Hybrid Working

Hybrid Working

หลังจากที่มีการผ่อนคลายมาตรการการล็อคดาวน์ในหลายๆประเทศ การทำงานในหลายๆองค์กรก็เปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิงเช่นกัน จากการทำงานจากที่บ้าน (Work-from-home) จนกระทั่งมาถึงการทำงานจากที่ไหนก็ได้ (Work-from-anywhere)

การเปลี่ยนแปลงนี้ เหตุผลหลักมาจากการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ โดยหากไม่เปิดโอกาสให้มีการทำงานมาจากนอกสำนักงาน แรงงานทักษะเหล่านี้มีโอกาสที่จะลาออกจากงานไปเลย และส่งผลกระทบต่อผลประกอบการได้ในที่สุด

ที่ผ่านมาหลายคนมักกล่าวถึงข้อดีของการที่ไม่ต้องเข้าทำงานในสำนักงาน เช่น ไม่เสียเวลาเดินทาง มีสมาธิในการทำงานมากขึ้น ลดความตึงเครียด นอกจากนี้ ยังมีความยืดหยุ่นในการจัดการชีวิตมากขึ้น สามารถดูแลผู้ป่วยหรือเด็กได้ เป็นต้น แต่ในขณะเดียวกัน ก็เริ่มมีผลการศึกษาถึงข้อจำกัดของการทำงานนอกสำนักงานให้เห็นเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ดังนี้

1) ความปลอดภัยทางไซเบอร์ (Cyber Security) ปกติแล้วในสำนักงานที่มีมาตรฐานความปลอดภัยที่เพียงพอ จะมีการติดตั้งโปรแกรมที่จำเป็นต่าง ๆในสำนักงานเพื่อป้องกันการบุกรุกของผู้ไม่ประสงค์ดี ในขณะที่การทำงานจากที่บ้านไม่ได้มีการลงทุนด้านความปลอดภัยได้เท่าที่บริษัทมีได้ ซึ่งแม้ว่าในอดีตมีการทำงานในสำนักงานเป็นหลัก ก็ยังมีการขโมย หรือยึดข้อมูลเพื่อเรียกค่าไถ่ให้ได้ยินกันอยู่เป็นประจำ ดังนั้น การยอมให้มีการทำงานจากที่ไหนก็ได้ ก็ยิ่งเป็นจุดอ่อนให้แฮกเกอร์เจาะเข้ามาเพื่อดึงเอาข้อมูลของลูกค้าไปขายใน Dark Web ดังที่เคยเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการเครือข่ายโทรศัพท์เจ้าดังรายหนึ่งของไทยก่อนหน้านี้

โดยล่าสุดทาง JP Morgan Chase ธนาคารที่ใหญ่ที่สุดของสหรัฐฯ ได้ออกประกาศห้ามพนักงานทำงานจากโรงแรม ร้านกาแฟ สถานที่นั่งทำงานร่วมกับผู้อื่น หรือแม้กระทั่งบ้านญาติ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันไม่ให้มีการใช้ Wi-Fi ร่วมกับคนแปลกหน้า ซึ่งอาจกลายร่างเป็นแฮกเกอร์ รวมถึงป้องกันมิให้คนโต๊ะข้าง ๆชะโงกหน้ามาแอบมองหน้าจอ ตอนพนักงานเดินไปซื้อกาแฟ เป็นต้น

2) จำกัดการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพ และสร้างสรรค์ภายในองค์กร ทำให้ปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันลดน้อยลงไปด้วย โดยเมื่อเราต้องการจะสื่อสาร ก็จะ Zoom หรือ MS Team ไปหาผู้ที่เราต้องการ แต่เราจะไม่คุยเล่น เมาท์มอย ไร้สาระ ซึ่งต่างจากการสื่อสารปกติในชีวิตประจำวัน ที่ส่วนใหญ่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจ ส่งผลให้เกิดการไหลเวียนของข้อมูลภายในองค์กรตลอดทั้งวัน

ซึ่งในเรื่องนี้นั้น Goldman Sachs บริษัทวาณิชธนากรรายใหญ่ของโลก ได้กำหนดให้พนักงานของบริษัทเข้าทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์ ด้วยเห็นว่าการทำงานนอกสำนักงานอาจจำกัด “ความคิดสร้างสรรค์ และความร่วมมือ” ขององค์กรได้

3) จำกัดการเรียนรู้ของพนักงานใหม่ การสอนงานนั้น มิได้เกิดจากการพร่ำพูดเท่านั้น แต่เกิดจากการเรียนรู้จากการเห็นพนักงานรุ่นพี่ถูกลูกค้าตำหนิทางโทรศัพท์ การแก้ไขปัญหาระหว่างวัน รวมถึงการเห็นนายอารมณ์เสียในที่ทำงาน ฯลฯ การขาดสิ่งเหล่านี้ไป มีโอกาสส่งผลกระทบต่อการสร้างบุคลากรขององค์กรในระยะยาวได้

4) เปิดโอกาสให้พนักงานรับงานนอก หรือถึงขนาดเป็นพนักงานของ 2 บริษัทในเวลาเดียวกันก็มีมาแล้ว! (โดยตรวจพบได้จากการที่ 2 บริษัทนำส่งเงินประกันสังคมให้กับผู้ประกันตนทั้งคู่)

อ่านอย่างนี้แล้ว อาจทำให้หลายบริษัทเกิดความกังวลว่าการให้พนักงานไม่ต้องเข้าสำนักงานเลย (Remote Working) หรือแบบผสม (Hybrid Working) จะยังควรที่จะทำต่อไปหรือไม่?

โดยล่าสุดได้มีผลการศึกษา Is Hybrid Work the Best of Both Worlds? Evidence from a Field Experiment โดย Prithwiraj (Raj) Choudhury, Tarun Khanna, Christos A. Makridis และ Kyle Schirmann ของ Harvard Business School พบว่าการทำงานในที่ทำงาน 23 – 40% ของเวลางานทั้งหมด ส่งผลต่อคุณภาพงานที่ดีกว่าการทำงานในที่ทำงานในระยะเวลาที่มากกว่า หรือน้อยกว่านี้ โดยเป็นการส่งเสริมให้เกิด “ความยืดหยุ่น แต่ไม่โดดเดี่ยว” (Flexibility without isolation)

อย่างไรก็ตาม ต้องอย่าลืมว่า การทำงานจากนอกสำนักงานเพียง 1-2 คน ก็ทำให้คนทั้งหมดต้องคุยกันผ่านหน้าจออยู่ดี ซึ่งอาจเป็นการลดประโยชน์ที่จะได้รับจากการเข้าสำนักงานได้ โดยศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ Nicholas Bloom แห่ง Stanford University ได้ให้ความเห็นในประเด็นนี้ไว้ว่าผู้บริหารสูงสุด และผู้บริหารฝ่ายควรกำหนดวันที่จะให้พนักงานเข้าทำงานในสำนักงาน (แทนที่จะให้พนักงานแต่ละคนเลือกเข้าวันไหนก็ได้ตามใจตน) โดยเป็นวันเดียวกับที่ผู้บริหารเข้าทำงานด้วยเช่นกัน

การยอมรับกับความเปลี่ยนแปลง และปรับตัวให้ดีที่สุดกับการเปลี่ยนแปลงนี้ อาจเป็นหนทางที่ดีสุดสำหรับทุกฝ่าย