"ฝีดาษลิง" อาจทำให้ต้องกลับมาปลูกฝี? เผยสัตว์ที่เป็นพาหะไม่ใช่ลิง

"ฝีดาษลิง" อาจทำให้ต้องกลับมาปลูกฝี? เผยสัตว์ที่เป็นพาหะไม่ใช่ลิง

ประเด็นโรค "ฝีดาษลิง" หลังหลังเริ่มพบในหลายประเทศ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา พูดถึงประเด็นนี้พร้อมกับแนวโน้มที่เราอาจจะต้องกลับมา ปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบในอนาคต เผยสัตว์ที่เป็นพาหะไม่ใช่ลิง

ประเด็นโรค "ฝีดาษลิง" หลังหลังเริ่มพบในหลายประเทศ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา นักวิจัยด้านไวรัสวิทยา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ก็ได้พูดถึงประเด็นนี้เช่นกัน พร้อมกับแนวโน้มที่เราอาจจะต้องกลับมา ปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบในอนาคต 

 

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

- "ฝีดาษลิง" การติดต่อจากคนสู่คน ชี้เป็นไปได้ ควรรู้ ติดยาก-ง่ายแค่ไหน?

- "โรคฝีดาษลิง" ติดจากสัตว์สู่คนได้ เช็กข้อมูลกรมควบคุมโรค พร้อมแนะวิธีการป้องกัน

- "โรคฝีดาษลิง" น่ากลัวแค่ไหน? อาจารย์เจษฎ์ชี้สาเหตุ-อาการของโรค-วิธีรักษา

 

โรค "ฝีดาษลิง" (Monkeypox virus) ที่เป็นข่าวพบในหลายประเทศในยุโรป และ ล่าสุดอีก 13 เคสในแคนาดา โดยที่แต่ละเคสไม่ได้มีความสัมพันธ์กัน จึงเป็นไปได้ว่าไวรัสมีการแพร่กระจายในประชากรมนุษย์มาได้สักพักแล้ว และ ตอนนี้น่าจะไปอยู่ในหลายพื้นที่ จำนวนเคสคงจะมีรายงานมากขึ้น

 

ไวรัสชนิดนี้จริงๆมี 2 ชนิด แบ่งได้ตามความรุนแรง ตัวที่พบกระจายอยู่ตอนนี้เป็นสายพันธุ์รุนแรงน้อย อัตราเสียชีวิตประมาณโควิด-19 ส่วนตัวที่รุนแรงมากยังเป็นโรคประจำถิ่นในทวีปแอฟริกาซึ่งความรุนแรงจะสูงกว่าเทียบเท่ากับ SARS-CoV ตัวแรก โดยข้อมูลทางไวรัสวิทยา Monkeypox virus เป็น ตระกูลเดียวกับไวรัส smallpox ที่ก่อให้เกิดโรคไข้ทรพิษ หรือ ฝีดาษ ในอดีต ปัจจุบันไม่พบไวรัสตัวนี้ในธรรมชาติแล้ว แต่ตัวเชื้อยังมีเก็บรักษาไว้ในห้องแล็บที่มีความปลอดภัยสูงสุด เนื่องจาก smallpox เป็นเชื้อที่แพร่กระจายได้ไว แพร่ทางอากาศได้ ทำให้มีคนอนุมานต่อว่า Monkeypox จะเป็นแบบนั้นเช่นกัน ซึ่งข้อสรุปอันนี้เป็นการคาดการณ์ที่ไม่มีหลักฐานจริงยืนยัน

 

Monkeypox มีมาตั้งแต่ช่วง 1950 พบติดเชื้อในคนได้ แต่ไม่ได้เป็นปัญหาใหญ่ เพราะช่วงนั้นมีการฉีดวัคซีนป้องกันไข้ทรพิษกัน

 

 

ข้อมูลจากประเทศไนจีเรียพบว่ามีการระบาดของ Monkeypox ในปี 2017 ในประชากรมนุษย์ประมาณ 70 คน หลังจากที่ไม่เคยพบการติดเชื้อในประเทศมาหลายสิบปี ซึ่งเชื่อว่าเป็นเพราะภูมิคุ้มกันในประชากรที่ฉีดวัคซีน หรือ ปลูกฝี ป้องกันไข้ทรพิษในช่วงหลายสิบปีก่อน โดยภูมิจากวัคซีนดังกล่าวป้องกัน Monkeypox ได้เป็นอย่างดี แต่เนื่องจากวัคซีนไข้ทรพิษไม่ได้มีการฉีดกันมานานและภูมิคุ้มกันที่มีอยู่ก็ตกลง จึงเชื่อว่าน่าจะเป็นสาเหตุให้ Monkeypox สามารถกระโดดเข้ามาในประชากรมนุษย์ได้อีก ข้อมูลตอนนี้ยังไม่มาก เชื่อว่าไวรัสคงออกมาแล้วและไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหนบ้างครับ ไม่แน่เราอาจจะต้องกลับมาปลูกฝีป้องกันไข้ทรพิษกันอีกรอบ

 

 

นอกจากนี้ ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา ระบุเพิ่มเติมว่า Monkeypox พบครั้งแรกในลิงในห้อง Lab แต่สัตว์ตัวกลางในธรรมชาติคือ "หนู" จริงๆควรเรียกว่า Rodentpox มากกว่า เพราะลิงไม่ได้เป็นพาหะ

 

ขณะเดียวกัน ทีมวิจัยของโปรตุเกสเป็นกลุ่มแรกที่ทำการถอดรหัสพันธุกรรมของ Monkeypox virus ที่ไปแยกจากตัวอย่างแผลบนผิวหนังของผู้ป่วยชายตอนต้นเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา เนื่องจาก Poxvirus เป็นไวรัสที่มีขนาดใหญ่มาก รหัสพันธุกรรมแบบเต็มๆยังคงทำไม่เสร็จ แต่ข้อมูลที่ได้มาทำให้ได้ข้อมูลของไวรัสที่กำลังพบมากขึ้นในหลายประเทศพอสมควร

 

จากรหัสพันธุกรรมของไวรัสที่ได้พบว่า ไวรัสสายพันธุ์ที่ระบาดเป็นกลุ่มเดียวกับไวรัสที่ระบาดในแอฟริกาตะวันตก (West African Clade) ซึ่งมีความใกล้เคียงสูงมากกับไวรัสที่เคยพบระบาดในไนจีเรียแลัวหลุดไปประเทศอื่นๆ เช่น อังกฤษ อิสราเอล และ สิงคโปร์ ในช่วงปี 2018-2019 โดยไวรัสใน West African Clade นี้ อยู่ในกลุ่มที่มีความรุนแรงต่ำกว่าตัวอื่นที่ยังระบาดอยู่แต่ในแอฟริกา (Central African Clade) ในช่วงเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา

 

ถ้าข้อมูลของแต่ละประเทศออกมามากขึ้นจะเห็นภาพชัดครับว่า ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงอะไรหรือไม่ ที่ทำให้ปรากฏการณ์ระบาดในคนพบได้มากกว่าในอดีต

 

 

 

อ้างอิงจากเฟซบุ๊ก ดร.อนันต์ จงแก้ววัฒนา