'พล.อ.สมเจตน์' ชี้ พฤติกรรมปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ฟันธงยาก

'พล.อ.สมเจตน์' ชี้ พฤติกรรมปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ฟันธงยาก

"อดีต ปธ.กม.พรรคการเมือง" ชี้ พฤติกรรมปฏิปักษ์ต่อการปกครอง ฟันธงยาก ต้องดูพยาน-แวดล้อมประกอบ ชี้ "ทษช." เสนอแคนนิเดตนายกฯ อาจคาดไม่ถึง

เมื่อวันที่ 13 ก.พ.62 พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม อดีตประธานกรรมาธิการ (กมธ.) พิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวถึงกรณีที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) มีมติส่งคำร้องให้ยุบพรรคไทยรักษาชาติต่อศาลรัฐธรรมนูญ ด้วยพฤติกรรมที่แจ้งชื่อบุคคลเพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นนายกฯ 1 รายชื่อ เข้าข่ายการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ว่า ประเด็นพฤติกรรมที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองนั้น ไม่สามารถให้คำนิยามของคำว่าปฏิปักษ์ที่ชัดเจนได้ เพราะต้องดูพฤติกรรมแบบองค์รวม รวมถึงพยานแวดล้อม ประกอบกับหลักฐานที่เกิดขึ้น ซึ่งหากพิจารณาตามสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปพึงคิดได้ แม้ทูลกระหม่อมหญิงอุบลรัตนราชกัญญา สิริวัฒนาพรรณวดี จะมีสถานะเป็นสามัญชน แต่สิ่งที่ประชาชนปฏิบัติต่อทูลกระหม่อมฯ ไม่ใช่ฐานะสามัญชน ดังนั้นตนไม่ทราบว่าพรรคไทยรักษาชาติพิจารณาประเด็นดังกล่าวหรือไม่ ก่อนจะทูลเชิญ ทูลกระหม่อมฯ อยู่ในบัญชีนายกฯ ที่พรรคจะสนับสนุนหลังเลือกตั้ง

"ประเด็นที่เกิดขึ้น ผมมองว่ามีผลกระทบต่อสถาบันอย่างยิ่งรวมถึงกระทบต่อความรู้สึกของทุกคน แม้พรรคจะไม่มีเจตนา ส่วนที่มองว่าแค่การเสนอชื่อจะเป็นการกระทำที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอย่างไร ผมขอชี้แจงว่า ระบบการปกครองของประเทศไทย มีความพิเศษ เพราะเป็นระบอบการปกครองประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ดังนั้นคำว่าประชาธิปไตย ต้องควบคู่ พร้อมกับการธำรงไว้ซึ่งสถาบันพระมหากษัตริย์ด้วย" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว

เมื่อถามถึงว่ากรณีที่เกิดกับพรรคไทยรักษาชาติ จะส่งผลใดต่อการเมืองหรือการเลือกตั้ง วันที่ 24 มีนาคม หรือไม่ พล.อ.สมเจตน์ กล่าวโดยเชื่อว่าไม่มีมูลที่ทำให้ต้องเลื่อนการเลือกตั้งตามที่กำหนด เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นมีผลเฉพาะพรรคการเมือง, ผู้สมัคร ส.ส. และสมาชิกพรรคไทยรักษาชาติเท่านั้น หากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญระบุไม่ยุบพรรค ทุกอย่างสามารถเดินหน้าตามกระบวนการเลือกตั้ง แต่หากผลคำวินิจฉัยเป็นตรงข้าม และเกิดก่อนวันเลือกตั้ง 24 มีนาคม จะทำให้พรรคไทยรักษาชาติ และผู้สมัครส.ส.ต้องออกจากระบบการเลือกตั้ง ส่วนหลังจากที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติรับคำร้องไว้พิจารณาแล้ว พรรคไทยรักษาชาติจะต้องปฏิบัติตนอย่างไร ตนไม่ขอแนะนำ เพราะเป็นสิทธิและเสรีภาพของพรรคการเมือง และนักการเมืองที่จะพิจารณา