญหา

ธารา พบว่า เคยมีข้อเสนอแก้ไขปัญหาโดยให้ลองจัดทำเป็น “ข้อตกลง” ในสรุปการประชุมการลดปริมาณขยะในกลุ่มประเทศอาเซียนที่จัดขึ้นในปี2560 ที่ภูเก็ต โดยประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ แต่ข้อเสนอดังกล่าวไม่ปรากฏในการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนสมัยพิเศษด้านขยะทะเลเมื่อเดือนมี.ค. และกลายเป็นเพียง ปฏิญญา หลังเสร็จสิ้นการประชุม

ธารา มองว่า ทั้งปฏิญญาฯและกรอบปฏิบัติงานฯ ไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน และไม่มีตัววัดผลว่ากิจกรรมแต่ละด้านจะบรรลุมากน้อยแค่ไหน และที่เขาให้ความสำคัญคือการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนที่ดูเหมือนจะหล่นหายไปจากแผนงาน
การทำแคมเปญ ไม่มีประสิทธิภาพมากพอที่จะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน

ธารา กล่าวว่าในกรอบปฏิบัติงานฯ แม้จะมีการพูดถึงวงจรของขยะ แต่ยังไม่ได้ระบุเรื่องภาคการผลิตและแหล่งกำเนิดเท่าที่ควร และด้วยเหตุผลดังกล่าว ทำให้ประเด็นสำคัญประเด็นหนึ่ง คือการลักลอบการนำเข้าขยะจากตะวันตกถูกละเลยไปจากกรอบการแก้ปัญหาชุดนี้ไปอย่างน่าเสียดาย

ผู้อำนวยการกรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เสนอแนะให้ประเทศอาเซียนยึดแนวทางที่เข้มข้นกว่านี้ และเขามองว่า กลุ่มประเทศอาเซียนอยู่ในจุดที่สามารถช่วยผลักดันการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจโลกไปสู่เศรษฐกิจหลุมเวียนที่ยั่งยืนได้ โดยการทำให้ประเทศตะวันตกหันมาคิดหยุดเรื่องการผลิตขยะพลาสติกของตน