'กฎแห่งความจริง' พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล)

'กฎแห่งความจริง' 
พระภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล)

ก่อนที่จะมาถึงการร่วมต้านพ.ร.บ.ปรองดองที่สอดไส้นิรโทษกรรมของประชาชนชาวไทยในวันนี้ มีเหตุปัจจัยมากมาย ท่านมีคำอธิบายจากมุมมองของอริยสัจสี่

ก่อนที่จะมาถึงการร่วมต้านพ.ร.บ.ปรองดองที่สอดไส้นิรโทษกรรมของประชาชนชาวไทยในวันนี้ มีเหตุปัจจัยมากมาย พระอาจารย์ภาสกร ภูริวฑฺฒโน (ภาวิไล) วัดฝายหิน จังหวัดเชียงใหม่ ผู้อำนวยการ 'ธรรมสถาน' มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มีคำอธิบายจากมุมมองของอริยสัจสี่

อดีตนักฟิสิกส์ และช่างภาพโฆษณา ลูกชายของศ.ดร.ระวี ภาวิไล นักดาราศาสตร์ของเมืองไทย มีคำอธิบายจากมุมมองของอริยสัจสี่ วิถีแห่งเหตุผลของความทุกข์และการออกจากทุกข์มาให้ท่านผู้อ่าน 'กายใจ' ร่วมกันพิจารณาใคร่ครวญอย่างเป็นธรรม เพื่อความสันติสุขของพี่น้องประชาชนชาวไทยทุกคน

กายใจ : ปัญหาใหญ่ของวงการพุทธศาสนาในบ้านเรา ที่ทำให้การปฏิบัติธรรมไม่ก้าวหน้า คืออะไร

พระภาสกร : ฟันธงเลยว่า เพราะเอาผลมาเป็นเหตุ ก็เลยยากที่จะได้รับผล เช่นว่า ไปอ้างอิงกรณีเฉพาะ เช่น กรณีของพระพาหิยะ ท่านเป็นพระอรหันต์ที่ตรัสรู้เร็ว เป็นตัวอย่างพระที่เป็นกรณีศึกษาที่พระพุทธเจ้าสอนจากผลไปหาเหตุ ใช้ในกรณีเฉพาะบุคคล ไม่ได้เป็นสากลกับคนทั่วไป แต่ก็ไปอ้างของพาหิยะมาใช้เช่น เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน อันนั้นเป็นอารมณ์ของพระอรหันต์ ไม่ได้เป็นอารมณ์ของปุถุชน

กายใจ : อย่างนั้นจะเริ่มต้นตรงไหนที่ถูกตรงที่สุด

พระภาสกร : เริ่มที่หัวใจพระพุทธศาสนา คืออริยสัจสี่ เป็นกฎธรรมชาติอย่างหนึ่งมีสี่กฎที่พระพุทธเจ้านำเสนอ กฎธรรมชาติสี่กฎนี้เปรียบประหนึ่งอาวุธที่พระองค์มอบให้กับพวกเรา เพื่อให้พวกเราใช้อาวุธนี้ทำความจริงให้ประจักษ์แก่ใจ เอามาเป็นเครื่องมือตรวจสอบสำรวจความจริงในชีวิต

กฎธรรมชาติข้อแรก คือ กฎของการกระทำและผลของการกระทำ หรือกฎแห่งกรรม กฎธรรมชาติข้อที่สอง คือกฎของความเปลี่ยนแปลง เรารู้จักกันในนาม 'พระไตรลักษณ์ ' แต่ยังต้องมองให้ดีว่า พระพุทธเจ้าใช้กฎไตรลักษณ์อย่างครอบคลุม

เพราะความหมายของกฎไตรลักษณ์ข้อแรกคือ อนิจจัง หลวงพ่อชา สุภัทโทใช้คำว่า 'มันบ่แน่'

ข้อสอง คือ ทุกขัง มันเป็นเหตุให้เกิดเวทนา เพราะความทุกข์เป็นเวทนา ทุกข์แก่ใคร แก่มนุษย์ แก่สัตว์ คำแปลของคำว่าทุกข์ คือ ทนได้ยาก จึงมีการอ้างอิงพุทธพจน์ว่า สิ่งทั้งหลายมันแปรปรวน เป็นทุกข์ ทนอยู่ไม่ได้ หรือแปรเปลี่ยนตลอดเวลา ทุกข์เกิดขึ้นเพราะเราปฏิเสธการเปลี่ยนแปลง เราไม่ยินดีกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น มันไม่เป็นตามใจเรา

อีกข้อหนึ่งคือ อนัตตา คำแปลก็คือ หาสาระไม่ได้ ฝากผีฝากไข้ไม่ได้ มันไม่มีตัวตน ความหมายของอนัตตา คือ ความไร้สาระ ก็ในเมื่อมันไม่ใช่อัตตา มันจึงเป็นสิ่งที่พึ่งพิงอาศัยไม่ได้ หรืออาจจะใช้ศัพท์แรงๆ ว่า มันห่วยแตก ฉะนั้น จึงใช้สามคำนี้ว่า มันบ่แน่ ทุกข์แท้ๆ ห่วยแตก และนี่คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

กายใจ : ปัญหาของการเรียนการสอนพุทธศาสนาในไทยอยู่ตรงไหน

พระภาสกร : ก็คือ เมื่อผู้สอนบอกให้พิจารณาลงไตรลักษณ์ แต่กลับไปคาอยู่ตรงการเปลี่ยนแปลง แต่ไม่เห็นว่ามันทุกข์ เราจึงทุกข์และหาทางออกจากมันไม่ได้ ถ้าจะเห็นไตรลักษณ์ก็คือ เห็นว่ามันเปลี่ยนแปลง มันไม่ตามใจเรา แล้วมันก็ห่วยแตก สำคัญคือต้องลากไปให้ถึงห่วยแตก

ถ้าพิจารณาอย่างนี้ ไตรลักษณ์ก็ทรงประสิทธิภาพ แต่ปัญหาที่มันใช้แล้วไม่ได้ผล เพราะว่า ครูบาอาจารย์สอนให้เห็นแค่การเปลี่ยนแปลงเท่านั้น ก็คือไตรลักษณ์แล้ว ไม่ใช่ นั่นคือการเห็นแค่อนิจจังเท่านั้น

กฎธรรมชาติข้อที่สาม คือ กฎของกรรม ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทำดีให้ผลเป็นสุข ทำชั่วให้ผลเป็นทุกข์ กฎข้อนี้คือ กฎของความเป็นเหตุเป็นผล พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจสี่ แต่ก็มีคนพยายามยัดเยียดเหลือเกินว่าให้พระองค์ตรัสรู้ปฏิจจสมุปบาท

กายใจ : ปฏิจจสมุปบาทก็คืออริยสัจสี่ใหญ่ ไม่เหมือนกันหรือ

พระภาสกร : อ้าว ก็พระพุทธเจ้าตรัสกี่ครั้ง ก็ตรัสว่าตรัสรู้เรื่องอริยสัจสี่ ค้นพบอริยมรรคมีองค์แปด พระพุทธองค์พิจารณาปฏิจจสมุปบาทมาก่อนการตรัสรู้ มีอยู่ในพระสูตรอยู่แล้ว หลังจากการตรัสรู้ก็มาพิจารณาอีก 7 วัน แต่ตอนที่ตรัสรู้คือ ตรัสรู้ความเป็นเหตุเป็นผลของทุกข์ พระพุทธองค์ค้นพบว่า ความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่มีเหตุมีผล ไม่มีอะไรเกิดขึ้นลอยๆ

เพราะฉะนั้น มนุษย์เราตอบสนองต่อเหตุผล พระพุทธเจ้าก็ตอบสนองต่อเหตุผล ทุกข์เป็นผล เหตุคือ สมุทัย คือความอยาก เพราะอยากจึงทุกข์ นี่ไง แต่พระองค์ไม่หยุดอยู่แค่นี้ พระองค์ค้นหาไปว่า แล้วกระบวนการดับความอยากอยู่ที่ไหน ผลของการดับทุกข์คือ นิโรธ

แต่นิโรธ เป็นผลจากการปฏิบัติมรรคมีองค์แปด มรรคจึงเป็นเหตุ นิโรธ เป็นผล ความอยากเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล มันเป็นเหตุผลสองคู่ คู่หนึ่งเป็นฝ่ายเกิดก็คือ ความอยากเป็นเหตุ ทุกข์เป็นผล อีกคู่หนึ่งเป็นฝ่ายดับ คือ มรรคเป็นเหตุ นิโรธเป็นผล มันคือเรื่องของความเป็นเหตุเป็นผล พระองค์ค้นพบกฎของเหตุและผล อริยสัจสี่นั้นคือความเป็นเหตุเป็นผลที่ทรงพลังยิ่ง แล้วก็ล้างบางความเห็นผิดออกจากใจพระองค์

กฎธรรมชาติข้อที่สี่ ดูแก้วใบนี้ที่อยู่ในมือของอาตมา มันมาเองได้ไหม ไม่ได้ มันมีเหตุปัจจัยมากมาย ที่ทำให้แก้วมาอยู่ตรงนี้ นี่คือมหภาคของความจริง อริยสัจสี่เป็นจุลภาค นี่คือ ความเป็นปัจจัยการของความเชื่อมโยงกัน พระพุทธเจ้ามองในเรื่องของทุกข์และการดับทุกข์ก็มองในเรื่องของปฏิจจสมุปบาท ปัจจัย 12 ประการจากการเกิดทุกข์และนำไปสู่การสิ้นทุกข์

เพราะฉะนั้น กฎแห่งธรรมชาติที่พระองค์ให้กับเรานั้นมีทั้งหมดเพียงแค่ 4 กฎ คือ 1 กฎของไตรลักษณ์ 2กฎของกรรม กฎของการกระทำและผลของการกระทำ 3 กฎของอริยสัจสี่ 4 กฎของปัจจัยการของความเชื่อมโยงกัน คือ ปฏิจจสมุปบาท ดังนั้น ปฏิจจสมุปบาทเป็นเพียงหนึ่งในสี่ของกฎธรรมชาติที่พระพุทธเจ้าค้นพบ ไม่ใช่ทั้งหมด

กายใจ : จุดบกพร่องในการปฏิบัติของเราก็คืออะไร

พระภาสกร : มาดูกัน ร่างกายเราประกอบด้วยสองส่วน คือกายกับใจ ภาระในการดูแลร่างกายเราเยอะไหม ที่จะให้ผลดี ก็ต้องกินอาหารให้เหมาะสม พักผ่อนออกกำลังกาย แบ่งเวลาให้ถูกต้อง ให้สังคมแค่ไหน ให้ครอบครัวแค่ไหน ทุกอย่างคือการบริหารกาย แต่ทุกข์ใจเกิดขึ้นเพราะอะไร พระพุทธเจ้าตรัสว่าทุกข์ใจนั้น มีสมุทัย คือความอยากเป็นเหตุ ทุกข์จึงเป็นผล เพราะอยากจึงทุกข์

ทีนี้ อยากมีอยู่สองอย่าง อยากดึงเข้า หรืออยากผลักออก ที่อยากดึงเข้า เขาเรียกว่า โลภะ ที่อยากผลักออก เรียกว่า โทสะ ที่อยากดึงเข้า คือ รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เป็นกามราคะ เป็นตัณหา ฉันคิดว่า มันจะนำความสุขมาให้แก่ฉัน ก็อยากดึงเข้า อยากได้ฐานะตำแหน่ง เป็นนายร้อยนายพัน นายพล เป็นสส. สว. เป็นรัฐมนตรี เป็นนายกรัฐมนตรี ก็คิดว่าเพราะสิ่งเหล่านั้น จะเอื้อให้ได้กามเร็วขึ้น มากขึ้น เราแสวงหาความร่ำรวยเพื่อจะได้ไปซื้อรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสมา หรืออยากได้ตำแหน่ง จะได้เอาตำแหน่งไปบังคับสิ่งที่อยากได้ อยากปรารถนามา นี่คือ เราอยากได้ มันเป็นภวตัณหา

ขอนุญาตยกตัวอย่างกรณีของเหลือง-แดง เหลืองก็ทุกข์ แดงก็ทุกข์ ทำไมจึงทุกข์ เพราะอยากทั้งคู่ เหลืองบอกว่าอยากให้คนๆ นั้นที่อยู่เมืองนอกไปตายซะ นี่คือวิภวตัณหา ส่วนแดงว่ายังไง คิดถึงคนๆ นั้นเหลือเกิน กลับมาเถอะ ฉะนั้น บุคคลๆ นี้เป็นวัตถุกาม เป็นกามฝ่ายดีของแดง และเป็นกามฝ่ายเลวของเหลือง ฝ่ายหนึ่งอยากดึงเข้า อีกฝ่ายอยากผลักออก แล้วทุกข์ทั้งคู่

ปัญหาก็คือว่า ทำไมจึงอยากเล่า ก็เพราะมีการยึด มีการให้คุณค่า อุปาทานการยึดถือ การให้ค่า ยึดว่าดี หรือยึดว่าเลว ฉะนั้น คุณคนนั้น เป็นอารมณ์ที่ดี เป็นอิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่น่าปรารถนาของฝ่ายแดง แต่เป็นอารมณ์ที่ไม่ดี ก็เป็น อนิฏฐารมณ์ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนาของฝ่ายเหลือง คนฝ่ายแดงก็ว่าดี ฝ่ายเหลืองก็ยึดว่า ชั่ว โกงระดับนโยบาย รวยแล้วก็ยังจะเอาอีก ส่วนแดงบอกว่า นี่แหละ ฮีโร่ตัวจริง มีเงินสามารถใช้ทั้งชีวิตไม่หมด แต่ยอมเสียสละทำประโยชน์เพื่อประโยชน์ของประชาชน นี่ก็คือ กามุปาทาน ยึดในบุคคล หรือยึดในคุณค่าต่างๆ

อีกอย่างของการยึดคือ ยึดในความคิด ทฤษฎี ง่ายๆ เสรีประชาธิปไตย กับคอมมิวนิสต์ ยังรบกันไม่เลิก เกาหลีเหนือกับเกาหลีใต้ยังรบกันไม่เลิก ลัทธิศาสนา สุหนี่ กับชีอะห์ อิสลามด้วยกัน สองนิกายยังทะเลาะกันอยู่ไหม นี่คือการยึดใน ทิฏฐฺปาทาน ความยึดมั่นในทิฐิ

ส่วน สีลพัตตุปาทาน ยึดมั่นในแนวศีลพรต เช่นว่า พุทธด้วยกันก็ยังแยกค่าย แนวเพ่งลูกแก้ว แนวภาวนาพุทโธ แนวพองยุบ นี่ไงยึดในรูปแบบการปฏิบัติและข้อห้ามก็ทะเลาะกัน อีกอันหนึ่งคือ ยึดความเป็นตัวตนเราเขา เช่น เราไปว่าเขา ชอบหาเรื่องกันจังเลย คุณน่ะ อัตตาสูง เวลาเขาชี้เราหนึ่งนิ้ว เขาชี้ตัวเองสามนิ้ว และชี้เทวดาอีกหนึ่งนิ้ว คุณไม่ต้องไปด่าใครเขาหรอก ตราบใดที่คุณยังไม่ใช่พระอรหันต์ มีอัตตากันทุกคน ไม่ต้องมาตอแหล ส่วนมากพวกนี้เล่นเก็บอารมณ์ไง พยายามทำเหมือนกับว่าตัวเองไม่มีอารมณ์ ไม่โกรธกับใคร อันนี้เป็นเพราะยึด อัตตวาทุปาทาน ความยึดมั่นในตัวตนเราเขา

ทั้งหมดนี้ที่ทำให้การปฏิบัติธรรมของเราไม่ก้าวหน้า ที่เป็นเครื่องวัดหรือเครื่องชี้ตรงนี้ก็คือ 'มานะ' มันโผล่ขึ้นมา

'มานะ' ก็คือ การเปรียบเทียบว่า เราดีกว่าเขา เราเสมอเขา หรือเราด้อยกว่าเขา เขาดีกว่าเรา เขาเสมอเรา หรือ เขาด้อยกว่าเรา ตราบใดที่ยังมีการเปรียบเทียบกันอยู่ ก็มีไอ้ตัวตนเราเขานั่นแหละ นี่ไงคือตัวยึด เพราะยึดจึงอยาก เพราะอยากจึงทุกข์ เหลืองก็ยึด แดงก็ยึด ตั้งแต่ปี 2475 เราเปลี่ยนแปลงการปกครอง มีนายกรัฐมนตรีมาแล้ว 22 คน ก่อนหน้าเขา มีนายกรัฐมนตรีคนไหนดีร้อยเปอร์เซนต์มีไหม ไม่มี มีคนไหนชั่วร้อยเปอร์เซนต์ไหม ไม่มี จากคนนั้นจนถึงน้องสาวเขาคนนี้ มีใครดีร้อยเปอร์เซนต์ชั่วร้อยเปอร์เซนต์มีไหม ก็ไม่มี ก็มีดีมีชั่วกันทุกคน แล้วทำไมคนๆ นั้นทำให้เราทุกข์ขนาดนี้เล่า

เพราะเราต่างไม่เห็นความจริง... ?