สรุปเหตุสลด 'เอสซีบีปาร์ค' คร่า8ศพ-เจ็บ7ราย

สรุปเหตุสลด 'เอสซีบีปาร์ค' คร่า8ศพ-เจ็บ7ราย

ศูนย์เอราวัณ สรุปเหตุสลด "เอสซีบีปาร์ค" มีผู้เสียชีวิต8รายและบาดเจ็บ7ราย ด้านปธ.แบงก์ไทยพาณิชย์ พร้อมเยียวยา

สรุปยอดผู้เสียชีวิตจากเหตุ SCB ณ เวลา 09.40 น. จากศูนย์เอราวัณ เสียชีวิตจำนวน 8 ราย เจ็บ 7 ราย

ศูนย์เอราวัณ สำนักการแพทย์กรุงเทพมหานคร สรุปตัวเลขผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตจากเหตุกรณีถังบรรจุสารเคมี ชนิด “ไพโรเจน” เกิดระเบิด จนทำให้สารภายในถังเกิดรั่วไหล เหตุเกิดภายในบริเวณชั้นใต้ดิน บี2 อาคารเอสซีบีปาร์ค ธนาคารไทยพาณิชย์ สำนักงานใหญ่ (SCB park) ถนนรัชดาภิเศษ แขวงจตุจักร เขตจตุจักร กรุงเทพฯ วานนี้ ล่าสุดมีผู้เสียชีวิตทั้งหมด 8 ราย เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 5 ราย ยังไม่ทราบชื่อ และเสียชีวิตที่โรงพยาบาล 3 ราย

ทราบชื่อคือนายยุทธนา คนการ อายุ 24 ปี, นางกรรณิกา ประจิต อายุ 31 ปี และหญิงไม่ทราบชื่อ อายุ 31 ปี ส่วนผู้บาดเจ็บยังคงพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล มีจำนวน 7 ราย อาการสาหัส ยังอยู่ห้องฉุกเฉิน ICU จำนวน 4 ราย และรอดูอาการอีก 3 ราย

แบงค์ไทยพาณิชย์ พร้อมเยียวยาผู้เสียชีวิต10ศพ

ดร.วิชิต สุรพงษ์ชัย ประธานกรรมการบริหารธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นว่า สำหรับสารที่รั่วไหลออกมาจากถังดับเพลิงนั้น เบื้องต้นทราบว่าเป็นสารไพโรเจน ซึ่งใช้สำหรับดับเพลิง โดยทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย ทั้งนี้ ตนต้องขอแสดงความเสียใจต่อเหตุการณ์ในครั้งนี้ด้วย

อย่างไรก็ตาม เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เบื้องต้นทราบว่าเกิดจากอุบัติเหตุในระหว่างการทำงานของผู้รับเหมา ซึ่งขณะเกิดเหตุมีคนทำงานอยู่ในบริเวณดังกล่าวหลายราย ซึ่งขณะเกิดเหตุสารไพโรเจน ที่ถูกนำมาติดตั้งไว้ในถังก่อนหน้านี้ ได้เกิดการรั่วจากอุบัติเหตุของคนงาน จนทำให้สารดังกล่าวฟุ้งกระจายไปทั่วบริเวณชั้นใต้ดิน ทั้งนี้ เมื่อสารดังกล่าวฟุ้งกระจายออกไป ทำให้เกิดควันเป็นจำนวนมาก และอาจทำให้ผู้รับเหมาที่กลำงทำงานอยู่หาทางออกไม่พบ จนทำให้เกิดการสูญเสีย อย่างไรก็ตาม อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น ตนจะรีบเข้าไปเยียวยาให้กับผู้ได้รับบาดเจ็บ และผู้เสียชีวิต ให้เร็วที่สุด ซึ่งก็ต้องขอแสดงความเสียใจไว้ ณ ที่นี้ด้วย

“แก๊สไพโรเจน ที่มีการติดตั้งเอาไว้ในถังดับเพลิงนี้ จะอยู่บริเวณชั้นใต้ดิน ซึ่งเป็นสถานที่เก็บเอกสารของธนาคาร ทั้งนี้ หากเกิดเหตุเพลิงไหม้ แก็สชนิดนี้ก็จะทำหน้าที่ป้องกันไฟที่กำลังลุกไหม้ โดยจะพ่นสารไพโรเจน ออกมาช่วยดับไฟ ซึ่งจะทำให้บริเวณนั้นไม่มีอ๊อกซิเจน ทั้งนี้ เป็นไปได้ว่า ขณะเกิดเหตุเมื่อแก็สชนิดนี้เกิดการพุ่งออกมา ก็จะเข้าไปแทนทีอ๊อกซิเจน จนทำมีผู้เสียชีวิตดังกล่าว”