ปภ.เตือน 33 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง

ปภ.เตือน 33 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง

ปภ.แจ้ง 33 จังหวัด ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และ กทม. เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง ในช่วงวันที่ 20 – 25 ก.ค. 65

วันนี้ (19 ก.ค. 65) เวลา 19.30 น. กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับกรมอุตุนิยมวิทยาได้มีประกาศฉบับที่ 2 (174/2565) ลงวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 เวลา 17.00 น. แจ้งว่า

ร่องมรสุมพาดผ่านภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ รวมถึงกรุงเทพมหานครและปริมณฑล

และกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ ได้ประเมินสถานการณ์น้ำจากฝนคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) พบว่า จะมีปริมาณฝนตกสะสมต่อเนื่อง ประกอบกับสถานการณ์น้ำในลำน้ำและแหล่งน้ำธรรมชาติบางพื้นที่ที่ฝนตกหนักอยู่ในเกณฑ์น้ำมาก อาจส่งผลให้เกิดน้ำหลาก น้ำท่วมฉับพลัน โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ ในช่วงระหว่างวันที่ 20 – 25 กรกฎาคม 2565 ดังนี้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :

พื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง

- ภาคเหนือ ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน (อ.สบเมย แม่สะเรียง) เชียงใหม่ (อ.แม่แจ่ม เชียงดาว) เชียงราย (อ.แม่จัน แม่ฟ้าหลวง แม่สาย เวียงป่าเป้า) ลำพูน (อ.ลี้) ลำปาง (อ.เมืองฯ) น่าน (อ.เชียงกลาง ปัว ทุ่งช้าง ท่าวังผา บ่อเกลือ) อุตรดิตถ์ (อ.ท่าปลา บ้านโคก น้ำปาด) พิษณุโลก (อ.เนินมะปราง นครไทย ชาติตระการ) ตาก (อ.แม่สอด ท่าสองยาง แม่ระมาด) เพชรบูรณ์ (อ.เมืองฯ วังโป่ง ชนแดน หนองไผ่ หล่มสัก หล่มเก่า เขาค้อ น้ำหนาว) และอุทัยธานี (อ.บ้านไร่)

- ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเลย (อ.เมืองฯ ด่านซ้าย ท่าลี่) หนองคาย (อ.โพนพิสัย รัตนวาปี) สกลนคร (อ.บ้านม่วง) บึงกาฬ (อ.เมืองฯ โซ่พิสัย เซกา ปากคาด บึงโขงหลง ศรีวิไล บุ่งคล้า) ชัยภูมิ (อ.เมืองฯ แก้งคร้อ บ้านเขว้า หนองบัวแดง) ขอนแก่น (อ.เมืองฯ ชุมแพ ภูเวียง ภูผาม่าน เวียงเก่า หนองนาคำ) กาฬสินธุ์ (อ.เมืองฯ ยางตลาด) นครราชสีมา (อ.เสิงสาง จักราช พิมาย ห้วยแถลง ชุมพวง หนองบุญมาก ลำทะเมนชัย บัวใหญ่) บุรีรัมย์ (อ.นางรอง ละหานทราย ประโคนชัย เฉลิมพระเกียรติ โนนดินแดง โนนสุวรรณ ลำปลายมาศ บ้านด่าน) และสุรินทร์ (อ.ปราสาท กาบเชิง)

- ภาคกลาง ได้แก่ จังหวัดกาญจนบุรี (อ.ทองผาภูมิ สังขละบุรี) ราชบุรี (อ.สวนผึ้ง บ้านคา) ปราจีนบุรี (อ.นาดี) สระแก้ว (อ.ตาพระยา) จันทบุรี (อ.แก่งหางแมว) ตราด (อ.คลองใหญ่ บ่อไร่ เขาสมิง เกาะกูด เกาะช้าง) เพชรบุรี (อ.แก่งกระจาน ท่ายาง) และประจวบคีรีขันธ์ (อ.บางสะพาน บางสะพานน้อย)

- ภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดชุมพร (อ.พะโต๊ะ) ระนอง (อ.เมืองฯ กะเปอร์) พังงา (อ.เมืองฯ ตะกั่วทุ่ง ตะกั่วป่า คุระบุรี) และภูเก็ต (ทุกอำเภอ)

- กรุงเทพมหานคร เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมขัง

พื้นที่เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลัน

บริเวณแม่น้ำน่าน และลำน้ำสาขา แม่น้ำแควน้อย แม่น้ำป่าสัก แม่น้ำเลย แม่น้ำชี แม่น้ำมูล และแม่น้ำตราด

พื้นที่เฝ้าระวังระวังอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ที่มีปริมาตรน้ำสูงกว่าเกณฑ์ปฏิบัติการอ่างเก็บน้ำกักเก็บสูงสุด (Upper Rule Curve) 3 แห่ง ได้แก่

  1. อ่างเก็บน้ำแม่งัดสมบูรณ์ชล จังหวัดเชียงใหม่
  2. อ่างเก็บน้ำลำนางรอง จังหวัดบุรีรัมย์
  3. อ่างเก็บน้ำอุบลรัตน์ จังหวัดขอนแก่น

และอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง ที่มีปริมาตรน้ำมากกว่าร้อยละ 80 และมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เสี่ยงน้ำล้นกระทบพื้นที่บริเวณท้ายอ่างเก็บน้ำ บริเวณภาคเหนือ (จังหวัดเชียงใหม่ น่าน และเพชรบูรณ์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (จังหวัดเลย บึงกาฬ ขอนแก่น และนครราชสีมา) ภาคกลาง (จังหวัดสระแก้ว และตราด)

กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้งจังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง ภาคใต้ และกรุงเทพมหานคร รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยให้เฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยในช่วงดังกล่าว โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตามสภาพอากาศและสภาพน้ำอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีฝนตกสะสมมากกว่า 90 มิลลิเมตร ในช่วงเวลา 24 ชั่วโมง และพื้นที่จุดเสี่ยงที่เคยเกิดน้ำท่วมขังอยู่เป็นประจำ อีกทั้งจัดชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤต (ERT) รถปฏิบัติการและเครื่องจักรกลสาธารณภัยให้พร้อมเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทันที พร้อมเน้นย้ำให้ทุกหน่วยงานดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุอย่างเคร่งครัด ตลอดจนประสานหน่วยงานในพื้นที่ อำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สร้างการรับรู้และแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศ ประกาศเตือนภัย และปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด