รวบผตห.ลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมปลอม ขายผ่านออนไลน์

รวบผตห.ลอบนำเข้าสินค้าแบรนด์เนมปลอม ขายผ่านออนไลน์

ปอศ.แถลงรวบผู้ต้องหาลักลอบนำเข้าเครื่องประดับเเบรนด์เนมปลอม โว 2 ปี ยึดสินค้าละเมิดเกือบ 49 ล้าน

เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (บก.ปอศ.) ถนนสาทรเหนือ แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพฯ พล.ต.ต.ชวลิต แสวงพืชน์ รองผบช.ก. พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง ผบก.ปอศ. พ.ต.อ. ปภัชเดช เกตุพันธ์ รองผบก.ปอศ. พ.ต.อ.กิตติศัพท์ ทองศรีวงศ์ รองผบก.ปอศ. พ.ต.อ.ธวัช สิทธิกิจโยธิน ผกก.3 บก.ปอศ. พ.ต.อ.พิทักษ์ สิทธิกุล ผกก.4 บก.ปอศ. และตำรวจบก.ปอศ. ร่วมกันแถลงผลตรวจค้นจับกุมผู้กระทำผิดเกี่ยวกับการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต พร้อมของกลางจำนวนมาก เช่น นาฬิกาหรู ยี่ห้อปาเต๊ะ กระเป๋าแบรนด์เนมยี่ห้อต่างๆ เสื้อแบรนด์เนม และล้อแม็กแต่งรถ มูลค่าความเสียหายกว่า 10 ล้านบาท

พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า ตำรวจได้เร่งกวดขันปราบปรามจับกุมการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ตซึ่งมีการเสนอจำหน่ายสินค้าที่ปลอมเครื่องหมายการค้าหรือละเมิดลิขสิทธิ์สินค้าของผู้อื่นผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และไลน์ ซึ่งเป็นการกระทำความผิดตาม พรบ.เครื่องหมายการค้า พศ.2534 และ พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ พศ.2550

ด้านพล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวว่า ฝากถึงประชาชนผู้บริโภค ไม่ควรซื้อหรือให้การสนับสนุนสินค้าที่ละเมิดเครื่องหมายการค้าและละเมิดลิขสิทธิ์ดังกล่าว เพราะอาจทำให้ได้สินค้าที่ไม่มีคุณภาพและอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ อีกทั้งยังเป็นสาเหตุที่ทำให้ประเทศไทยถูกกีดกันทางการค้าในเวทีการค้าโลก ซึ่งจะทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคเศรษฐกิจและภาพลักษณ์ของประเทศไทย โดยเดิมนั้นประเทศไทยติดบัญชีประเทศในการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ถูกจับตามองเป็นพิเศษ หรือ PWL (Priority Watch List) โดยปัจจุบันจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาที่ได้กวดขันปราบปรามอย่างเคร่งคัดและเข้มงวดในการจับกุม ส่งผลให้ประเทศไทยถูกปรับสถานะให้เหลือเป็นเพียง WL (Watch List) ซึ่งเป็นสถานะที่ดีกว่า พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวว่า ทั้งนี้มีคดีที่น่าสนใจดังนี้ตำรวจกก.3บก.ปอศ.รับแจ้งว่ามีผู้ขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์จำนวนมาก จึงสืบสวนกระทั่งทราบว่าหนึ่งในนั้น คือนายเดเมียน เจียน ทัน เหว่ย (MR.DAMIEL JIAN TAN WEI) อายุ 28 ปี สัญชาติสิงคโปร์ ที่เปิดเพจเฟซบุ๊ก ชื่อ "intime.th" ขายนาฬิกาแบรนด์เนมของปลอมทั้ง ยี่ห้อ Rolex, Omega, Patek phllilp, IWC จึงนำกำลังเข้าจับกุมได้ที่คอนโดมีเนียม ย่านลาดพร้าว ตรวจสอบพบนาฬิกาหรูกว่า 22 เรือน อาวุธปืนขนาด 9 มม. พร้อมด้วยลูกกระสุนปืนขนาด 9 มม. จำนวน 10 นัด โดยผู้ต้องหาได้ร่วมกับน.ส.ปัณฑารีย์ อินทะฤทธิ์ และนายพัชร พึ่งพระเกียรติ ซึ่งเป็นเจ้าของบัญชี ได้รับนาฬิกามาจากโรงงานในประเทศจีน ในราคาหลักหมื่น ก่อนจะนำมาโพสต์ขายในเพจเฟซบุ๊ก ซึ่งจะได้กำไรต่อเรือนราคา 4-5 พันบาท ต่อเดือนได้กำไรเกือบ 1 แสนบาท ทั้งนี้ผู้ต้องหารับว่าทำมานานกว่า 5 ปี ตั้งแต่เข้าประเทศไทยมาเมื่อปี 2557

พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวต่อว่า ทั้งนี้กลุ่มผู้ต้องหาได้ทำใบรับรองสินค้าปลอมเพิ่มขึ้นมา เพื่อเป็นการรับประกันกรณีสินค้าเสียหายสามารถส่งซ่อมได้ ทำให้สินค้ามีความน่าเชื่อถือ จึงมีผู้สั่งซื้อจำนวนมาก เบื้องต้นแจ้งนายเดเมียน เจียน ทัน เหว่ย ในข้อหา มีไว้เพื่อจำหน่ายซึ่งสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม เป็นบุคคลต่างด้าวอยู่ในราชอาณาจักรโดยการอนุญาตสิ้นสุด หรือโอเวอร์สเตย์ และ มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน และอยู่ระหว่างออกหมายเรียกน.ส.ปัณฑารีย์ และนายพัชร อีก 2 ผู้ร่วมขบวนการมาสอบปากคำต่อไป

พล.ต.ต.ชวลิต กล่าวอีกว่าว่า นอกจากนี้ตำรวจกก.4 บก.ปอศ. ได้บุกทลายโกดังเก็บสินค้าและแหล่งขายสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่ประกาศขายตามออนไลน์ จำนวนมาก ได้ผู้ต้องหาทั้งหมด 8 ราย ของกลาง 1,222 ชิ้น โดยส่วนใหญ่รับว่าสั่งซื้อสินค้ามาจากประเทศจีน จึงนำส่งพนักงานสอบสวน ปอศ.ดำเนินคดี สำหรับผลการปฏิบัติงานด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตระหว่างวันที่ 8-21 มิ.ย. 61 แบ่งเป็นประเภทความผิดดังนี้ 1.จับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถจับกุมได้ 14 คดี ผู้ต้องหา 12 คน ของกลาง 1,280 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 409,800 บาท 2.จับกุมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จับกุมได้ 15 คดี ของกลาง 220 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 2,200,000 บาท รวมผลการจับกุมจำนวน 29 คดี ผู้ต้องหา 12 คน ของกลาง 1,500 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทั้งหมด 2,609,800 บาท

นอกจากนี้ในภาพรวมได้กวดขันจับกุมผู้กระทำผิดอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือน ต.ค.2559-7 มิ.ย.2561 มีผลการปฏิบัติงานด้านการปราบปรามการละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตดังนี้ แบ่งเป็นประเภทความผิด 1.จับกุมสินค้าละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาบนเครือข่ายอินเตอร์เน็ต สามารถจับกุมได้ 214 คดี ผู้ต้องหา 217 คน ของกลางจำนวน 16,450 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 14,943,605 บาท 2.จับกุมเผยแพร่ภาพยนตร์ละเมิดลิขสิทธิ์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต จับกุมได้ 12 คดี ผู้ต้องหา 12 คน ของกลางจำนวน 41 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 410,000 บาท 3.จับกุมโปรแกรมคอมพิวเตอร์ละเมิดทรัพย์สินทางปัญญา จับกุมได้ 238 คดี ของกลางจำนวน 3,343 ชิ้น มูลค่าความเสียหาย 33,430,000 บาท รวมมีผลการจับกุม 464 คดี ผู้ต้องหา 229 คน ของกลาง 19,834 ชิ้น มูลค่าความเสียหายทั้งหมด 48,783,605 บาท