ชป.โคราช สั่งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง หลังอ่างเก็บน้ำความจุเกิน 80%

ชป.โคราช สั่งเฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่ง หลังอ่างเก็บน้ำความจุเกิน 80%

ชลประทานโคราช เตือนอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 2 แห่ง น้ำเต็มความจุ อีก 6 แห่ง น้ำเกิน 80% เฝ้าระวังน้ำล้นตลิ่งและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

เมื่อวันที่ 24 พ.ค. 65 นายกิตกุล เสภาศีราภรณ์ ผู้อำนวยการโครงการชลประทานนครราชสีมา เปิดเผยว่า ผลกระทบจากอิทธิพลลมมรสุมได้แผ่มาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ทำให้มีลมกระโชกแรงและฝนตกหนักหลายพื้นที่ ส่งผลให้มีน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำขนาดกลางต่อเนื่อง สถานการณ์ล่าสุดที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนบน อ.ด่านขุนทด มีปริมาณน้ำ 8.50 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 101 ของพื้นที่เก็บกัก จึงมีน้ำไหลล้นอาคารระบายน้ำล้นฉุกเฉินและมีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านท่อระบายน้ำเดิม เพื่อรักษาเสถียรภาพและการบริหาร จัดการน้ำเป็นไปตามเกณฑ์ จึงได้แจ้งเตือนประชาชนในพื้นที่ลุ่มต่ำลำน้ำธรรมชาติ ต.บ้านเก่า ต.ตะเคียน ต.ด่านขุนทด ต.สระจระเข้ ต.ด่านนอก ต.ด่านใน ต.พันชนะ ต.หนองบัวตะเกียด และ ต.หนองบัวละคร อ.ด่านขุนทด เฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์รวมทั้งประกาศพยากรณ์อากาศของกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด

ขณะเดียวกันที่อ่างเก็บน้ำลำเชียงไกร ตอนล่าง อ.โนนไทย มีปริมาณน้ำ 22.890 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 82.64 ของพื้นที่เก็บกัก มีความจำเป็นต้องระบายน้ำผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย เพื่อรองรับน้ำที่ไหลจากลุ่มน้ำลำเชียงไกรตอนบนและน้ำท่าจากห้วยวังกระทะ อ.ด่านขุนทด อ.ขามทะเลสอ และบึงพุดซา ต.พลกรัง อ.เมือง กำลังไหลมาสมทบ ทำให้บริเวณพื้นที่ ต.ค้างพลู ต.กำปัง อ.โนนไทย และ ต.โคกสูง อ.เมือง น้ำในลำธรรมชาติเพิ่มสูงขึ้นและอ่างเก็บน้ำห้วยบ้านยาง ต.สุรนารี อ.เมือง มีปริมาณน้ำ 6.5 ล้าน ลบ.เมตร หรือร้อยละ 101 ของพื้นที่เก็บกัก จึงมีมวลน้ำล้นอาคารระบายน้ำและต้องระบายน้ำผ่านคลองส่งน้ำสายใหญ่ฝั่งซ้าย ทำให้ลำน้ำธรรมชาติ พื้นที่ ต.โคกกรวด ต.สุรนารี และ ต.บ้านใหม่ อ.เมือง มีน้ำเต็มตลิ่ง นอกจากนี้ยังมีอ่างเก็บน้ำขนาดกลาง 6 แห่ง มีปริมาณน้ำเกินร้อยละ 80

ทั้งนี้ สถานการณ์อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ 4 แห่ง ได้แก่ อ่างเก็บน้ำลำตะคอง อ.สีคิ้ว อ่างเก็บน้ำลำพระเพลิง อ.ปักธงชัย อ่างเก็บน้ำลำมูลบนและอ่างเก็บน้ำลำแชะ อ.ครบุรี มีปริมาณน้ำเฉลี่ย 64 % ยังเหลือพื้นที่รองรับน้ำได้อีกมาก การบริหารจัดการให้สอดคล้องและเหมาะสมรวมทั้งเป็นไปตามมติของคณะกรรมการจัดการชลประทานในแต่ละลุ่มน้ำโดยลดการส่งน้ำและให้ชาวนาใช้น้ำฝนทำนาปี