สนช.ลงพื้นที่หาดราไวย์ ปมดินปิดทางน้ำ-เขื่อนกันคลื่น

สนช.ลงพื้นที่หาดราไวย์ ปมดินปิดทางน้ำ-เขื่อนกันคลื่น

สนช.ลงพื้นที่หาดราไวย์ จ.ภูเก็ต ปมภาคเอกชนเอกชนนำดินปิดกั้นทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงทะเลได้ ส่งผลน้ำท่วมขังในชุมชน และผลกระทบการจอดเรือจากโครงการสร้างเขื่อนกันคลื่น

เมื่อเวลา 10.00 น.วันที่ 6 ธันวาคม 2560 ที่ห้องประชุมสภาเทศบาลตำบลราไวย์ อ.เมืองภูเก็ต คณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำโดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง พลโทชัยยุทธ พร้อมสุข ประธานคณะกรรมาธิการการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ และพลเรือเอกวีระพันธุ์ สุขก้อน ประธานอนุกรรมาธิการฯ ได้เดินทางลงพื้นที่จังหวัดภูเก็ต เพื่อประชุมติดตามเรื่องร้องเรียนกรณีตัวแทนชาวไทยใหม่ (ชาวเล) หมู่ที่ 2 ต.ราไวย์ อ.เมือง จ.ภูเก็ต

ขอให้ตรวจสอบกระบวนการแก้ไขปัญหาที่ดินชาวเลราไวย์ ประเด็นเกี่ยวกับการปิดทางน้ำส่งผลให้มีน้ำท่วมชุมชน และความคืบหน้าเกี่ยวกับการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่นบริเวณหาดราไวย์ โดยมีนายนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต นายเปลี่ยน แก้วฤทธิ์ รองอธิบดีกรมที่ดิน, เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดภูเก็ต, เจ้าท่าภูมิภาค สาขาภูเก็ต, ผู้แทนนายอำเภอเมืองภูเก็ต, ผู้แทนเทศบาลตำบลราไวย์ ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง นำเสนอข้อมูล รวมทั้งนายนิรันดร์ หยังปาน ตัวแทนชาวเลราไวย์ และชาวเลราไวย์จำนวนหนึ่ง ร่วมชี้แจงข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นภายในชุมชน

โอกาสนี้ทางคณะกรรมาธิการฯ ได้ลงพื้นที่ชุมชนราไวย์ โดยเฉพาะบริเวณชายหาดหน้าชุมชนที่มีการก่อสร้างเขื่อนกันคลื่น ซึ่งพบว่าขณะนี้บางส่วนเริ่มชำรุดเนื่องจากถูกน้ำกัดเซาะ และพื้นที่ทางจิตวิญญาณหรือบาลัยซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธีตามความเชื่อ และพื้นที่บริเวณลำคลองที่เชื่อมต่อจากชุมชน ผ่านพื้นที่ของเอกชนก่อนที่น้ำจะไหลลงชายหาด ซึ่งในอดีตชาวเลเคยนำเรือเข้ามาจอดเพื่อหลบคลื่นลม แต่ปัจจุบันพบว่ามีลักษณะตื้นเขิน นอกจากนี้พบว่าบริเวณช่วงรอยต่อระหว่างที่ดินของชุมชนกับที่ดินเอกชนนั้นมีการนำดินมาปิดกั้นทำให้น้ำไม่สามารถไหลลงทะเลได้ ส่งผลให้มีน้ำท่วมขังในชุมชน ส่งกลิ่นเหม็นสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชนเป็นอย่างมาก

นายนิรันดร์ ชี้แจงว่า สิ่งที่ต้องการคือ อยากให้มีการเปิดทางน้ำซึ่งจะไหลลงลำคลองบางแห้ง หรือคลองลาโอน ซึ่งในอดีตเป็นเส้นทางน้ำจากหมู่บ้านไหลลงทะเล แต่ปัจจุบันได้มีเอกชนทำการปิดกั้นจนทำให้เมื่อมีฝนตกหนักน้ำไม่สามารถไหลลงทะเลได้สะดวก รวมถึงการแก้ปัญหาเขื่อนกันคลื่น ซึ่งทำให้ชาวบ้านไม่สามารถเข้าไปยังจุดจอดเรือได้สะดวก โดยเราไม่ได้ต้องการที่ดินของเอกชน แต่ต้องการเพียงพื้นที่สำหรับการวางเครื่องมือทำมาหากิน สามารถขึ้นลงชายหาดได้สะดวก และพื้นที่บาลัยในการประกอบพิธีกรรมตามความเชื่อของชุมชน

นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ คนที่หนึ่ง กล่าวภายหลังการรับฟังบรรยายสรุปและลงตรวจสอบพื้นที่ชุมชน ว่า การลงพื้นที่ของทางคณะกรรมาธิการฯ ได้มาติดตามใน 2 ประเด็น คือ กรณีการก่อสร้างเขื่อนชายหาด กับการถมที่ดินปิดทางระบายน้ำ ซึ่งเป็นคลองสาธารณะอยู่เดิม ซึ่งเป็นเรื่องความเดือดร้อนของคนในชุมชน จากปัญหาน้ำท่วมขังและทำให้เกิดน้ำเน่าเสีย และผลกระทบด้านนิเวศน์ทางทะเลและชายฝั่ง และผลกระทบเรื่องของสิ่งแวดล้อม โดยไม่เกี่ยวกับกรณีพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดินซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเล และยังอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาล

“ผลจากการลงพื้นที่ทำให้ได้ข้อเท็จจริงเพิ่มเติมหลายประการ ทั้งเรื่องการรังวัดที่ดิน ที่ปรากฏหลักฐานว่าแนวเขตที่ดินของเอกชนนั้นมีระยะห่างจากชายฝั่งทะเล เรื่องสภาพที่ดินที่มีการถม และเรื่องคูคลองที่มีอยู่เดิม ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ที่ดินจังหวัดภูเก็ต ตัวแทนนายอำเภอ เทศบาลตำบลราไวย์ เป็นต้น ได้ร่วมลงพื้นที่ให้ข้อมูลและช่วยกันเก็บข้อมูลเพิ่มเติมให้กับคณะกรรมาธิการฯ เพื่อจะได้กลับไปสรุปผลการลงพื้นที่ และก็จะได้แจ้งผลการพิจารณาของ คณะกรรมาธิการฯ กลับไปยังหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้แก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านโดยเร็วต่อไป”

นายสุรชัย กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นจากการได้ลงพื้นที่ และแลกเปลี่ยนข้อมูล ความเห็นกับผวจ.ภูเก็ต และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งได้ร่วมลงพื้นที่ด้วยกัน ได้มองเห็นแนวทางในการที่จะแก้ไขปัญหาร่วมกัน รวมถึงวิธีการสร้างความเข้าใจกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งพร้อมให้ความร่วมมือที่จะลงมาแก้ไขปัญหานี้ให้ลุล่วงโดยเร็วที่สุด

ส่วนกรณีปัญหาน้ำท่วมขังที่เกิดจากการถมทางไหลของน้ำซึ่งจะต้องมีการหารือกับภาคเอกชนเจ้าของพื้นที่ ทางผู้ว่าฯ รับที่จะเป็นผู้ประสานในการพูดคุยเพื่อแนะนำแนวทางในการแก้ไขปัญหา เพราะมองว่าสามารถที่จะแก้ปัญหาด้วยวิธีการเจรจาทำความเข้าใจได้ นอกเหนือจากแนวทางกระบวนการทางกฎหมายเพียงอย่างเดียวเพราะอาจจะต้องใช้เวลาค่อนข้างยาว น่าจะมีแนวทางอื่นที่จะใช้วิธีการบริหารจัดการในระบบราชการ การบริหารราชการแผ่นดิน น่าจะสามารถแก้ไขปัญหาได้

ในส่วนของเขื่อนกันคลื่นนั้น นายสุรชัย กล่าวว่า เบื้องต้นยังมีข้อห่วงกังวลอยู่ เบื้องต้นทราบว่าทางเจ้าท่าฯ ภูเก็ต ได้มีคำสั่งให้รื้อถอนเขื่อนตั้งแต่เดือน มิถุนายน 2559 แต่ติดขัดเรื่องงบประมาณ ซึ่งทางคณะกรรมาธิการฯ สนช. จะไปช่วยเร่งรัดในส่วนนี้ แต่สิ่งที่เป็นข้อห่วงกังวลเพิ่มเติม คือ หากมีการรื้อถอนเขื่อนไปแล้วจะมีปัญหากระทบเรื่องของระบบนิเวศน์ชายฝั่งหรือไม่ ทั้งเรื่องการกัดเซาะและการพังทลายของชายหาด เพราะดูจากสภาพแล้วเป็นเขื่อนที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อกันคลื่น โดยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งนั้น ทางคณะกรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม มีรายงานการศึกษาเกี่ยวกับการกัดเซาะและการพังทลายของชายหาดในแถบจังหวัดภาคใต้ตลอดแนวพบว่าเกิดขึ้นกับทุกจังหวัดที่มีพื้นที่ติดกับชายทะเล ซึ่งจะต้องไปศึกษาในรายละเอียดเพิ่มเติม

ส่วนของการรื้อถอนในทางกฎหมาย หากชี้ชัดว่า เขื่อนสร้างโดยไม่ถูกต้องหน่วยงานที่มีอำนาจสามารถรื้อถอนได้ทันที แต่เรามองมากกว่านั้น คือผลกระทบทางระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ว่าทำอย่างไรจะให้การแก้ปัญหาไม่นำไปสู่การสร้างปัญหาใหม่ คงจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่มีความยั่งยืน ทั้งชุมชนและระบบนิเวศน์ชายฝั่ง ซึ่งทางคณะ สนช.จะขอไปศึกษาในรายละเอียดและทำความคิดเห็นร่วมกันอีกครั้ง ทั้งนี้จากการเปรียบเทียบระหว่างชายหาดที่ไม่มีเขื่อนว่ามีสภาพชายหาดมีการพังทลายหรือมีการกัดเซาะเกิดขึ้นหรือไม่ กับในส่วนที่มีเขื่อนอยู่ ซึ่งแม้ดูด้วยตาเปล่าจะมองเห็นแล้วว่ามีการพังทลายเกิดขึ้น แต่ยังมีข้อมูลอีกมุมหนึ่งที่แย้งว่า การพังทลายนั้นเกิดจากการพังทลายจากส่วนที่มีการนำดินหรือทรายไปถมเพิ่มเติม ไม่ใช่เป็นการพังทลายของสภาพหาดเดิม อันนี้ก็เป็นเรื่องที่เราจะต้องศึกษาในเชิงเปรียบเทียบด้วย นายสุรชัยกล่าว