"น้ำทะเลหนุนสูง" กอนช. เตือน 3 จังหวัดรับมือน้ำขึ้นสูงถึง 2.10 เมตร

"น้ำทะเลหนุนสูง" กอนช. เตือน 3 จังหวัดรับมือน้ำขึ้นสูงถึง 2.10 เมตร

กอนช. ประกาศล่าสุด! "น้ำทะเลหนุนสูง" ช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 - 1 สิงหาคม 2565 เตือน 3 จังหวัดรับมือน้ำขึ้นสูง 2.10 เมตร

กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) รายงานสถานการณ์น้ำ และการบริหารจัดการน้ำ ประจำวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 เวลา 08.00 น. แจ้งเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา 28 กรกฎาคม 2565 - 1 สิงหาคม 2565 โดยเวลาประมาณ 19.00 - 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง

 

 

จากประกาศ กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ฉบับที่ 22/2565 ลงวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 กอนช.แจ้งเฝ้าระวัง "น้ำทะเลหนุนสูง" บริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 - 1 สิงหาคม 2565 เวลาประมาณ 19.00 - 22.00 น. เป็นช่วงที่น้ำทะเลหนุนสูง

 

ประกอบกับ "กรมชลประทาน" ได้ประกาศแจ้งการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยาในอัตรา 1,000 - 1,250 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างเพิ่มสูงขึ้น

 

โดยคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 - 1 สิงหาคม 2565 ระดับน้ำอาจมีความสูงประมาณ 1.90 - 2.10 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณพื้นที่ชุมชนนอกแนวคันกั้นน้ำและแนวเขื่อนชั่วคราวบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันน้ำถาวร (แนวฟันหลอ) ในพื้นที่จังหวัดนนทบุรี สมุทรปราการ และกรุงเทพมหานคร

 

สำหรับการคาดการณ์ "สภาพอากาศ" ในช่วงวันที่ 28 กรกฎาคม 2565 - 29 กรกฎาคม 2565 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทยมีกำลังอ่อนในขณะที่มีลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง รวมทั้งกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก ทำให้ประเทศไทยตอนบนมีฝนลดลง แต่ยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ โดยมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคใต้

 

 

สถานการณ์อุทกภัย  

 

  • จังหวัดพิจิตร เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดเพชรบูรณ์ รวมถึงในเขตจังหวัดพิจิตร ส่งผลให้มีน้ำป่าไหลหลากมาจาก ตำบลไทรน้อย อำเภอเนินมะปราง จังหวัดพิษณุโลก ไหลบ่ามายังพื้นที่จังหวัดพิจิตร ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอวังทรายพูล และอำเภอทับคล้อ คาดว่าภายใน 1-2 วัน สถานการณ์น้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม

 

  • จังหวัดพิษณุโลก เกิดฝนตกในพื้นที่จังหวัดพิษณุโลกติดต่อกันหลายวัน ทำให้เกิดน้ำจากเทือกเขาเพชรบูรณ์ไหลลงคลองวังยาง วังโพรงเอ่อล้นเข้าท่วมบ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรของชาวบ้านในพื้นที่ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วม อำเภอชุมแพ คาดว่าภายใน 1-2 วัน ถ้าไม่มีฝนตกเพิ่มสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ

 

  • จังหวัดชัยภูมิ เกิดน้ำท่วมพื้นที่อำเภอคอนสาร (เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ) บริเวณตำบลดงบัง พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 610 ไร่ ระดับน้ำ 0.3 - 1.0 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง

 

  • จังหวัดขอนแก่น เกิดน้ำท่วมอำเภอชุมแพ (เขตโครงการส่งน้ำและ บำรุงรักษาพรม-เชิญ) บริเวณตำบลไชยสอ พื้นที่น้ำท่วมประมาณ 429 ไร่ ระดับน้ำ 0.3 - 0.7 เมตร ปัจจุบันระดับน้ำในพื้นที่น้ำท่วมมีแนวโน้มลดลง

 

  • จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เนื่องจากอิทธิพลของปริมาณน้ำในคลองโผงเผงที่รับมาจากแม่น้ำเจ้าพระยาไหลลงสู่แม่น้ำน้อยมีปริมาณมาก ทำให้มีน้ำล้นข้ามตลิ่งแม่น้ำน้อยในช่วงที่ตลิ่งต่ำ ทำให้มีพื้นที่น้ำท่วมรวม 2 อำเภอ ได้แก่ อำเภอผักไห่ และอำเภอเสนา ความสูงของระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเนื่องจากการระบายน้ำผ่านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่จุดวัดน้ำ C.13 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ปัจจุบันสถานีวัดน้ำ C.13 ท้ายเขื่อนเจ้าพระยา มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 1,100 ลบ.ม./วินาที ระดับน้ำเหนือ เขื่อน +16.40 ม.รทก.

 

สรุปสถานการณ์น้ำภาพรวมของประเทศ (28 กรกฎาคม 2565) เวลา 07.00 น.

 

ประเทศไทยยังคงมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้บางพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนล่าง ปริมาณฝน 24 ชั่วโมง สูงสุดที่ จ.นครศรีธรรมราช (148) จ.สระแก้ว (77) และ จ.สระบุรี (53) ขณะที่ แม่น้ำสายหลักน้ำน้อยถึงปกติ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ส่วนแม่น้ำโขงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

 

ปริมาณน้ำ แหล่งน้ำทุกขนาด 45,993 ล้าน ลบ.ม. (56%) แหล่งน้ำขนาดใหญ่ 39,973 ล้าน ลบ.ม. (56%) เฝ้าระวังน้ำต่ำกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 3 แห่ง บริเวณภาคเหนือ (3 แห่ง) เฝ้าระวังน้ำสูงกว่าเกณฑ์บริหารจัดการน้ำของอ่างเก็บน้ำ จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ แม่งัด กิ่วคอหมา กิ่วลม อุบลรัตน์ และน้ำพุง

 

พื้นที่เสี่ยงน้ำหลาก - ดินถล่ม ในช่วง 1-2 วัน บริเวณจังหวัด จ.เชียงใหม่ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ชัยภูมิ และสระแก้ว

 

กอนช. เตรียมความพร้อมรับสถานการณ์น้ำหลากทะเลหนุนสูงในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ตามประกาศ กอนช. เรื่อง เฝ้าระวังพื้นที่น้ำหลากและน้ำท่วมฉับพลัน จากอิทธิพลของร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน และเรื่อง เฝ้าระวังน้ำทะเลหนุนสูงบริเวณแม่น้ำเจ้าพระยา 

 

สำหรับประชาชนหรือชุมชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยารวมถึงบริษัท ห้างร้าน ที่ประกอบกิจการในแม่น้ำเจ้าพระยาต้องคอยติดตามสถานการณ์น้ำเหนือ เวลาน้ำขึ้นเต็มที่แต่ละวันในช่วงนี้อย่างใกล้ชิด

 

\"น้ำทะเลหนุนสูง\" กอนช. เตือน 3 จังหวัดรับมือน้ำขึ้นสูงถึง 2.10 เมตร