สรุป ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้

สรุป ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้

เปิดการค้าเสรีทำได้หรือไม่ สรุปร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร หลังผ่านสภาวาระแรก หากปลดล็อก ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้

"รู้สึกขอบคุณพี่น้องประชาชนทุกคนที่สนับสนุนและให้ความสนใจร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ซึ่งถือเป็นร่างของฝ่ายค้านที่ผ่านสภาแม้การลงมติเมื่อวานนี้จะเป็นเพียงการรับหลักการในวาระแรก แต่ถือเป็นการเริ่มต้นที่ประเทศไทยจะเริ่มต้นทลายทุนผูกขาด" 

วรรคสำคัญจาก "เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร" ส.ส.กทม. พรรคก้าวไกล คล้อยหลังเพียงวันเดียวที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565 ลงมติผ่านวาระแรก ร่างแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) สรรพสามิต ฉบับที่… พ.ศ.… หรือที่เรียกว่า "ร่างพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" 

สรุป ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้

ผลการลงมติครั้งนี้ที่ประชุม เห็นด้วย 178 เสียง ไม่เห็นด้วย 137 เสียง งดออกเสียง 15 เสียง จากนั้นที่ประชุมมีมติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญ 25 คน เพื่อพิจารณาในวาระ 2 ต่อไป โดยกำหนดให้แปรญัตติภายใน 7 วัน เป็นหนึ่งความคืบหน้าจาก "เท่าพิภพ" เป็นผู้เสนอแก้ไข ให้การขออนุญาตผลิตสุราเพื่อการค้า สำหรับผู้ผลิตรายย่อยสามารถทำได้

จุดเริ่มต้นเสนอร่างกฎหมาย

สำหรับเส้นทาง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า มาจากสิ่งที่ "เท่าพิภพ" เคยถูกสรรพสามิตจังหวัดนนทบุรี และตำรวจ สภ.รัตนาธิเบศร์ จ.นนทบุรี จับกุมเมื่อเดือน ม.ค.2560 ภายหลังผลิตเบียร์ที่หมักเอง หรือ "คราฟต์เบียร์" และเคยเป็นผู้ก่อตั้งเบียร์ยี่ห้อ "เท่าพิภพ เอล โปรเจกต์"

จากนั้นเมื่อ "เท่าพิภพ" ได้ลงเลือกตั้ง ส.ส.เขต 22 บางกอกใหญ่ คลองสาน ธนบุรี ในฐานะผู้สมัครใหม่ แต่ได้เสียงโหวตเป็นอันดับ 1 ที่ 34,368 คะแนน พาตัวเองสวมชุดสูทขี่มอเตอร์ไซค์เข้าประชุมสภาเมื่อปี 2562 

"เท่าพิภพ" พยายามผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" เป็นครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พ.ค.2563 ในสมัยพรรคอนาคตใหม่ และเข้ากระบวนการฟังความคิดเห็นตามมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ https://www.parliament.go.th/section77/survey_detail.php?id=91

สรุป ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้

ก่อนหน้านี้ "ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" เกือบผ่านวาระแรก แต่มาเจอเหตุการณ์ "สภาล่ม" ก่อนลงมติร่างดังกล่าวเมื่อวันที่ 2 ก.พ.2565 จนที่สุดเมื่อเปิดสมัยประชุมสภา "ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" มาสำเร็จจากการผ่านพิจารณาในสภาวาระแรกเมื่อวันที่ 8 มิ.ย.2565

หลักเกณฑ์ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ปี 60

หากเปิดพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2560 มาตรา 153 มีเนื้อหา กำหนดให้บุคคลผู้ประสงค์จะผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่น สําหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง ต้องยื่นคําขออนุญาต ต่ออธิบดีกรมสรรพสามิตและต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด โดยการขออนุญาต และการออกใบอนุญาตดังกล่าวให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขที่กําหนดในกฎกระทรวง 

"เท่าพิภพ" ชี้เห็นว่าทำไมคนตัวเล็กผลิตสุราไม่ได้ และบทบัญญัตินี้ไม่มีการกำหนดกรอบเนื้อหาในการออกกฎกระทรวงไว้ให้เหมาะสม ทำให้กฎกระทรวงที่ออกตามความบัญญัตินั้นกำหนดคุณสมบัติของผู้ขออนุญาต และเงื่อนไขอื่นที่จำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรกว่าเหตุ ทำให้ผู้ประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้ารายเล็กหรือรายย่อยไม่สามารถประกอบอาชีพตามกฎหมายได้ 

สรุป ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้

ปลดล็อกแล้วประชาชนได้อะไร

เป็นที่มาของการผลักดันเสนอร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 เรื่อง "หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวงเกี่ยวกับการกำหนดคุณสมบัติผู้ขออนุญาตผลิตสุราหรือมีเครื่องกลั่นสำหรับผลิตสุราไว้ในครอบครอง" ที่สำคัญร่างกฎหมายที่ถูกเสนอต้องการให้ประชาชนทั่วไปสามารถผลิตเบียร์ - สุรา รับประทานเองได้ แต่หากจะผลิตต้องขออนุญาต และไม่มีข้อกำหนดกำลังการผลิตสำหรับการจำหน่าย โดยมีสาระดังนี้

1.แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติในมาตรา 153 ของพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้การผลิตสุราสามารถกระทำได้โดยทั่วไป แต่หากประสงค์จะผลิตสุราเพื่อการค้าอันเป็นการประกอบอาชีพที่สุจริต ต้องอยู่ภายใต้กฎหมายว่าด้วยภาษีสรรพสามิต โดยต้องขออนุญาตตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และเพื่อให้ความคุ้มครองบุคคลให้มีเสรีภาพในการประกอบอาชีพผลิตสุรา และจัดระเบียบการประกอบอาชีพผลิตสุราให้เหมาะสม จึงกำหนดกรอบเนื้อหาของหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในกฎกระทรวงที่ต้องไม่กำหนดข้อจำกัด อันเป็นการจำกัดสิทธิ และเสรีภาพของบุคคลเกินสมควรแก่เหตุ

2.กำหนดให้บรรดากฎกระทรวง ประกาศ หรือระเบียบที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ให้ใช้บังคับได้ต่อไปเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับร่างพระราชบัญญัตินี้ จนกว่าจะมีกฎกระทรวงหรือประกาศที่ออกตามความในพระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ และกำหนดให้การดำเนินการออกกฎกระทรวง หรือประกาศฉบับใหม่ต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน180 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ

3.กำหนดรองรับคำขอที่ได้ยื่นไว้ก่อนวันที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ และยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาให้ถือเป็นคำขอตามพระราชบัญญัติฉบับนี้โดยอนุโลม และถ้าคำขอดังกล่าวมีข้อแตกต่างไปจากคำขอตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ ให้ผู้อนุญาตสั่งให้แก้ไขเพิ่มเติมคำขอเพื่อให้เป็นไปตามร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้

4.กำหนดรองรับใบอนุญาตที่ออกตามความในพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2560 ก่อนวันที่ร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ใช้บังคับ ให้ยังคงใช้ได้ต่อไปจนกว่าจะสิ้นอายุใบอนุญาต 

แน่นอนว่า ถึงร่างพระราชบัญญัติภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ….  จะผ่านวาระแรก แต่ในชั้นกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายยังมีอีก 25 คน ที่ยังสามารถแปรญัตติร่างที่ผ่านวาระแรกได้ ใน 7 วันจากสัดส่วน ประกอบด้วย คณะรัฐมนตรี (ครม.) 5 คน พรรคการเมือง 20 คน แบ่งเป็น พรรคเพื่อไทย 6 คน พลังประชารัฐ 4 คน ภูมิใจไทย 3 คนประชาธิปัตย์ 2 คน ก้าวไกล 2 คน เศรษฐกิจไทย 1 คน ชาติไทยพัฒนา 1 คน และเสรีรวมไทย 1 คน

จากใจ "เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร"

"เท่าพิภพ" บอกกับ "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" เมื่อ ก.พ.2565 เพียงไม่กี่เดือนต่อการผลักดัน "ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า" ผ่านด่านแรกในสภาสำเร็จ

"คืนที่ผมถูกจับ ผมเคยคิดว่าสักวันหนึ่งเราก็ต้องเดินทางมาถึงวันนี้ วันที่จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงกฎหมาย แต่พอจะถึงจริงๆ ผมตื่นเต้นมากนะ สัปดาห์ก่อน ผมมองตัวเองผมก็ไม่คิดว่าจะมีวันนี้จริงๆ ต้องยอมรับว่ามันยากนะ ย้อนกลับไปวันนั้นวันที่เราเป็นแค่คนธรรมดาๆ คนหนึ่ง มันไม่ได้มั่นใจหรอกว่าจะเกิดขึ้นจริงๆ"

"ก่อนจะถึงการพิจารณากฎหมายนี้ มันมีหลายอารมณ์ มีความมุ่งมั่น มีน้ำตา มีหยาดเหงื่อ มีความเครียด แต่เมื่อมันเดินทางมาถึงจริงๆ ผมก็ดีใจมาก และมันก็จะเป็นวันที่สำคัญที่สุดในชีวิตผมวันหนึ่งเลย วันนั้นผมผิดหวัง แต่วันนี้ผมกำลังจะทำมันได้

อ่านประกอบ : "เท่าพิภพ" บนเส้นทาง "สุราก้าวหน้า" ..วันนั้นผมผิดหวัง แต่มาวันนี้ผมทำได้

พิสูจน์อักษร โดย....สุรีย์  ศิลาวงษ์

สรุป ร่าง พ.ร.บ.สุราก้าวหน้าคืออะไร ประชาชนได้ประโยชน์ส่วนใดจากกฎหมายฉบับนี้