คำพูดกับความรับผิดชอบ | วรากรณ์ สามโกเศศ

คำพูดกับความรับผิดชอบ | วรากรณ์ สามโกเศศ

“ผมรู้สึกว่าทางออกมันค่อนข้างชัดเจน ท้ายที่สุดแล้วมันต้องเป็นการฆ่าตัวตายหมู่ และ ‘seppuku’ ของคนแก่” คำพูดที่น่าตกตะลึงนี้ออกมาจากปากของอาจารย์หนุ่มชาวญี่ปุ่น วัย 38 ปี สอนเศรษฐศาสตร์อยู่ที่มหาวิทยาลัย Yale ในสหรัฐ เมื่อปลายปี 2564

เพียงชั่วข้ามคืนเขาดังขึ้นมาอย่างโดดเด่นในญี่ปุ่นและในระดับโลก แต่สิ่งที่ควรพิจารณาก็คือความรับผิดชอบของคำพูดที่อาจมีผลกระทบด้านลบอย่างกว้างขวางได้

Yusuke Narita คือชื่อของชายคนนี้ที่กลายเป็นดาวเด่นของคนรุ่นใหม่ในญี่ปุ่นที่มีจำนวนอยู่ไม่น้อย ซึ่งมีความรู้สึกว่าคนสูงวัยเป็นภาระ อีกทั้งทำให้คนรุ่นเขาเสียโอกาสเพราะถูกกันท่า คำพูดของเขาไปแตะต่อมอ่อนไหวของสังคมญี่ปุ่นที่วัฒนธรรมการฆ่าตัวตายอย่างสมัครใจ 

(Seppuku คือ การกระทำที่กล้าหาญ คว้านท้องตนเองด้วยมีดเพื่อรักษาหรือนำเกียรติกลับคืนมาซึ่งเป็นที่นิยมของซามูไรโดยเฉพาะในศตวรรษที่ 19) เพื่อแสดงความจงรักภักดี และ/หรือรักษาเกียรติฝังลึกอยู่ในใจ นอกจากนี้คงจำกันได้ว่าเมื่อ 30-40 ปีก่อนการฆ่าตัวตายตามดารานักแสดง นักร้อง เป็นแฟชั่นของวัยรุ่นญี่ปุ่น

คำพูดกับความรับผิดชอบ | วรากรณ์ สามโกเศศ

การพูดเช่นนี้ทำให้ชายหนุ่มคนหนึ่งที่ไม่ค่อยเปิดเผยประวัติและยังไม่เป็นที่รู้จักกันกว้างขวางในเรื่องวิชาการ กลายเป็นคนดังข้ามคืน สังคมญี่ปุ่นเกิดความหวาดหวั่นว่าจะเกิดแฟชั่นฆ่าตัวตายกลับมาอีก และนำมาซึ่งเรื่องอื่นๆ ที่ไม่พึงประสงค์

ซึ่งก็ได้เกิดขึ้นจริงแล้วในเรื่องไอเดียการบังคับกลายๆ ให้คนสูงอายุฆ่าตัวตาย เพื่อแก้ไขปัญหาการต้องใช้เงินมหาศาลเพื่อสวัสดิการของผู้สูงวัย

ผู้วิจารณ์เชื่อว่า Narita มิได้หลุดปากออกมาอย่างไม่ได้ตั้งใจ เพราะเขากล่าวในสาธารณะหลายครั้งในหมู่คนรุ่นใหม่ว่า คนสูงวัยในตำแหน่งผู้บริหารสูงๆ ของสังคมญี่ปุ่นควรลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่

ในโลกโซเชียลเขากลายเป็นคนดังที่คนรุ่นใหม่จำนวนแสนๆ ชื่นชม และนำไอเดียต่อต้านคนสูงอายุมาวิพากษ์วิจารณ์ต่อจนเกิดมีไอเดีย “จัดการ” คนสูงวัยอยู่ในสังคมญี่ปุ่นในขณะนี้

Narita กล้าก้าวข้ามสิ่งที่ไม่พูดกันในสังคมญี่ปุ่น เขาบอกว่า “สิ่งที่ถูกห้ามไม่ให้เราพูดถึงกันโดยทั่วไปนั้นมักเป็นความจริง” สองสิ่งที่เขากล่าวถึงก็คือเรื่อง euthanasia (การกระทำที่จบชีวิตคนป่วยเพื่อจำกัดความเจ็บปวด ; มาจากภาษากรีกโบราณ eu (good) กับ thanatos (death)) และความมั่นคงทางสังคมอันเนื่องมาจากภาระทางสังคมและการเงินจากผู้สูงวัย

คำพูดกับความรับผิดชอบ | วรากรณ์ สามโกเศศ

คนป่วย” ตามนัยที่ Narita กล่าวถึงก็คือ “คนสูงวัย” ที่ Narita ให้คำแนะนำแก่คนรุ่นใหม่ว่า “ถ้าคิดว่าเรื่องการฆ่าตัวตายเป็นหมู่เป็นหนทางที่เหมาะสมแล้วก็จำเป็นต้องทำงานกันหนัก เพื่อทำให้มันกลายเป็นสังคมแบบนั้นขึ้นมา” 

สาเหตุที่ทำให้มีการพูดถึง “คนแก่” ในเชิงว่าเป็น “คนป่วย” และเป็นภาระของสังคม ก็เพราะว่าจำนวนประชากรญี่ปุ่นขึ้นสูงสุดในปี 2553 ด้วยจำนวน 120.83 ล้านคน และลดลงเป็นลำดับจนคาดว่าในปี 2613 จะมีประชากรประมาณ 60 ล้านคน

หรือพูดง่ายๆ ว่าจะมีประชากรเหลือครึ่งเดียวในประมาณ 50 ปี ปัจจุบันญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีสัดส่วนคนสูงอายุสูงที่สุดในโลก คนในวัยเกินกว่า 65 ปีมีถึง 28.7% (มีคนอายุเกินกว่า 100 ปี 80,000 คน) และในปี 2579 สัดส่วนนี้จะขึ้นไปถึง 33% หรือ 1 ใน 3

สังคมญี่ปุ่นเหมือนกับสังคมเอเชียโดยทั่วไปที่ให้ความเคารพผู้สูงอายุ ดังนั้น เมื่อมีคนน่าเชื่อถือที่มีการศึกษาดี มีฐานะสังคมเป็นที่ยอมรับออกมาให้ไอเดียเช่นนี้ อีกทั้งมีคนรุ่นใหม่เห็นดีเห็นงามนับแสนคนจึงรู้สึกตกใจ

โดยเฉพาะเมื่อมีการวิพากษ์พาดพิงไปถึงเรื่องการ “บังคับกลายๆ" ให้ผู้สูงวัย ผู้ป่วยทางจิต ผู้มีพันธุกรรมผิดปกติ ฯลฯ ฆ่าตัวตายอย่างสมัครใจด้วย (“บังคับกลายๆ” แล้วจะเป็นการ “สมัครใจ” ได้อย่างไร)

ผู้วิจารณ์จำนวนไม่น้อยกล่าวหาว่า Narita อยากดังและพูดอย่างไร้ความรับผิดชอบ กล่าวคือพูดโดยมิได้คำนึงถึงผลกระทบที่อาจตามมา ไอเดียเช่นนี้เสนอได้แต่ควรอยู่ในรูปแบบที่รอบคอบ เป็นงานศึกษาเชิงวิชาการที่นำเสนอต่อสาธารณะในห้วงเวลาอันเหมาะสม มิใช่การนำเสนอในโลกโซเชียลอย่างมุ่งความดังเป็นหลัก 

ถ้าไม่เชื่อก็ลองดูกรอบแว่นตาที่ Narita ใส่ก็ได้ ข้างหนึ่งกลมและอีกข้างเป็นสี่เหลี่ยม ถ้าคนไม่ต้องการความสนใจจากคนอื่นแล้วคงไม่ใส่แว่นตาแบบนี้หรอก

ตอน Narita นำเสนอเรื่องนี้อาจมิได้คำนึงถึงเรื่องที่เป็นประเด็นในสังคมญี่ปุ่น กล่าวคือ

  • Kamikaze (เครื่องบินที่ผู้ขับมุ่งเข้าโจมตีแบบฆ่าตัวตาย ) มีการเปิดเผยในภายหลังว่าในตอนแรกคนขับไม่รู้ว่าต้องฆ่าตัวตาย บ้างถูกบังคับกลายๆ อย่างไม่ตั้งใจ
  • การฆ่าตัวตายหมู่ของหลายกลุ่มนับหมื่นๆ คนบนเกาะ Okinawa ในปลายสงครามโลกครั้งที่สอง
  • วัฒนธรรมการฆ่าตัวตายซึ่งอยู่ในจิตวิญญาณของคนญี่ปุ่น ฯลฯ และมิได้คาดว่าจะเกิดความคิดที่สมควร “จัดการ " ผู้สูงอายุในหมู่คนรุ่นใหม่

บ้านเราก็มี “Narita ไทย” อยู่ไม่น้อย เราจะเห็นมากขึ้นในช่วงหาเสียงเลือกตั้งเมื่อผู้พูดขาดความรับผิดชอบต่อสิ่งที่จะเกิดตามมา เช่น คนที่เชื่อในกระแสต้าน “วัคซีน” เชื่อทฤษฎีสมคบในทุกคดี พวก Hate Speech

พวกชอบใช้ fake news เพื่อหวังผลประโยชน์ (มะนาว เมล็ดมะละกอ ทุเรียน รักษาทุกโรคมะเร็ง) ฯลฯ เราลืมไปว่าข้อมูลที่ออกมาจากคนเหล่านี้ทำร้ายคนไทย ช่วยทำให้ตายไปและมีชีวิตทนทุกข์ทรมานเพราะความเชื่อผิดๆ กี่คน

ผู้วิจารณ์บอกว่า Narita นั้นเกลียดชังผู้สูงอายุ และอยากดัง จึงเอาทั้งสองเรื่องมาผูกกัน และแหกกฎของสังคมญี่ปุ่นจนกลายเป็นขวัญใจของคนญี่ปุ่นรุ่นใหม่ การกระทำเช่นนี้เป็นการเห็นแก่ตัวในทุกสังคม

เราควรติดตามว่าไอเดียของ Narita ในเรื่อง “จัดการ” คนแก่ขนาด “ฆ่าตัวตายหมู่” ระดับสมัครใจจนถึงบังคับนั้นจะไปไกลแค่ไหนในสังคมอื่นๆ ในโลก มีคนแก่ฝากบอกมาว่า

“ถ้าไม่แน่จริงเขาไม่แก่จนถึงป่านนี้หรอก คงตายไปนานแล้ว และเขาได้ทำอะไรไว้ให้แก่สังคมเหมือนกัน การตายอย่างสมัครใจนั้นก็คิดอยู่เหมือนกันเพราะไม่อยากทรมาน แต่ถ้าจะมาบังคับกันนั้น ขอสู้เต็มที่”