ปภ.เชื่อพายุ 'มาวาร์' ไม่ซ้ำไทย

ปภ.เชื่อพายุ 'มาวาร์' ไม่ซ้ำไทย

"ปภ." ประสานจังหวัดเร่งระบายน้ำ-ช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยภาคอีสาน-กลางที่เหลืออีก 5 จังหวัด กลับสู่ปกติโดยเร็ว

นายฉัตรชัย พรหมเลิศ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ฝนที่ตกหนักต่อเนื่องจากอิทธิพลของลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หย่อมความกดอากาศต่ำพายุโซนร้อนตาลัสและพายุโซนร้อนเซินกา ตั้งแต่วันที่ 5 ก.ค. – 15 ส.ค.60 ทำให้เกิดน้ำไหลหลากในพื้นที่ 44 จังหวัด 302 อำเภอ 1,724 ตำบล 14,105 หมู่บ้าน 43 ชุมชน ประชาชนได้รับผลกระทบ 609,425 ครัวเรือน 1,898,322 คน ผู้เสียชีวิต 40 ราย 

บ้านเรือนเสียหาย 3,282 หลัง ซึ่งแยกเป็นเสียหายบางส่วน 3,267 หลัง เสียหายทั้งหลัง 15 หลัง ดำเนินการช่วยเหลือแล้ว 2,005 หลัง และอยู่ระหว่างดำเนินการ 1,277 หลัง ส่วนถนน 2,401 สาย คอสะพาน 111 แห่ง สะพาน 207 แห่ง ฝายและทำนบ 8,753 แห่ง 

ขณะที่พื้นที่การเกษตรเสียหาย 2,340,000 ไร่ แยกเป็น นาข้าว 2,180,000 ไร่ พืชไร่ 150,000 ไร่  พืชสวนและอื่นๆ 6,000 ไร่ บ่อปลา 14,203.41 ไร่ ปศุสัตว์ 48,214 ตัว โดยปัจจุบันสถานการณ์คลี่คลายแล้ว 39 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์ 5 จังหวัด แยกเป็น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 4 จังหวัด ได้แก่ กาฬสินธุ์ , ร้อยเอ็ด , ยโสธร และอุบลราชธานี และภาคกลาง 1 จังหวัด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา รวม 23 อำเภอ 119 ตำบล 536 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 2,993 ครัวเรือน 9,684 คน จุดอพยพ 9 จุด 881 ครัวเรือน 3,155 คน 

นายฉัตรชัย กล่าวอีกว่า ปภ.ได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการแก้ไขปัญหาอุทกภัยให้สอดคล้องกับสถานการณ์ในแต่ละพื้นที่ พร้อมกำชับจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วให้เร่งสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหายให้ครอบคลุมทุกด้าน เพื่อให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ส่วนจังหวัดที่ยังมีสถานการณ์อุทกภัยให้ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของผู้ประสบภัย ควบคู่กับการเร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่ โดยเชื่อมโยงการระบายน้ำในพื้นที่รอยต่อระหว่างจังหวัดอย่างใกล้ชิด เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว 

นอกจากนี้ จากการตรวจสอบสภาพอากาศกับกรมอุตุนิยมวิทยา พบว่า พายุโซนร้อน "มาวาร์" บริเวณทะเลจีนใต้ตอนบนกำลังเคลื่อนตัวไปทางทิศเหนือ และคาดว่าพายุจะเคลื่อนตัวขึ้นฝั่งด้านตะวันออกของเกาะฮ่องกงหรือด้านตะวันออกของมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ในวันนี้ (3 ก.ย.) ซึ่งพายุนี้ไม่มีผลกระทบโดยตรงกับลักษณะอากาศของประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ปภ. ได้ติดตามสภาพอากาศและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด รวมถึงขอให้ประชาชนติดตามพยาการณ์อากาศอย่างต่อเนื่อง โดยประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย สามารถติดต่อขอคามช่วยเหลือได้ ทางสายด่วนนิรภัย 1784 ตลอด 24 ชั่วโมงเพื่อประสานให้การช่วยเหลือโดยด่วน